Home พระราชบัญญัติ ต่าง พรบ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ.2546

พรบ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ.2546

อีเมล พิมพ์ PDF

พระราชบัญญัติ

สัญญาซื้อขายล่วงหน้า

พ.ศ. ๒๕๔๖

 

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

เป็นปีที่ ๕๘ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. ๒๕๔๖”

 

มาตรา ๒พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

“สินค้า” หมายความว่า หลักทรัพย์ ทองคำ น้ำมันดิบ หรือทรัพย์สินอื่นใดที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี แต่ไม่รวมถึงเงินตราสกุลใดๆ

“ตัวแปร” หมายความว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงิน อัตราดอกเบี้ย ดัชนีทางการเงิน ดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ หรือตัวแปรอื่นใดที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

“สัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า สัญญาที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งหรือหลายลักษณะดังต่อไปนี้

(๑) สัญญาที่กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งส่งมอบสินค้าให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ชำระราคา ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต เป็นจำนวนและราคาตามที่กำหนดไว้ในสัญญา

(๒) สัญญาที่กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้รับชำระเงินหรือต้องชำระเงินให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างระหว่างราคาหรือมูลค่าของสินค้าหรือตัวแปรที่กำหนดไว้ในสัญญากับราคาหรือมูลค่าของสินค้าหรือตัวแปรที่เป็นอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตตามที่กำหนดไว้ในสัญญา

(๓) สัญญาที่กำหนดให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งที่จะเรียกให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งส่งมอบสินค้าหรือชำระราคาของสินค้า หรือชำระเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างระหว่างราคาหรือมูลค่าของสินค้าหรือตัวแปรที่กำหนดไว้ในสัญญากับราคาหรือมูลค่าของสินค้าหรือตัวแปรที่เป็นอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือเรียกให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าทำสัญญาตาม (๑) หรือ (๒)

“ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความถึงการให้บริการดังต่อไปนี้

(๑) การเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๒) การเป็นผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๓) การเป็นที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๔) การเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๕) กิจการอื่นที่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

“ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า บุคคลซึ่งให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะให้บริการเพื่อทำการเป็นตัวแทนในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับบุคคลอื่น โดยกระทำเป็นทางค้าปกติและได้รับใบอนุญาตหรือได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในลักษณะตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

“ผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า บุคคลซึ่งแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะเข้าเป็นคู่สัญญาซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้แก่ผู้ซึ่งประสงค์จะซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยการเสนอเข้าหรือเข้าเป็นคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยกระทำเป็นทางค้าปกติและได้รับใบอนุญาตหรือได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งเสนอซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อตนเองที่กระทำในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ หรือผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในลักษณะตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

“ที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า บุคคลซึ่งให้คำแนะนำหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะให้คำแนะนำไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมแก่บุคคลอื่นเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือความเหมาะสมในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยกระทำเป็นทางค้าปกติและได้รับใบอนุญาตหรือได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งให้คำแนะนำอันเป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวเนื่องกับการประกอบการของตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือการให้คำแนะนำในลักษณะตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

“ผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า บุคคลซึ่งเข้าจัดการเงินทุนหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะรับจัดการเงินทุนให้แก่บุคคลอื่น เพื่อแสวงหาประโยชน์จากสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยกระทำเป็นทางค้าปกติและได้รับใบอนุญาตหรือได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในลักษณะตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

“ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า ศูนย์กลางหรือเครือข่ายใดๆ ที่จัดให้มีขึ้นเพื่อการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยการจับคู่หรือหาคู่สัญญาให้ หรือการจัดระบบหรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ซึ่งประสงค์จะซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสามารถทำความตกลงหรือจับคู่สัญญากันได้ โดยกระทำเป็นทางค้าปกติและได้รับใบอนุญาตหรือได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงศูนย์กลางหรือเครือข่ายในลักษณะตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

“สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า ศูนย์กลางหรือเครือข่ายใดๆ ในการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยกระทำเป็นทางค้าปกติ และได้รับใบอนุญาตหรือได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงศูนย์กลางหรือเครือข่ายในลักษณะตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

“ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า การเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

“ฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า ภาระหรือสิทธิของบุคคลหนึ่งบุคคลใดอันเนื่องมาจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

“ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า การปลดภาระหรือสิทธิตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีอยู่เดิมให้หมดไป โดยการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าขึ้นใหม่ที่มีผลในทางตรงกันข้าม หรือโดยวิธีการอื่นใดตามกฎเกณฑ์ของสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

“หลักทรัพย์” หมายความว่า หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

“ตลาดหลักทรัพย์” หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

“ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์” หมายความว่า ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

“สำนักหักบัญชีหลักทรัพย์” หมายความว่า สำนักหักบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

“ผู้ลงทุนสถาบัน” หมายความว่า ผู้ลงทุนที่เป็นสถาบันการเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต นิติบุคคลประเภทบรรษัท กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ตลอดจนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือผู้ลงทุนประเภทอื่นที่เป็นนิติบุคคล ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“สำนักงาน ก.ล.ต.” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

“คณะกรรมการกำกับตลาดทุน” หมายความว่า คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

“คณะกรรมการ ก.ล.ต.” หมายความว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับกับ

(๑) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่กำหนดให้มีการชำระเงินที่คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินหรืออัตราดอกเบี้ย และการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวได้กระทำนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๒) สัญญาซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีข้อตกลงว่าจะขายหรือซื้อคืนซึ่งหลักทรัพย์ดังกล่าว

(๓) สัญญาหรือการซื้อขายใดๆ ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

 

มาตรา ๕ ให้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ดำเนินการกับหรือผ่านผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นสัญญาที่ผูกพันและก่อให้เกิดหนี้ที่อาจเรียกร้องให้ชำระได้ตามกฎหมาย

 

มาตรา ๖ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน และสำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนดให้ทราบเป็นการทั่วไปเกี่ยวกับระยะเวลาในการพิจารณาและการสั่งการในการออกใบอนุญาต การรับจดทะเบียน และการให้ความเห็นชอบตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๗ บรรดาข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งหรือข้อกำหนดใดๆ ที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงาน ก.ล.ต. และมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

มาตรา ๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกประกาศและแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

ประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

หมวด ๑

การกำกับดูแลสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

 

มาตรา ๙ ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลในเรื่องสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า อำนาจหน้าที่ดังกล่าวให้รวมถึง

(๑) ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับการขออนุญาต การขอจดทะเบียน การขอความเห็นชอบ การออกใบอนุญาต การรับจดทะเบียน การให้ความเห็นชอบ หรือการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาต ที่ได้จดทะเบียน หรือที่ได้รับความเห็นชอบ

(๓) กำหนดขอบเขตและวิธีปฏิบัติในการปฏิบัติหน้าที่ของอนุกรรมการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัตินี้

(๔) กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๑๐ ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ พิทักษ์ประโยชน์ของประชาชนหรือคุ้มครองผู้ลงทุน ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าปฏิบัติได้

 

มาตรา ๑๑ ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่มอบหมายได้

คณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่งต้องประกอบด้วยประธานคนหนึ่งและอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่น้อยกว่าสี่คน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ได้รับมอบหมาย

 

มาตรา ๑๒ การประชุมของคณะอนุกรรมการต้องมีอนุกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนอนุกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

ในการประชุมของคณะอนุกรรมการ ถ้าประธานไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อนุกรรมการที่มาประชุมเลือกอนุกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก อนุกรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

 

มาตรา ๑๓ ให้อนุกรรมการได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนด

 

มาตรา ๑๔ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ ก.ล.ต. และปฏิบัติงานอื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

อำนาจหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. ตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึง

(๑) รับค่าปรับที่เป็นโทษปรับทางปกครองและค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) ออกประกาศหรือคำสั่งตามพระราชบัญญัตินี้

ค่าปรับและค่าธรรมเนียมตาม (๑) ให้ตกเป็นของสำนักงาน ก.ล.ต.

 

มาตรา ๑๕ เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของประชาชนหรือเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนให้สำนักงาน ก.ล.ต. หรือบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายจากสำนักงาน ก.ล.ต. มีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดและการลงโทษบุคคลซึ่งกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ รวมตลอดถึงข้อมูลอื่นใดที่ได้รับเนื่องจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

 

หมวด ๒

ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

 

ส่วนที่ ๑

การกำกับควบคุมธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

 

มาตรา ๑๖ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เว้นแต่การประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะเป็นบุคคลธรรมดาก็ได้ และต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๑๗ และประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเฉพาะกับผู้ลงทุนสถาบันให้จดทะเบียนกับสำนักงาน ก.ล.ต. เว้นแต่เป็นกรณีที่เป็นการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันที่เป็นกองทุนรวมตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.ตามวรรคหนึ่ง

การขออนุญาต การขอจดทะเบียน การออกใบอนุญาต และการรับจดทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

 

มาตรา ๑๗ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเฉพาะกับผู้ลงทุนสถาบันตามมาตรา ๑๖ วรรคสอง ต้องเป็นนิติบุคคลประเภทใดประเภทหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์

(๒) บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

(๓) บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ

(๔) นิติบุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

 

มาตรา ๑๘ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองลูกค้า การรักษาความมั่นคงของระบบการเงิน หรือการควบคุมความเสี่ยงอันเกิดจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าปฏิบัติได้

 

มาตรา ๑๙ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้ายื่นรายงานหรือเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามระยะเวลาหรือเป็นครั้งคราวตามที่กำหนดได้ และสำนักงาน ก.ล.ต. จะขอให้ทำคำชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความแห่งรายงานหรือเอกสารนั้นด้วยก็ได้

 

มาตรา ๒๐ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามประเภทที่ได้รับใบอนุญาตหรือได้จดทะเบียนให้ยื่นคำขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต่อสำนักงาน ก.ล.ต. หรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้วแต่กรณี

ในการอนุญาต สำนักงาน ก.ล.ต. หรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. จะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ยื่นคำขอปฏิบัติด้วยก็ได้

 

ส่วนที่ ๒

หลักเกณฑ์สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งได้รับใบอนุญาต

 

 

มาตรา ๒๑ บทบัญญัติในส่วนนี้ให้ใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๖

 

มาตรา ๒๒ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะประกอบธุรกิจอื่นใดมิได้ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.

เมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับคำขอความเห็นชอบตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอความเห็นชอบและเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วนตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามวรรคสองแล้ว หากสำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ได้แจ้งผลการพิจารณาหรือไม่มีคำสั่งเป็นประการอื่นใดไปยังผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้ถือว่าสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ให้ความเห็นชอบแก่การประกอบธุรกิจนั้นแล้ว

 

มาตรา ๒๓ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นบุคคลธรรมดาบุคคลนั้นต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(๑) เป็นบุคคลซึ่งถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือเป็นบุคคลล้มละลาย

(๒) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๓) มีประวัติเสียหายหรือดำเนินกิจการใดที่มีลักษณะที่แสดงถึงการขาดความรับผิดชอบหรือความรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนดโดยต้องคำนึงถึงระดับความร้ายแรงของพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้ามนั้น

(๔) เป็นข้าราชการหรือพนักงานในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือสถาบันการเงิน

(๕) เป็นบุคคลซึ่งขาดคุณวุฒิทางการศึกษา ประสบการณ์ในการทำงานหรือคุณสมบัติอื่นตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

 

มาตรา ๒๔ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นนิติบุคคลการแต่งตั้งหรือยอมให้บุคคลใดเป็นหรือทำหน้าที่กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๓

ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าบุคคลซึ่งทำหน้าที่กรรมการ ผู้จัดการหรือผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๓ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าระงับการทำหน้าที่ของบุคคลดังกล่าว และดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องหรือสำนักงาน ก.ล.ต. จะเพิกถอนความเห็นชอบที่ให้ไว้แล้วก็ได้

ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับกับบุคคลซึ่งผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทำสัญญาให้มีอำนาจทั้งหมดหรือบางส่วนในการบริหารงานของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้น รวมทั้งผู้ซึ่งปฏิบัติงานให้แก่บุคคลนั้นด้วยโดยอนุโลม

 

มาตรา ๒๕ บุคคลใดจะถือหุ้นหรือรับประโยชน์จากหุ้นเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.

การให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง จะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลนั้นหรือกรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๓ (๓) หรือลักษณะต้องห้ามอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่า บุคคลซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคสอง ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจเพิกถอนความเห็นชอบที่ให้ไว้ เว้นแต่ลักษณะต้องห้ามดังกล่าวได้เกิดขึ้นจากการประกาศกำหนดของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในภายหลัง ในกรณีนี้ให้บุคคลนั้นปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด และหากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจเพิกถอนความเห็นชอบที่ให้ไว้

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้รับประโยชน์จากหุ้น หมายถึง ผู้ซึ่งมีอำนาจโดยทางตรงหรือทางอ้อมในลักษณะดังต่อไปนี้

(๑) อำนาจกำหนดหรือควบคุมการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในกิจการของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๒) อำนาจกำหนดหรือควบคุมการได้มา จำหน่าย หรือก่อภาระผูกพันในหุ้นที่ออกโดยผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ

(๓) อำนาจกำหนดหรือควบคุมในลักษณะอื่นใดตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด ทั้งนี้ ไม่ว่าอำนาจดังกล่าวจะเกิดขึ้นจากข้อตกลง ความเข้าใจ ความสัมพันธ์ในด้านใดด้านหนึ่งหรือโดยประการอื่นใด และไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากการได้มาหรือการถือหุ้นโดยตนเองหรือโดยบุคคลอื่น

 

มาตรา ๒๖ ในกรณีที่บุคคลใดถือหุ้นของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเกินร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ตามมาตรา ๒๕ ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจ่ายเงินปันผลหรือผลประโยชน์อื่นใด สำหรับจำนวนหุ้นในส่วนที่เกินร้อยละสิบให้แก่บุคคลนั้น หรือยอมให้บุคคลนั้นออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นสำหรับจำนวนหุ้นในส่วนที่เกินร้อยละสิบ

 

มาตรา ๒๗ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจัดทำบัญชีแสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริงให้เป็นปัจจุบันโดยต้องถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่กฎหมายกำหนด และข้อกำหนดเพิ่มเติมที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

มาตรา ๒๘ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจัดทำงบการเงินส่งสำนักงาน ก.ล.ต. และจัดให้มีการเปิดเผยงบการเงินเพื่อให้ประชาชนตรวจดูได้ ณ ที่ทำการของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้น พร้อมทั้งลงประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันแห่งท้องถิ่นอย่างน้อยหนึ่งฉบับ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

งบการเงินตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดทำตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนด และได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

มาตรา ๒๙ ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีตามมาตรา ๒๘ ตรวจพบว่าผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทำเอกสารประกอบการลงบัญชีหรือเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือไม่ครบถ้วน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๗ ให้ผู้สอบบัญชีเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือความเห็นดังกล่าวพร้อมทั้งผลกระทบที่เป็นสาระสำคัญต่องบการเงินไว้ในรายงานการสอบบัญชีที่ตนจะต้องลงลายมือชื่อ

 

มาตรา ๓๐ ผู้สอบบัญชีตามมาตรา ๒๘ ต้องเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบ และมิใช่ผู้ถือหุ้น ผู้รับประโยชน์จากหุ้นตามมาตรา ๒๕ วรรคสี่ กรรมการ พนักงาน หรือลูกจ้างของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้น และต้องรักษามรรยาทและปฏิบัติงานสอบบัญชีให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชีและข้อกำหนดเพิ่มเติมตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

การให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

 

ส่วนที่ ๓

การปฏิบัติต่อทรัพย์สินของลูกค้า

 

 

มาตรา ๓๑ บทบัญญัติในส่วนนี้ให้ใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๖ และในกรณีที่เป็นการสมควรที่จะใช้บังคับบทบัญญัติในส่วนนี้กับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทอื่นเพิ่มเติม ให้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนเป็นผู้ประกาศกำหนด

 

มาตรา ๓๒ ในส่วนนี้

(๑) “ลูกค้า” หมายความว่า บุคคลซึ่งใช้บริการจากผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๒) “ทรัพย์สินของลูกค้า” หมายความว่า

(ก) ทรัพย์สินที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้รับมาหรือมีไว้เพื่อเป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ลูกค้านั้นได้ซื้อขายไว้

(ข) กำไรหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของลูกค้าอันเนื่องมาจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้า

(ค) ใบรับของคลังสินค้า ใบตราส่งหรือตราสารอื่นที่แสดงสิทธิในทรัพย์สินที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าถือไว้เพื่อลูกค้า เพื่อประโยชน์ในการส่งมอบหรือเนื่องมาจากการรับมอบสินค้าตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้ารายนั้น

(ง) เงิน หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้รับจากลูกค้าเพื่อชำระราคาสินค้าที่จะรับมอบตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้ารายนั้นหรือที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้รับไว้เพื่อลูกค้าอันเนื่องมาจากการส่งมอบสินค้าตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้ารายนั้น

(จ) เงินที่เหลือจากการขายหลักทรัพย์ของลูกค้าที่โอนไว้ในชื่อของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเนื่องจากลูกค้าผิดนัดชำระหนี้ตามมาตรา ๓๖

(ฉ) ทรัพย์สินอื่นที่มีสภาพคล่องตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

 

มาตรา ๓๓ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องจัดเก็บทรัพย์สินของลูกค้าแยกออกจากทรัพย์สินของตน และต้องจัดทำบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าแต่ละรายแยกออกจากบัญชีทรัพย์สินของตน รวมทั้งเก็บรักษาบัญชีดังกล่าว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ทดรองจ่ายทรัพย์สินของตนเพื่อเป็นประกันหรือชำระหนี้ที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแทนลูกค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจัดทำและเก็บรักษาบัญชีทดรองจ่ายของตนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

ให้สันนิษฐานว่ารายการและจำนวนทรัพย์สินในบัญชีตามวรรคหนึ่งและวรรคสองถูกต้อง เว้นแต่จะพิสูจน์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น

 

มาตรา ๓๔ ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้านำทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้เพื่อการอื่นใด เว้นแต่เป็นการนำไปใช้ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) ทรัพย์สินของลูกค้ารายใดต้องนำไปใช้เพื่อการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือเพื่อการอื่นใดที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้ารายนั้น

(๒) ในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกค้าเป็นเงิน ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอาจนำไปใช้เพื่อการอื่นนอกจาก (๑) เพื่อแสวงหาประโยชน์อื่นใดได้แต่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด และในกรณีที่เกิดดอกผลหรือประโยชน์ใดๆ จะให้ตกแก่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือลูกค้า หรือจะนำมาแบ่งปันกันประการใด ให้เป็นไปตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน

 

มาตรา ๓๕ ในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกค้าเป็นหลักทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอาจขอให้ลูกค้าโอนหลักทรัพย์ดังกล่าวไว้ในชื่อของตนเพื่อประโยชน์ของลูกค้าก็ได้

เมื่อผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องโอนหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่งคืนให้แก่ลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอาจใช้หลักทรัพย์ที่ออกโดยนิติบุคคลเดียวกันหรือโครงการจัดการกองทุนรวมเดียวกัน ประเภท รุ่น และชนิดเดียวกัน ในจำนวนที่เทียบเท่ากันคืนแทนกันได้

ในการส่งคืนหลักทรัพย์ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบดอกผลหรือประโยชน์ใดๆ อันเกิดแต่หลักทรัพย์นั้นด้วย เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

ให้นำความในวรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับกับการคืนหลักทรัพย์ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้านำหลักทรัพย์ไปฝากไว้กับบุคคลอื่นโดยอนุโลม

 

มาตรา ๓๖ ในกรณีที่ลูกค้าผิดนัดชำระหนี้อันเนื่องมาจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแจ้งให้ลูกค้าปฏิบัติการชำระหนี้ดังกล่าวภายในระยะเวลาอันควร หากลูกค้าไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอาจนำหลักทรัพย์ของลูกค้าที่โอนไว้ในชื่อของตนเพื่อประโยชน์ของลูกค้าออกขายในตลาดที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์นั้นเป็นปกติได้ หากไม่สามารถขายในตลาดนั้นได้ ให้นำออกขายโดยวิธีการอื่นที่สามารถทำให้ได้ราคาที่เป็นธรรมแก่ลูกค้า

เงินที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ให้นำมาใช้เพื่อการชำระหนี้ตามวรรคหนึ่งและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการขายหลักทรัพย์นั้นและหากยังมีเงินเหลือให้นำไปรวมไว้ในบัญชีทรัพย์สินของลูกค้า

 

มาตรา ๓๗ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกค้าไว้เพื่อพิจารณาหรือศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและสำนักงาน ก.ล.ต. ทราบโดยไม่ชักช้า และให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าที่คงค้างอยู่ ณ วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการหรือมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามที่กำหนดไว้ในกฎเกณฑ์ของสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๒) บังคับชำระหนี้เอากับทรัพย์สินของลูกค้าไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเก็บรักษาโดยผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเอง หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้นำไปวางหรือฝากไว้กับบุคคลอื่น สำหรับหนี้ที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ทำก่อนหรือในวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการหรือวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หรือหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าตาม (๑)

ในการนำทรัพย์สินของลูกค้าออกขายเพื่อการชำระหนี้ หากทรัพย์สินนั้นเป็นหลักทรัพย์ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าขายในตลาดที่ซื้อขายหลักทรัพย์นั้นเป็นปกติ หากไม่สามารถขายในตลาดนั้นได้ ให้นำออกขายโดยวิธีการอื่นที่สามารถทำให้ได้ราคาที่เป็นธรรมแก่ลูกค้า

(๓) นำหนี้ที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าที่ทำขึ้นก่อนหรือในวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการหรือมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าตาม (๑) มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นหนี้ลูกค้าอยู่ในเวลาที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการหรือมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่ามูลแห่งหนี้ทั้งสองฝ่ายจะไม่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน หรือเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์

ในกรณีที่หนี้ที่ลูกค้ามีอยู่ต่อผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นหนี้ที่อยู่ในเงื่อนไขบังคับก่อน เมื่อผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าขอหักกลบลบหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะต้องให้ประกันสำหรับจำนวนที่ขอหักกลบลบหนี้นั้นแก่บุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการทรัพย์สินของลูกค้าตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

 

มาตรา ๓๘ เมื่อผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ดำเนินการตามมาตรา ๓๗ แล้ว หากยังมีทรัพย์สินของลูกค้าเหลืออยู่ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่บุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการทรัพย์สินของลูกค้าตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

 

มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกค้ารายใด มิให้นำความในมาตรา ๙๐/๔๐ วรรคสอง มาตรา ๙๐/๔๑ มาตรา ๑๑๔ และมาตรา ๑๑๕ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับแก่การชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า การรับมาหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินเพื่อเป็นประกันการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือการล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้ารายนั้น เว้นแต่ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารู้ว่าลูกค้ากระทำการหรือยินยอมให้กระทำการดังกล่าวเพื่อมิให้เจ้าหนี้อื่นของลูกค้าได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน หรือเป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามิได้กระทำการดังกล่าวตามประเพณีธุรกิจ

 

มาตรา ๔๐ ในการดำเนินการตามมาตรา ๓๗ หากทรัพย์สินของลูกค้ามีไม่เพียงพอกับหนี้ที่ลูกค้ามีอยู่กับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการหรือในคดีล้มละลายของลูกค้าสำหรับหนี้ที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้ ทั้งนี้ ต้องยื่นขอรับชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๐/๒๖ หรือมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ แล้วแต่กรณี

 

ส่วนที่ ๔

การคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้า

 

 

มาตรา ๔๑ บทบัญญัติในส่วนนี้ให้ใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๖ และในกรณีที่เป็นการสมควรที่จะใช้บังคับบทบัญญัติในส่วนนี้กับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทอื่นเพิ่มเติม ให้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนเป็นผู้ประกาศกำหนด

 

มาตรา ๔๒ ในส่วนนี้

(๑) “ลูกค้า” หมายความว่า

(ก) บุคคลซึ่งใช้บริการจากผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและมีฐานะสุทธิเป็นเจ้าหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอันเนื่องมาจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้น หรือ

(ข) บุคคลอื่นนอกจากบุคคลตาม (ก) ซึ่งมีฐานะสุทธิเป็นเจ้าหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอันเนื่องมาจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าการล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือการปรับฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่บุคคลตาม (ก) ผูกพันอยู่

(๒) “ทรัพย์สินที่ถือว่าเป็นของลูกค้า” หมายความถึงทรัพย์สินดังต่อไปนี้เว้นแต่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนจะประกาศกำหนดเป็นอย่างอื่น

(ก) ทรัพย์สินของลูกค้าตามมาตรา ๓๒ (๒) รวมทั้งดอกผลหรือประโยชน์ใดๆ ที่เกิดจากทรัพย์สินในส่วนที่เป็นของลูกค้า

(ข) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าที่ยังคงค้างอยู่

(ค) ทรัพย์สินที่จัดเก็บแยกไว้ต่างหากจากทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามมาตรา ๓๓

(ง) ทรัพย์สินที่ลูกค้าวางต่อผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทั้งนี้ เฉพาะจำนวนที่เกินกว่าหนี้กู้ยืมเงินดังกล่าวที่ลูกค้ามีต่อผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(จ) หลักทรัพย์หรือตราสารทางการเงินอื่นใดที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าถือไว้ในลักษณะเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นหลักทรัพย์หรือตราสารทางการเงินที่ออกโดยนิติบุคคลเดียวกันหรือโครงการจัดการกองทุนรวมเดียวกัน ประเภท รุ่น และชนิดเดียวกันกับหลักทรัพย์หรือตราสารทางการเงินของลูกค้า ทั้งนี้ ในจำนวนที่จำเป็นเพื่อการส่งคืนหลักทรัพย์หรือตราสารทางการเงินประเภท รุ่น และชนิดเดียวกันนั้นแก่ลูกค้าตามสิทธิเรียกร้องที่ลูกค้ามีต่อผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(ฉ) ทรัพย์สินอื่นตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

 

มาตรา ๔๓ เมื่อผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ให้ทรัพย์สินที่ถือว่าเป็นของลูกค้าได้รับการคุ้มครองโดยไม่ถือเป็นทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การยึดหรืออายัดในคดีแพ่งหรือเป็นทรัพย์สินที่อาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ในคดีล้มละลาย

ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการแยกและจัดการทรัพย์สินที่ถือว่าเป็นของลูกค้ารวมทั้งมีอำนาจดำเนินการดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดโดยได้ปรึกษาหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้ว

(๑) รวบรวมทรัพย์สินที่ถือว่าเป็นของลูกค้าและจัดสรรทรัพย์สินที่ถือว่าเป็นของลูกค้าคืนให้แก่ลูกค้า

(๒) โอนบัญชีและทรัพย์สินที่ถือว่าเป็นของลูกค้าไปให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารายอื่น

(๓) ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าในกรณีที่ไม่สามารถโอนให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารายอื่นได้

(๔) ประนีประนอมยอมความ ฟ้องร้อง ต่อสู้คดีหรือดำเนินการอื่นใดเพื่อให้การจัดการทรัพย์สินที่ถือว่าเป็นของลูกค้าเสร็จสิ้นไป

ในการดำเนินการตามวรรคสอง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และสำนักงาน ก.ล.ต. จะมอบอำนาจให้บุคคลใดดำเนินการแทนก็ได้

 

มาตรา ๔๔ ในการจัดการทรัพย์สินที่ถือว่าเป็นของลูกค้าตามมาตรา ๔๓ ให้ลูกค้าซึ่งไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในลักษณะตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด มีสิทธิได้รับจัดสรรทรัพย์สินคืนก่อน

 

มาตรา ๔๕ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์และได้มีการจัดการทรัพย์สินที่ถือว่าเป็นของลูกค้าตามมาตรา ๔๓ แล้ว หากลูกค้าได้รับทรัพย์สินคืนไม่ครบจำนวน ให้ลูกค้ามีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ในคดีล้มละลายของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ ทั้งนี้ ต้องยื่นขอรับชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓

 

มาตรา ๔๖ เมื่อผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าถูกทางการหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลตามกฎหมายอื่นสั่งระงับการดำเนินกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแจ้งให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบโดยไม่ชักช้า

เมื่อเกิดกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้ทรัพย์สินที่ถือว่าเป็นของลูกค้าได้รับการคุ้มครองโดยไม่ถือเป็นทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การห้ามจำหน่าย จ่าย หรือโอน ตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายที่ให้ระงับการดำเนินกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด

 

ส่วนที่ ๕

การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ

 

 

มาตรา ๔๗ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองลูกค้าและเพื่อให้การระงับข้อพิพาทเป็นไปโดยรวดเร็วและเป็นธรรม ลูกค้าอาจขอให้มีการระงับข้อพิพาททางแพ่งที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยอนุญาโตตุลาการซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. จัดให้มีขึ้นได้ โดยมีหนังสือแจ้งความประสงค์ไปยังผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และเมื่อผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้รับหนังสือแล้ว ให้ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้ตกลงทำสัญญาอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น

ข้อพิพาทที่จะเสนอให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาตามวรรคหนึ่งนั้น ต้องมีจำนวนทุนทรัพย์ไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

 

มาตรา ๔๘ ให้นำกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้บังคับกับการระงับข้อพิพาทตามมาตรา ๔๗ โดยอนุโลม

 

ส่วนที่ ๖

มาตรการคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้าและระบบการชำระหนี้

ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

 

มาตรา ๔๙ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องดำรงฐานะทางการเงินตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

 

มาตรา ๕๐ เมื่อปรากฏหลักฐานต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ว่าผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดไม่สามารถดำรงฐานะทางการเงินได้ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดตามมาตรา ๔๙ หรือมีการดำเนินงานที่มีลักษณะอันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของลูกค้าหรือระบบการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินหรือการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๑) งดการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เว้นแต่การซื้อขายเพื่อล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๒) โอนฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและทรัพย์สินของลูกค้าไปให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารายอื่นดำเนินการแทน

(๓) ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าในกรณีที่ไม่สามารถโอนให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารายอื่นได้

(๔) ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีไว้เพื่อประโยชน์ของตนเอง

(๕) กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใดๆ ตามที่เห็นสมควร

ในกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์ตามวรรคหนึ่ง และมีความจำเป็นรีบด่วนที่ต้องป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหรือเป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและมีอำนาจดำเนินการตาม (๒) (๓) หรือ (๔) ได้

 

มาตรา ๕๑ ในกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีคำสั่งระงับการดำเนินกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามมาตรา ๕๐ วรรคสอง แล้ว สำนักงาน ก.ล.ต. อาจมอบหมายให้สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดเป็นผู้ดำเนินการตามมาตรา ๕๐ (๒) (๓) หรือ (๔) แทนได้

 

มาตรา ๕๒ การดำเนินการของสำนักงาน ก.ล.ต. ตามมาตรา ๕๐ หรือสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามมาตรา ๕๑ ให้มีผลผูกพันผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเสมือนหนึ่งผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นได้ดำเนินการดังกล่าวเอง และในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นให้จ่ายจากทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้น

 

มาตรา ๕๓ การดำเนินการตามมาตรา ๕๐ (๒) (๓) (๔) และ (๕) หรือมาตรา ๕๑ โดยชอบ ให้ถือว่ามีผลผูกพันตามกฎหมาย และไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๑๑๓ มาตรา ๑๑๔ และมาตรา ๑๑๕ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ และมาตรา ๒๓๗ มาตรา ๓๔๙ และมาตรา ๓๕๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ในกรณีที่การดำเนินการดังกล่าวเป็นการโอนฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือทรัพย์สินของลูกค้าไปให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารายอื่นดำเนินการแทน ในกรณีนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกค้าที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา ๓๐๘ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

หมวด ๓

ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

 

ส่วนที่ ๑

การกำกับควบคุมศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

 

มาตรา ๕๔ ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดและได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เปิดให้เฉพาะผู้ลงทุนสถาบันซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อตนเองต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดและจดทะเบียนกับสำนักงาน ก.ล.ต.

การขออนุญาต การขอจดทะเบียน การออกใบอนุญาต และการรับจดทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

 

มาตรา ๕๕ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ลงทุน การรักษาความมั่นคงของระบบการเงิน หรือการควบคุมความเสี่ยงอันเกิดจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าปฏิบัติได้

 

ส่วนที่ ๒

หลักเกณฑ์สำหรับศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

 

มาตรา ๕๖ บทบัญญัติในส่วนนี้ เว้นแต่มาตรา ๗๐ มิให้ใช้บังคับกับศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามมาตรา ๕๔ วรรคสอง

 

มาตรา ๕๗ ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้อง

(๑) มีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอสำหรับรองรับการประกอบกิจการและความเสี่ยงในด้านต่างๆ ที่อาจเกิดจากการประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๒) มีระบบการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ดำเนินการโดยศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเองหรือโดยบุคคลอื่น

(๓) มีมาตรการเพื่อส่งเสริมและรักษามาตรฐานในเรื่องความมั่นคง ความน่าเชื่อถือ ตลอดจนความเป็นธรรมในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๔) มีระบบการบันทึกและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอราคาและการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ

(๕) มีมาตรการรองรับเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินที่อาจมีผลกระทบต่อการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๖) มีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพเกี่ยวกับข้อร้องเรียนหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือเกิดจากการใช้บริการที่จัดโดยศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๗) มีหลักเกณฑ์ในการรับสมาชิก โดยการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและสถานภาพของผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิก และ

(๘) มีกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับกับสมาชิกและต้องมีมาตรการกำกับดูแลให้สมาชิกและผู้ปฏิบัติงานให้กับสมาชิกปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

มาตรา ๕๘ ให้ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจัดให้สมาชิกผูกพันตนว่าจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และยอมรับที่จะให้ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าลงโทษทางวินัยหากตนฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ดังกล่าว

กฎเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง ต้องมีระบบที่ให้ความเป็นธรรมแก่สมาชิก รวมทั้งมีระบบการพิจารณาการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษสมาชิกโดยคณะกรรมการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

หลักเกณฑ์ตามวรรคสอง ให้กำหนดคุณสมบัติของกรรมการ วิธีการยื่นอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ด้วย

 

มาตรา ๕๙ ในกรณีที่บุคคลใดถือหุ้นในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นทั้งหมดของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ห้ามมิให้ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจ่ายเงินปันผลหรือผลประโยชน์อื่นใด สำหรับจำนวนหุ้นในส่วนที่เกินร้อยละห้าให้แก่บุคคลนั้น หรือยอมให้บุคคลนั้นออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นสำหรับจำนวนหุ้นในส่วนที่เกินร้อยละห้า เว้นแต่คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะผ่อนผันในเรื่องการถือหุ้นเป็นประการอื่น

 

มาตรา ๖๐ กรรมการของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอย่างน้อยสองในห้าของจำนวนกรรมการต้องเป็นบุคคลซึ่งสามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อดูแลผลประโยชน์ของสมาชิก ผู้ลงทุน หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในอัตราส่วนที่เหมาะสมตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

 

มาตรา ๖๑ นอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว กรรมการของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(๑) มีประวัติเสียหายหรือดำเนินกิจการใดที่มีลักษณะที่แสดงถึงการขาดความรับผิดชอบหรือความรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

(๒) เป็นข้าราชการการเมือง

(๓) เป็นข้าราชการหรือพนักงานในหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือสถาบันการเงิน

 

มาตรา ๖๒ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามที่กฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดกำหนดแล้ว กรรมการศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๖๑

(๒) คณะกรรมการ ก.ล.ต. สั่งถอดถอนออกจากตำแหน่ง เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่บกพร่องอย่างร้ายแรงหรือกระทำผิดต่อหน้าที่ของตนโดยทุจริต

 

มาตรา ๖๓ กฎเกณฑ์ของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้มีผลใช้บังคับเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ในกรณีที่กฎเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหรือประโยชน์ได้เสียของสมาชิก ผู้ลงทุน หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลดังกล่าว และจัดส่งรายงานการรับฟังความคิดเห็นนั้นให้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนเพื่อประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบ

การให้ความเห็นชอบกฎเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งและการรับฟังความคิดเห็นตามวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการบริหารงานภายในองค์กรของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือกฎเกณฑ์อื่นใดตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

 

มาตรา ๖๔ เมื่อศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้เสนอกฎเกณฑ์เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุนแล้ว ให้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นทราบภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับกฎเกณฑ์และเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วนตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

คณะกรรมการกำกับตลาดทุนจะไม่ให้ความเห็นชอบกฎเกณฑ์ของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้

(๑) กฎเกณฑ์นั้นไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๗ หรือไม่เพียงพอที่จะทำให้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๗ บรรลุผล หรือ

(๒) กฎเกณฑ์นั้นไม่เป็นธรรมต่อสมาชิก ผู้ลงทุน หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งแล้ว หากคณะกรรมการกำกับตลาดทุนไม่ได้แจ้งผลการพิจารณาหรือไม่ได้แจ้งให้มีการแก้ไขกฎเกณฑ์ดังกล่าวไปยังศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้ถือว่ากฎเกณฑ์นั้นได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

 

มาตรา ๖๕ ในกรณีที่ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ให้คณะกรรมการก.ล.ต. มีอำนาจสั่งให้ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากำหนดกฎเกณฑ์เพิ่มเติม หรือยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้ว ตลอดจนมีอำนาจสั่งให้ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดำเนินการใดๆ ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นสมควรได้

 

มาตรา ๖๖ ในกรณีที่มีความจำเป็น ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะออกกฎเกณฑ์เพื่อใช้บังคับเป็นการชั่วคราวได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา ๖๓ ในการนี้ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

ในกรณีที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนเห็นว่าศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดำเนินการตามวรรคหนึ่งโดยไม่สุจริต ไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีอำนาจสั่งให้ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ายกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ดังกล่าว ตลอดจนดำเนินการใดๆ ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนเห็นสมควรได้

 

มาตรา ๖๗ การจัดให้มีการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดจะกระทำได้ต่อเมื่อศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ยื่นแบบและข้อความของสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นให้สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบในสาระสำคัญแล้ว

เมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับคำขอความเห็นชอบแบบและข้อความของสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นแล้ว ให้สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นทราบภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วนตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ขยายระยะเวลาออกไปได้อีกไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว

ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอาจขอยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบและข้อความของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้รับความเห็นชอบตามวรรคหนึ่งได้ ทั้งนี้ ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๖๘ ในกรณีที่ปรากฏในภายหลังว่าแบบและข้อความของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรา ๖๗ ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจยกเลิกความเห็นชอบที่ให้ไว้แล้วได้

 

มาตรา ๖๙ ในการให้ความเห็นชอบหรือยกเลิกการให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๖๗ และมาตรา ๖๘ หากสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นสัญญาที่มีสินค้าเป็นหลักทรัพย์ประเภทพันธบัตรหรือตั๋วเงินคลัง หรือเป็นสัญญาที่กำหนดให้มีการชำระเงินที่คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินหรืออัตราดอกเบี้ย ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ปรึกษาหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน

 

มาตรา ๗๐ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของระบบการเงิน เศรษฐกิจของประเทศ หรือดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของระบบการซื้อขายและการชำระหนี้ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีอำนาจสั่งให้ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) สั่งงดการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เว้นแต่การซื้อขายเพื่อล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๒) สั่งล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๓) สั่งจำกัดช่วงราคาการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๔) สั่งแก้ไขหรือพักการบังคับใช้กฎเกณฑ์ใดๆ ของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นการชั่วคราว

(๕) กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใดๆ ตามที่เห็นสมควร

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจำเป็นต้องแก้ไขหรือกำหนดกฎเกณฑ์เพิ่มเติม ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไม่ต้องเสนอกฎเกณฑ์ให้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๖๓ และให้ถือว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุนแล้ว

ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันเนื่องมาจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งกำหนดให้ชำระเงินที่คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน อันอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบการเงินเศรษฐกิจของประเทศ หรือเสถียรภาพของระบบการซื้อขายและการชำระหนี้ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะแจ้งให้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการตามวรรคหนึ่งก็ได้

 

มาตรา ๗๑ เมื่อศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้มีคำสั่งลงโทษทางวินัยสมาชิกของตนแล้ว ให้แจ้งคำสั่งและส่งเอกสารหลักฐานการลงโทษดังกล่าวให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบโดยไม่ชักช้า

 

มาตรา ๗๒ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งเป็นสมาชิกของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากำหนด และการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนหรือสำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนดในเรื่องเดียวกัน และศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ดำเนินการลงโทษทางวินัยสมาชิกซึ่งฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของตนแล้ว คณะกรรมการกำกับตลาดทุนหรือสำนักงาน ก.ล.ต. จะไม่ลงโทษทางปกครองสมาชิกของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นอีกก็ได้ หากเห็นว่าสมาชิกดังกล่าวได้รับโทษอย่างเหมาะสมแล้ว

 

มาตรา ๗๓ เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของประชาชนหรือคุ้มครองผู้ลงทุนให้ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาชิกของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดและการลงโทษสมาชิกของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวมตลอดถึงข้อมูลอื่นใดที่ได้รับเนื่องจากการประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

ในกรณีที่บุคคลใดเห็นว่าข้อมูลที่ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเปิดเผยยังไม่เพียงพอ ให้บุคคลดังกล่าวเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการกำกับตลาดทุนเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ให้ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมได้

 

มาตรา ๗๔ ให้นำความในมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ มาใช้บังคับกับศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยอนุโลม

ให้นำความในมาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ มาใช้บังคับกับผู้สอบบัญชีของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยอนุโลม

 

หมวด ๔

สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

 

ส่วนที่ ๑

การกำกับควบคุมสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

 

มาตรา ๗๕ สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดและได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เปิดให้เฉพาะผู้ลงทุนสถาบันใช้บริการในการชำระหนี้เพื่อตนเองต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดและจดทะเบียนกับสำนักงาน ก.ล.ต.

การขออนุญาต การขอจดทะเบียน การออกใบอนุญาต และการรับจดทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

 

มาตรา ๗๖ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ลงทุน การรักษาความมั่นคงของระบบการเงิน หรือการควบคุมความเสี่ยงอันเกิดจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าปฏิบัติได้

 

ส่วนที่ ๒

หลักเกณฑ์สำหรับสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

 

มาตรา ๗๗ บทบัญญัติในส่วนนี้ เว้นแต่มาตรา ๗๙ มิให้ใช้บังคับกับสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามมาตรา ๗๕ วรรคสอง

 

มาตรา ๗๘ สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้อง

(๑) มีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอสำหรับรองรับการประกอบกิจการและความเสี่ยงในด้านต่างๆ ที่อาจเกิดจากการประกอบการเป็นสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๒) มีระบบการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สามารถให้ความมั่นใจว่าจะมีการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวมทั้งต้องมีกระบวนการจัดการที่ชัดเจนสำหรับกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๓) มีมาตรการรองรับเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินที่อาจมีผลกระทบต่อการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๔) มีหลักเกณฑ์ในการรับสมาชิกโดยการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและฐานะทางการเงินของผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิก

(๕) มีกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับกับสมาชิกและต้องมีมาตรการกำกับดูแลให้สมาชิกปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ดังกล่าว และ

(๖) มีระบบกำกับตรวจสอบฐานะทางการเงินและฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสมาชิก

 

มาตรา ๗๙ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของระบบการเงิน เศรษฐกิจของประเทศ หรือดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของระบบการซื้อขายและการชำระหนี้ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีอำนาจสั่งให้สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) สั่งให้สมาชิกเพิ่มหลักประกันสำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๒) เปลี่ยนแปลงระดับสูงสุดของฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สมาชิกหรือลูกค้าของสมาชิกอาจมีได้

(๓) ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๔) กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใดๆ ตามที่เห็นสมควร

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจำเป็นต้องแก้ไขหรือกำหนดกฎเกณฑ์เพิ่มเติม สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไม่ต้องเสนอกฎเกณฑ์ให้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๖๓ ซึ่งมาตรา ๘๙ ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ถือว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบคณะกรรมการกำกับตลาดทุนแล้ว

ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันเนื่องมาจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งกำหนดให้ชำระเงินที่คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน อันอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบการเงิน เศรษฐกิจของประเทศ หรือเสถียรภาพของระบบการซื้อขายและการชำระหนี้ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะแจ้งให้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการตามวรรคหนึ่งก็ได้

 

มาตรา ๘๐ การเข้าผูกพันหรือแทนที่เป็นคู่สัญญาโดยสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า การวางหลักประกัน การชำระหนี้ การล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและการโอนฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนให้มีผลผูกพันและใช้บังคับได้ตามกฎหมาย

 

มาตรา ๘๑ ในกรณีที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเข้าผูกพันหรือแทนที่เป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีความผูกพันตามสิทธิและหน้าที่ที่เกิดขึ้นตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ตนให้บริการในการชำระหนี้เฉพาะกับสมาชิกของตนเท่านั้น ไม่ว่าสมาชิกดังกล่าวจะดำเนินการเพื่อตนเองหรือเพื่อบุคคลอื่น

 

มาตรา ๘๒ ในกรณีที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้รับมาหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินจากสมาชิกทั้งที่เป็นของสมาชิกและของลูกค้าเพื่อเป็นประกันการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทั้งของสมาชิกและของลูกค้า หรือทรัพย์สินที่สมาชิกนำมาวางไว้กับสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อความมั่นคงของระบบการซื้อขายและการชำระหนี้ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจัดเก็บทรัพย์สินนั้นแยกออกจากทรัพย์สินของตนและต้องจัดทำและเก็บรักษาบัญชีทรัพย์สินที่ได้รับมาหรือมีไว้เพื่อสมาชิกแต่ละรายข้างต้นแยกออกจากบัญชีทรัพย์สินของตน

ในการจัดทำและเก็บรักษาบัญชีทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งนั้น หากมีทรัพย์สินของลูกค้าของสมาชิกอยู่ด้วย ให้สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจัดทำและเก็บรักษาบัญชีทรัพย์สินดังกล่าวแยกต่างหากจากบัญชีทรัพย์สินของสมาชิกด้วย

ประเภทของทรัพย์สินที่นำมาวางเป็นประกันในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสมาชิกและของลูกค้า การจัดเก็บทรัพย์สิน การจัดทำและเก็บรักษาบัญชีทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

ให้สันนิษฐานว่ารายการและจำนวนทรัพย์สินในบัญชีตามวรรคหนึ่งและวรรคสองถูกต้อง เว้นแต่จะพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าเป็นอย่างอื่น

 

มาตรา ๘๓ ห้ามมิให้สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้านำทรัพย์สินที่ได้รับมาหรือมีไว้ตามมาตรา ๘๒ ไปใช้เพื่อการอื่นใด เว้นแต่

(๑) กรณีที่ทรัพย์สินนั้นเป็นของลูกค้าของสมาชิกรายใดหรือทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าของสมาชิกรายใด ให้ใช้เฉพาะเพื่อการวางประกันหรือการชำระหนี้ที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าของสมาชิกรายนั้น หรือการเบิกถอนเพื่อคืนแก่ลูกค้าของสมาชิกรายนั้น

(๒) กรณีที่ทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินของสมาชิกรายใดหรือทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสมาชิกรายใด ให้ใช้ได้เฉพาะเพื่อการวางประกันหรือการชำระหนี้ที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสมาชิกหรือของลูกค้าของสมาชิกรายนั้น

(๓) กรณีที่ทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่สมาชิกนำมาวางไว้กับสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อความมั่นคงของระบบการซื้อขายและการชำระหนี้ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้ได้เฉพาะเพื่อการวางประกันหรือการชำระหนี้ที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสมาชิกหรือลูกค้าของสมาชิก ทั้งนี้ ตามกฎเกณฑ์ที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากำหนด

ให้นำความในมาตรา ๓๔ (๒) มาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๖ มาใช้บังคับกับทรัพย์สินที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้รับมาหรือมีไว้โดยอนุโลม

 

มาตรา ๘๔ เมื่อสมาชิกถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและสำนักงาน ก.ล.ต. ทราบโดยไม่ชักช้า และให้สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สมาชิกทำเพื่อประโยชน์ของตนเองที่คงค้างอยู่ ณ วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามที่กำหนดไว้ในกฎเกณฑ์ของสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๒) บังคับชำระหนี้เอากับทรัพย์สินในส่วนของสมาชิกที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้รับมาหรือมีไว้ตามมาตรา ๘๒ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเก็บรักษาโดยสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเองหรือสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้นำไปวางหรือฝากไว้กับบุคคลอื่น สำหรับหนี้ที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ทำก่อนหรือในวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หรือหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสมาชิกตาม (๑) หรือหนี้ที่สมาชิกต้องรับผิดชอบต่อสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกิดขึ้นเนื่องจากการล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าตามมาตรา ๔๓

ในการนำทรัพย์สินของสมาชิกออกขายเพื่อการชำระหนี้ หากทรัพย์สินนั้นเป็นหลักทรัพย์ ให้สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าขายในตลาดที่ซื้อขายหลักทรัพย์นั้นเป็นปกติ หากไม่สามารถขายในตลาดนั้นได้    ให้นำออกขายโดยวิธีการอื่นที่สามารถทำให้ได้ราคาที่เป็นธรรมแก่สมาชิก

(๓) นำหนี้ที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สมาชิกเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระหนี้ต่อสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้ทำก่อนหรือในวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หรือหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสมาชิกตาม (๑) หรือหนี้ที่สมาชิกต้องรับผิดชอบต่อสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกิดขึ้นเนื่องจากการล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าตามมาตรา ๔๓ มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นหนี้สมาชิกอยู่ในเวลาที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่ามูลแห่งหนี้ทั้งสองฝ่ายจะไม่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันหรือเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา หรือสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์

ในกรณีหนี้ที่สมาชิกมีอยู่ต่อสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นหนี้ที่อยู่ในเงื่อนไขบังคับก่อน เมื่อสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าขอหักกลบลบหนี้ สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะต้องให้ประกันสำหรับจำนวนที่ขอหักกลบลบหนี้นั้นแก่บุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการทรัพย์สินของสมาชิกตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

 

มาตรา ๘๕ เมื่อสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ดำเนินการตามมาตรา ๘๔ แล้ว หากยังมีทรัพย์สินของสมาชิกเหลืออยู่ ให้สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่บุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการทรัพย์สินของสมาชิกตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

 

มาตรา ๘๖ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์สมาชิกรายใด มิให้นำความในมาตรา ๑๑๔ และมาตรา ๑๑๕ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาใช้บังคับแก่การชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า การได้รับมาหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินเพื่อเป็นประกันการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือการล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสมาชิกรายนั้น เว้นแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะพิสูจน์ได้ว่าสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารู้ว่าสมาชิกกระทำการหรือยินยอมให้กระทำการดังกล่าวเพื่อมิให้เจ้าหนี้อื่นของสมาชิกได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน หรือเป็นกรณีที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามิได้กระทำการดังกล่าวตามประเพณีธุรกิจ

 

มาตรา ๘๗ ในการดำเนินการตามมาตรา ๘๔ หากทรัพย์สินของสมาชิกที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้รับมาหรือมีไว้ตามมาตรา ๘๒ ในส่วนที่เป็นของสมาชิกมีไม่เพียงพอกับหนี้ที่สมาชิกมีต่อสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีสิทธิขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายของสมาชิกสำหรับหนี้ที่ยังไม่ได้รับชำระ ทั้งนี้ ต้องยื่นขอรับชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓

 

มาตรา ๘๘ เมื่อสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หรือตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือถูกทางการหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลสั่งระงับการดำเนินกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองทรัพย์สินของสมาชิกและลูกค้าของสมาชิกหรือระบบการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้นำความในมาตรา ๔๓ มาตรา ๔๕ และมาตรา ๔๖ มาใช้บังคับแก่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและทรัพย์สินที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้รับมาหรือมีไว้ตามมาตรา ๘๒ โดยอนุโลม

 

มาตรา ๘๙ ให้นำความในมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๖๑ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๗๓ มาใช้บังคับกับสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยอนุโลม

ให้นำความในมาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ มาใช้บังคับกับผู้สอบบัญชีของสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยอนุโลม

ในกรณีที่บทบัญญัติตามวรรคหนึ่งอ้างถึงมาตรา ๕๗ ให้ถือว่าบทบัญญัตินั้นอ้างถึงมาตรา ๗๘ และหากสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นบริษัทจำกัด ให้ถือว่ามาตรา ๖๑ และมาตรา ๖๒ อ้างถึงบทบัญญัติในลักษณะ ๒๒ หุ้นส่วนและบริษัท แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

หมวด ๕

สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

 

มาตรา ๙๐ เพื่อประโยชน์ในการกำกับควบคุมผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจให้ความเห็นชอบให้สมาคมที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานดังต่อไปนี้ เป็นสมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้

(๑) มีหลักเกณฑ์ในการเลือกกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากสมาชิกทุกประเภทในสัดส่วนที่เหมาะสม

(๒) มีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพเกี่ยวกับข้อร้องเรียนจากลูกค้าของสมาชิก หรือระบบระงับข้อพิพาทระหว่างสมาชิกหรือระหว่างสมาชิกกับลูกค้าของสมาชิกอันเนื่องมาจากการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๓) มีมาตรการกำกับดูแลให้สมาชิกปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสมาคมและจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๔) หลักเกณฑ์อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

การขอความเห็นชอบและการให้ความเห็นชอบ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

 

มาตรา ๙๑ ให้นำความในมาตรา ๗๑ มาตรา ๗๒ และมาตรา ๗๓ มาใช้บังคับกับสมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยอนุโลม

 

หมวด ๖

การกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

 

ส่วนที่ ๑

การกระทำอันไม่เป็นธรรมที่มีผลกระทบต่อราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

 

มาตรา ๙๒ ห้ามมิให้บุคคลใดไม่ว่าโดยตนเองหรือร่วมกับบุคคลอื่นซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือเสนอที่จะซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซื้อหรือขายหรือเสนอที่จะซื้อหรือขายสินค้า หรือกระทำการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวแปร

(๑) เพื่อรักษาระดับราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้ไม่ตรงต่อสภาพปกติของตลาด หรือเพื่อทำให้ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสูงขึ้นหรือต่ำลงอันไม่ตรงต่อสภาพปกติของตลาด หรือ

(๒) อันมีผลหรือน่าจะมีผลเป็นการรักษาระดับราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้ไม่ตรงต่อสภาพปกติของตลาด หรือทำให้หรือน่าจะทำให้ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสูงขึ้นหรือต่ำลงอันไม่ตรงต่อสภาพปกติของตลาด เว้นแต่เป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อปกป้องประโยชน์อันชอบธรรมของตน

 

มาตรา ๙๓ การกระทำหรือพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นการกระทำการร่วมกันตามมาตรา ๙๒

(๑) เปิดบัญชีธนาคารร่วมกันเพื่อการชำระหรือรับชำระเงินที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือซื้อหรือขายสินค้า

(๒) ส่งคำสั่งซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือซื้อหรือขายสินค้าแทนกัน

(๓) นำสินค้าของตนมาส่งมอบตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแทนกัน

(๔) ชำระหรือรับชำระค่าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือซื้อหรือขายสินค้าแทนกัน

(๕) นำเงินหรือทรัพย์สินอื่นมาวางเป็นประกันในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือซื้อหรือขายสินค้าแทนกัน

(๖) ยอมให้บุคคลใดใช้ประโยชน์จากบัญชีธนาคารของตนเพื่อการชำระหรือรับชำระเงินที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือซื้อหรือขายสินค้า

(๗) ยอมให้บุคคลใดรับประโยชน์หรือรับผิดชอบในการชำระเงินที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือซื้อหรือขายสินค้าของตน

 

มาตรา ๙๔ ห้ามมิให้บุคคลใดเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไม่ว่าเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น ทำการกักตุน ทุ่มตลาด ควบคุมหรือกระทำการใดๆ ต่อสินค้าของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดที่ได้รับความเห็นชอบให้ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า อันเป็นผลให้สินค้าที่สามารถใช้ส่งมอบตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

มาตรา ๙๕ ห้ามมิให้บุคคลใดบอกกล่าว แพร่ข้อความ หรือให้คำรับรองอันเป็นเท็จหรืออาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญที่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินค้าหรือตัวแปร และในขณะบอกกล่าว แพร่ข้อความ หรือให้คำรับรองนั้น ผู้กระทำรู้หรือควรรู้ว่าคำบอกกล่าว ข้อความ หรือคำรับรองนั้นเป็นเท็จหรืออาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญ และการกระทำดังกล่าว

(๑) ทำให้หรือน่าจะทำให้บุคคลอื่นซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ

(๒) ทำให้หรือน่าจะทำให้ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสูงขึ้นหรือต่ำลง หรือมีผลหรือน่าจะมีผลเป็นการรักษาระดับราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

มาตรา ๙๖ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการคาดการณ์เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินค้า หรือตัวแปร โดยบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่ใช้ในการคาดการณ์ หรือนำข้อมูลที่รู้ว่าเป็นเท็จมาใช้ในการคาดการณ์หรือละเลยที่จะพิจารณาความเป็นจริงของข้อมูล และการกระทำดังกล่าว

(๑) ทำให้หรือน่าจะทำให้บุคคลอื่นซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ

(๒) ทำให้หรือน่าจะทำให้ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสูงขึ้นหรือต่ำลง หรือมีผลหรือน่าจะมีผลเป็นการรักษาระดับราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

มาตรา ๙๗ ห้ามมิให้บุคคลใดแพร่ข้อความซึ่งแสดงว่าราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดที่มีการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะหรือน่าจะสูงขึ้นหรือต่ำลง หรือมีผลหรือน่าจะมีผลเป็นการรักษาระดับราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เนื่องจากมีการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือการกระทำอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้น ในลักษณะที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๒ มาตรา ๙๕ หรือมาตรา ๙๖ โดยบุคคลดังกล่าว

(๑) เป็นผู้ทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือกระทำการอื่นใดตามมาตรา ๙๒ มาตรา ๙๕ หรือมาตรา ๙๖ หรือ

(๒) ได้รับหรือจะได้รับค่าตอบแทนหรือประโยชน์ใดๆ เกี่ยวเนื่องกับการแพร่ข้อความนั้น

 

มาตรา ๙๘ บุคคลใดกระทำความผิดตามมาตรา ๙๒ หรือมาตรา ๙๔ นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร และการกระทำของผู้เป็นตัวการ ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้น แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักรให้ถือว่าตัวการ ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร ทั้งนี้ ให้นำมาตรา ๑๐ แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

ส่วนที่ ๒

การกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายใน

 

 

มาตรา ๙๙ ห้ามมิให้กรรมการ อนุกรรมการ ผู้แทนนิติบุคคล ตัวแทน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาหรือผู้ปฏิบัติงานของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ สำนักหักบัญชีหลักทรัพย์ หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการกำกับดูแลสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สินค้าหรือตัวแปร ซึ่งรู้ข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญซึ่งตนได้รู้มาในฐานะเช่นนั้นและยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชน กระทำการดังต่อไปนี้

(๑) ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือเสนอที่จะซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือซื้อหรือขายหรือเสนอที่จะซื้อหรือขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญดังกล่าว เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่น หรือ

(๒) เปิดเผยข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญดังกล่าวแก่บุคคลอื่น โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าบุคคลนั้นอาจใช้ประโยชน์จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือซื้อหรือขายสินค้า

ข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือราคาสินค้าหรือระดับตัวเลขของตัวแปรหรือต่อการตัดสินใจในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือซื้อหรือขายสินค้าของผู้ลงทุน

 

มาตรา ๑๐๐ ห้ามมิให้บุคคลใดซึ่งรู้ข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญ อันเนื่องมาจากการเปิดเผยตามมาตรา ๙๙ โดยรู้หรือควรรู้ว่าข้อเท็จจริงนั้นได้รับการเปิดเผยจากบุคคลซึ่งมีฐานะตามมาตรา ๙๙ และข้อเท็จจริงนั้นยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชน กระทำการดังต่อไปนี้

(๑) ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือเสนอที่จะซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือซื้อหรือขายหรือเสนอที่จะซื้อหรือขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญนั้น เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่น หรือ

(๒) เปิดเผยข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญดังกล่าวแก่บุคคลอื่น โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าบุคคลนั้นอาจใช้ประโยชน์จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือซื้อหรือขายสินค้า

 

หมวด ๗

การกำกับและควบคุม

 

 

มาตรา ๑๐๑ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับและควบคุมโดยทั่วไป เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๑๐๒ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงาน ก.ล.ต. ชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือทำรายงานเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในการกำกับดูแลของคณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงาน ก.ล.ต. ตามพระราชบัญญัตินี้ด้วยก็ได้

 

หมวด ๘

พนักงานเจ้าหน้าที่

 

 

มาตรา ๑๐๓ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) เข้าไปในสถานที่ของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสถานที่ที่รวบรวมหรือประมวลข้อมูลของบุคคลดังกล่าว ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น เพื่อตรวจสอบกิจการ สินทรัพย์และหนี้สินของบุคคลดังกล่าว รวมทั้งเก็บรวบรวมเอกสารหลักฐานหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

(๒) เข้าไปในธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น เพื่อทำการตรวจสอบสมุดบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานที่อาจเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบหรือการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

(๓) ค้นสถานที่ใดๆ ที่มีเหตุควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น

(๔) อายัดเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือดำเนินคดีซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

(๕) สั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า บุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่รวบรวมหรือประมวลข้อมูลของบุคคลดังกล่าว รวมทั้งกรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง และผู้สอบบัญชีมาให้ถ้อยคำหรือส่งหรือแสดงสมุดบัญชี เอกสาร ดวงตราหรือหลักฐานอื่นเกี่ยวกับกิจการ การดำเนินงาน สินทรัพย์ และหนี้สินของบุคคลข้างต้น

(๖) สั่งให้บุคคลใดๆ ซึ่งซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือเสนอที่จะซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับหรือผ่านผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือสมาชิกของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า มาให้ถ้อยคำหรือส่งหรือแสดงสมุดบัญชี เอกสารและหลักฐานอื่นเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือการเสนอที่จะซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๗) สั่งให้บุคคลใดๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่มาให้ถ้อยคำ หรือส่งหรือแสดงสมุดบัญชี เอกสาร หลักฐาน หรือวัตถุที่เกี่ยวข้องหรือจำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่

เมื่อได้เข้าไปและลงมือทำการตรวจสอบตาม (๑) หรือ (๒) หรือทำการค้นตาม (๓) แล้ว ถ้ายังดำเนินการไม่เสร็จจะกระทำต่อไปในเวลากลางคืนหรือนอกเวลาทำการของสถานที่นั้นก็ได้

ในการปฏิบัติหน้าที่ตาม (๑) หรือ (๒) พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการข่มขู่หรือเป็นการค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและในกรณีตาม (๓) ต้องมีหมายค้น เว้นแต่มีเหตุอันควรเชื่อว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ เอกสารหรือหลักฐานดังกล่าวจะถูกยักย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ให้ดำเนินการค้น ยึด หรืออายัดเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นแต่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการค้นและจะเริ่มการค้นในเวลากลางคืนมิได้ เว้นแต่เป็นเวลาทำการของสถานที่นั้น

การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง จะต้องเป็นการกระทำต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องที่ดำเนินการตรวจสอบ และสำหรับการดำเนินการตาม (๒) (๓) (๕) (๖) หรือ (๗) ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อน รวมทั้งต้องกำหนดระยะเวลาอันสมควรที่จะให้บุคคลดังกล่าวสามารถปฏิบัติตามคำสั่งที่สั่งตาม (๕) (๖) หรือ (๗) ได้

 

มาตรา ๑๐๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

 

มาตรา ๑๐๕ เมื่อหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือกฎหมายอื่นในทำนองเดียวกันของต่างประเทศร้องขอ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจให้ความช่วยเหลือในการรวบรวมหรือตรวจสอบข้อมูลหรือพยานหลักฐานที่จำเป็นเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือกฎหมายอื่นในทำนองเดียวกันของประเทศผู้ร้องขอ ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือในกรณีดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(๑) การให้ความช่วยเหลือนั้นต้องไม่ขัดต่อประโยชน์สาธารณชนหรือการรักษาความลับของประเทศ

(๒) การกระทำซึ่งเป็นมูลกรณีของความช่วยเหลือนั้นเข้าลักษณะประเภทความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

(๓) หน่วยงานต่างประเทศที่ร้องขอความช่วยเหลือตกลงหรือยินยอมที่จะให้ความช่วยเหลือในทำนองเดียวกันเป็นการตอบแทนหากได้รับคำร้องขอจากสำนักงาน ก.ล.ต.

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้นำความในมาตรา ๑๐๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๑๐๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวแก่บุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

 

มาตรา ๑๐๗ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

 

มาตรา ๑๐๘ ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีลักษณะอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ประชาชน และสำนักงาน ก.ล.ต. มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้กระทำความผิดจะยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของตน หรือที่ตนครอบครองอยู่ ให้สำนักงาน ก.ล.ต.ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลนั้นหรือที่บุคคลนั้นครอบครองอยู่หรือทรัพย์สินที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเป็นของบุคคลนั้นได้ แต่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันไม่ได้เว้นแต่ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาล ให้คำสั่งยึดหรืออายัดดังกล่าวยังคงมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น และในกรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถฟ้องคดีได้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอขยายระยะเวลาออกไปอีกได้ แต่จะขอขยายระยะเวลาอีกเกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันไม่ได้

วิธีการยึดและอายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้ดำเนินการ

การยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงจำนวนเงินที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพและเลี้ยงดูครอบครัวของบุคคลที่ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินด้วย

 

มาตรา ๑๐๙ ในกรณีทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ตามมาตรา ๑๐๘ เป็นของเสียง่าย หรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะสูงเกินส่วนกับค่าแห่งทรัพย์สินนั้น หรือค่าแห่งทรัพย์สินนั้นจะลดน้อยลงหากเก็บไว้นาน สำนักงาน ก.ล.ต. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากสำนักงาน ก.ล.ต. จะดำเนินการขายทอดตลาดหรือจัดการตามควรแก่กรณีตามวิธีการที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดก็ได้ ทั้งนี้ ต้องแจ้งให้เจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวทราบเพื่อเข้าสู้ราคาด้วย

เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือการจัดการทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา การจำหน่าย และค่าภาระที่เกี่ยวข้อง เหลือเงินจำนวนสุทธิเท่าใดให้ยึดเงินนั้นไว้แทน

 

มาตรา ๑๑๐ ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีลักษณะอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ประชาชนและสำนักงาน ก.ล.ต. มีเหตุอันควรเชื่อว่าบุคคลดังกล่าวจะหลบหนีออกนอกราชอาณาจักร ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งห้ามมิให้บุคคลนั้นออกนอกราชอาณาจักรได้และในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีคำสั่งห้ามมิให้บุคคลนั้นออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้เป็นเวลาไม่เกินสิบห้าวัน

 

หมวด ๙

บทกำหนดโทษและอายุความ

 

 

ส่วนที่ ๑

โทษทางปกครอง

 

 

มาตรา ๑๑๑ โทษทางปกครอง มีดังต่อไปนี้

(๑) ภาคทัณฑ์

(๒) ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน

(๓) ปรับทางปกครอง

(๔) จำกัดการประกอบการ

(๕) พักการประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต ที่ได้จดทะเบียน หรือที่ได้รับความเห็นชอบ ภายในระยะเวลาที่กำหนด

(๖) เพิกถอนใบอนุญาต การจดทะเบียน หรือการให้ความเห็นชอบ

 

มาตรา ๑๑๒ บุคคลดังต่อไปนี้มีอำนาจลงโทษทางปกครอง

(๑) สำนักงาน ก.ล.ต. สำหรับโทษทางปกครองตามมาตรา ๑๑๑ (๑) หรือ (๒)

(๒) คณะกรรมการพิจารณาโทษทางปกครอง สำหรับโทษทางปกครองตามมาตรา ๑๑๑ (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)

(๓) คณะกรรมการ ก.ล.ต. สำหรับโทษทางปกครองตามมาตรา ๑๑๑ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖)

ในการสั่งลงโทษทางปกครองตามมาตรา ๑๑๑ ผู้มีอำนาจลงโทษจะลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้ และมีอำนาจสั่งให้ผู้ถูกลงโทษกระทำการหรืองดเว้นกระทำการเพื่อแก้ไขหรือป้องกันมิให้เกิดการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์ คำสั่ง หรือเงื่อนไขที่กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ซ้ำอีกได้

 

มาตรา ๑๑๓ ในการลงโทษปรับทางปกครองจำนวนค่าปรับทางปกครองต้องไม่เกินสองล้านบาทในแต่ละกรรม

กรณีผู้ถูกลงโทษปรับทางปกครองตามวรรคหนึ่งไม่ยอมชำระค่าปรับทางปกครองให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๑๑๔ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือคำสั่งหรือเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๖ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๘ หรือมาตรา ๔๖ วรรคหนึ่ง ต้องรับโทษทางปกครองตามมาตรา ๑๑๑

 

มาตรา ๑๑๕ ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือคำสั่งหรือเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๑๐ มาตรา ๕๕ มาตรา ๕๘ มาตรา ๖๕ มาตรา ๖๖ มาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๓ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๒๒ ซึ่งมาตรา ๗๔ ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา ๕๙ มาตรา ๖๐ มาตรา ๖๓ หรือมาตรา ๗๑ ต้องรับโทษทางปกครองตามมาตรา ๑๑๑

 

มาตรา ๑๑๖ สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือคำสั่งหรือเงื่อนไขตามมาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๖๕ มาตรา ๖๖ หรือมาตรา ๗๓ ซึ่งมาตรา ๘๙ ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม หรือมาตรา ๗๖ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๖๓ ซึ่งมาตรา ๘๙ ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมหรือมาตรา ๔๖ วรรคหนึ่ง ซึ่งมาตรา ๘๘ ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา ๗๙ มาตรา ๘๒ มาตรา ๘๓ หรือมาตรา ๘๕ ต้องรับโทษทางปกครองตามมาตรา ๑๑๑

 

มาตรา ๑๑๗ สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๑ ซึ่งมาตรา ๙๑ ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๗๓ ซึ่งมาตรา ๙๑ ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม ต้องรับโทษทางปกครองตามมาตรา ๑๑๑

 

มาตรา ๑๑๘ ผู้ใดไม่ชำระค่าธรรมเนียมหรือชำระค่าธรรมเนียมไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดในมาตรา ๙ (๒) ต้องรับโทษทางปกครองตามมาตรา ๑๑๑

 

มาตรา ๑๑๙ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๑๔ มาตรา ๑๑๕ มาตรา ๑๑๖ หรือมาตรา ๑๑๗ เป็นนิติบุคคล กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษทางปกครองตามมาตรา ๑๑๑ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

 

มาตรา ๑๒๐ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่มีโทษทางปกครอง และให้มีอำนาจพิจารณาในเบื้องต้นเพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ในกรณีที่เห็นว่าประเภทของโทษทางปกครองที่ผู้ถูกกล่าวหาควรจะได้รับอยู่ในอำนาจของสำนักงาน ก.ล.ต. ให้สำนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้พิจารณาโทษในเรื่องนั้น

(๒) ในกรณีที่เห็นว่าประเภทของโทษทางปกครองที่ผู้ถูกกล่าวหาควรจะได้รับอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาโทษทางปกครองหรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. ให้สำนักงาน ก.ล.ต. เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการพิจารณาโทษทางปกครองหรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้วแต่กรณี เป็นผู้พิจารณาโทษในเรื่องนั้น

 

มาตรา ๑๒๑ ในการสั่งลงโทษทางปกครองตามมาตรา ๑๑๑ ผู้มีอำนาจสั่งลงโทษต้องคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำ ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำนั้น ตลอดจนความหนักเบาของโทษที่จะใช้กับผู้ถูกลงโทษ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

 

มาตรา ๑๒๒ ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองการพิจารณาและการมีคำสั่งลงโทษทางปกครอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

 

มาตรา ๑๒๓ ให้มีคณะกรรมการพิจารณาโทษทางปกครองคณะหนึ่งหรือหลายคณะ โดยในแต่ละคณะให้ประกอบด้วยบุคคลซึ่งคณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่งตั้งจำนวนไม่เกินห้าคน

คุณสมบัติและวิธีการแต่งตั้งกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

 

มาตรา ๑๒๔ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษของสำนักงาน ก.ล.ต. หรือคณะกรรมการพิจารณาโทษทางปกครองต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

การพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการปฏิบัติตามคำสั่งลงโทษทางปกครองของสำนักงาน ก.ล.ต. หรือคณะกรรมการพิจารณาโทษทางปกครอง

 

ส่วนที่ ๒

โทษอาญา

 

 

มาตรา ๑๒๕ ผู้ใดประกอบกิจการในลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้จดทะเบียนตามมาตรา ๑๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน

 

มาตรา ๑๒๖ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดที่ได้รับอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๒๐ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน

กรณีผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามวรรคหนึ่ง เป็นบุคคลธรรมดาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน

 

มาตรา ๑๒๗ ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๒๐ วรรคสอง ซึ่งมาตรา ๗๔ ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน

 

มาตรา ๑๒๘ สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๒๐ วรรคสอง ซึ่งมาตรา ๘๙ ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน

 

มาตรา ๑๒๙ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน

 

มาตรา ๑๓๐ ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ ซึ่งมาตรา ๗๔ ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน

 

มาตรา ๑๓๑ สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ ซึ่งมาตรา ๘๙ ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน

 

มาตรา ๑๓๒ ผู้ใดประกอบกิจการในลักษณะเป็นศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ได้จดทะเบียนตามมาตรา ๕๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน

 

มาตรา ๑๓๓ ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน

 

มาตรา ๑๓๔ ผู้ใดประกอบกิจการในลักษณะเป็นสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ได้จดทะเบียนตามมาตรา ๗๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน

 

มาตรา ๑๓๕ ในกรณีผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๒๖ มาตรา ๑๒๗ มาตรา ๑๒๘ มาตรา ๑๒๙ มาตรา ๑๓๐ มาตรา ๑๓๑ มาตรา ๑๓๓ หรือมาตรา ๑๓๘ เป็นนิติบุคคล กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

 

มาตรา ๑๓๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๒ มาตรา ๙๔ มาตรา ๙๕ มาตรา ๙๖ หรือมาตรา ๙๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือไม่เกินสองเท่าของผลประโยชน์ที่บุคคลนั้นๆ ได้รับหรือพึงได้รับเพราะกระทำการฝ่าฝืนดังกล่าวแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามมาตรา ๙๒ ไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง

 

มาตรา ๑๓๗ ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๙ รือมาตรา ๑๐๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือไม่เกินสองเท่าของผลประโยชน์ที่บุคคลนั้นๆ ได้รับหรือพึงได้รับเพราะกระทำการฝ่าฝืนดังกล่าว แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๓๘ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งลงโทษทางปกครองตามมาตรา ๑๑๑ (๔) หรือ (๕) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน

 

มาตรา ๑๓๙ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๐๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๔๐ ผู้ใดถอดถอน ทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งตราหรือเครื่องหมายซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประทับหรือหมายไว้ที่สิ่งใดๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๐๓ เพื่อเป็นหลักฐานในการยึด อายัด หรือรักษาสิ่งนั้นๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๔๑ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินหรือเอกสารใดๆ อันพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ยึด อายัด รักษาไว้ หรือสั่งให้ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐานตามมาตรา ๑๐๓ ไม่ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะรักษาทรัพย์สินหรือเอกสารนั้นไว้เอง หรือสั่งให้ผู้นั้นหรือผู้อื่นส่งหรือรักษาไว้ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๔๒ ผู้ใดให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในการตรวจสอบหรือการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๔๓ ผู้สอบบัญชีผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๙ หรือมาตรา ๓๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน

 

มาตรา ๑๔๔ คำว่า “ลูกค้า” ในมาตรา ๑๔๕ มาตรา ๑๔๖ มาตรา ๑๔๗ และมาตรา ๑๔๘ ให้หมายความดังต่อไปนี้

(๑) กรณีที่นิติบุคคลตามมาตราดังกล่าวเป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้หมายความถึงลูกค้าซึ่งได้รับบริการด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจากผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๒) กรณีที่นิติบุคคลตามมาตราดังกล่าวเป็นนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งรับจัดการเงินทุนให้กับกองทุนรวมตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้หมายความรวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ที่จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมดังกล่าวด้วย

(๓) กรณีที่นิติบุคคลตามมาตราดังกล่าวเป็นสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้หมายความถึงสมาชิกของสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้รับบริการด้านการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

มาตรา ๑๔๕ กรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน ตัวแทน หรือบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใด กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) โดยทุจริต หลอกลวงลูกค้าของนิติบุคคลนั้นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรบอกให้แจ้งเกี่ยวกับกิจการที่นิติบุคคลนั้นมีหน้าที่กระทำการเพื่อประโยชน์ของลูกค้าของนิติบุคคลนั้น และการกระทำดังกล่าวทำให้ได้ไป ซึ่งทรัพย์สินของลูกค้าของนิติบุคคลนั้น หรือทำให้ลูกค้าของนิติบุคคลนั้น ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ หรือ

(๒) ครอบครองทรัพย์สินของลูกค้าของนิติบุคคลนั้นซึ่งนิติบุคคลนั้นได้รับไว้เนื่องจากการประกอบกิจการตามพระราชบัญญัตินี้ เบียดบังเอาทรัพย์สินนั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต หรือ

(๓) กระทำการหรือไม่กระทำการโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าวโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่ลูกค้าของนิติบุคคลนั้น หรือ

(๔) กระทำการผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของลูกค้าของนิติบุคคลนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๔๖ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา กระทำการตามมาตรา ๑๔๕ (๑) (๓) หรือ (๔) ต่อลูกค้าของตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๔๗ กรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน ตัวแทน หรือบุคคล ซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใด เอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินที่นิติบุคคลนั้นมีหน้าที่ดูแลหรือที่อยู่ในความครอบครองของนิติบุคคลนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้าของนิติบุคคลนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๔๘ กรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน ตัวแทน หรือบุคคล ซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใด กระทำหรือยินยอมให้กระทำการดังต่อไปนี้ เพื่อลวงให้ลูกค้าของนิติบุคคลนั้นขาดประโยชน์อันควรได้

(๑) ทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชีหรือเอกสารของนิติบุคคลนั้น หรือที่นิติบุคคลนั้นจัดทำขึ้นตามหน้าที่ในการประกอบกิจการตามพระราชบัญญัตินี้ หรือ

(๒) ลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของนิติบุคคลนั้น หรือที่นิติบุคคลนั้นจัดทำขึ้นตามหน้าที่ในการประกอบกิจการตามพระราชบัญญัตินี้ หรือ

(๓) ทำบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบันหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริงต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๔๙ ผู้ใดก่อให้กรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน ตัวแทน ผู้สอบบัญชี หรือบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า กระทำความผิดตามที่บัญญัติในมาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๕ มาตรา ๑๔๖ มาตรา ๑๔๗ หรือมาตรา ๑๔๘ ไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ

 

มาตรา ๑๕๐ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน ตัวแทน ผู้สอบบัญชีหรือบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากระทำความผิดตามที่บัญญัติในมาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๕ มาตรา ๑๔๖ มาตรา ๑๔๗ หรือมาตรา ๑๔๘ ไม่ว่าก่อนหรือขณะกระทำความผิด ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ แต่ถ้าผู้กระทำความผิดมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามของโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ

 

มาตรา ๑๕๑ ในการสอบบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ไม่ว่าการสอบบัญชีนั้นจะกระทำในฐานะเป็นผู้สอบบัญชีของนิติบุคคลดังกล่าว หรือในฐานะอื่นซึ่งนิติบุคคลดังกล่าวยินยอมให้สอบบัญชีก็ตาม ถ้าผู้สอบบัญชีพบพฤติการณ์อันควรสงสัยว่ากรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน ตัวแทน หรือบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานให้แก่นิติบุคคลดังกล่าวได้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๔๕ มาตรา ๑๔๗ หรือมาตรา ๑๔๘ ให้ผู้สอบบัญชีแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำความผิดที่พบให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบ

ผู้สอบบัญชีผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๕๒ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจจ่ายเงินสินบนไม่เกินร้อยละสามสิบของเงินค่าปรับที่ผู้กระทำความผิดได้ชำระต่อศาลให้แก่ผู้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามมาตรา ๙๒ มาตรา ๙๔ มาตรา ๙๙ และมาตรา ๑๐๐ ทั้งนี้ ตามความสำคัญของข้อมูล ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

คำสั่งของสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ถือเป็นที่สุด

 

มาตรา ๑๕๓ ผู้ใดล่วงรู้กิจการของบุคคลใดเนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือล่วงรู้ข้อมูลใดจากการเปิดเผยของบุคคลที่มีอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ อันเป็นกิจการหรือข้อมูลที่เป็นความลับของทางราชการหรือตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ถ้าผู้นั้นนำไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความในวรรคหนึ่ง มิให้นำมาใช้บังคับแก่การเปิดเผยในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) การเปิดเผยตามอำนาจหรือหน้าที่

(๒) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนหรือการพิจารณาคดี

(๓) การเปิดเผยเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

(๔) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๕) การเปิดเผยแก่ผู้สอบบัญชีของบุคคลซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(๖) การเปิดเผยแก่ทางการหรือหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สินค้า ตัวแปร หรือสถาบันการเงิน

(๗) การเปิดเผยแก่ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ หรือสำนักหักบัญชีหลักทรัพย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สินค้า หรือตัวแปร

(๘) การเปิดเผยเมื่อได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร

 

ส่วนที่ ๓

อายุความและคณะกรรมการเปรียบเทียบความผิด

 

 

มาตรา ๑๕๔ ความผิดตามหมวดนี้ที่มีโทษทางปกครองหรือที่มีโทษปรับสถานเดียว หากมิได้มีการลงโทษทางปกครอง หรือมิได้ฟ้องคดีต่อศาล หรือมิได้มีการเปรียบเทียบโดยคณะกรรมการเปรียบเทียบความผิดตามมาตรา ๑๕๕ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่วินิจฉัยว่ามีการกระทำความผิด หรือภายในห้าปีนับแต่วันที่มีการกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

 

มาตรา ๑๕๕ ความผิดตามมาตรา ๑๒๖ มาตรา ๑๒๗ มาตรา ๑๒๘ มาตรา ๑๒๙ มาตรา ๑๓๐ มาตรา ๑๓๑ มาตรา ๑๓๓ มาตรา ๑๓๕ มาตรา ๑๓๘ มาตรา ๑๓๙ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๔๒ มาตรา ๑๔๓ และมาตรา ๑๕๑ วรรคสอง ซึ่งไม่มีผลเสียหายร้ายแรงต่อลูกค้า ประชาชน ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือระบบการเงินของประเทศ ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบความผิดซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มีอำนาจเปรียบเทียบได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบความผิดได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการเปรียบเทียบความผิดกำหนดแล้ว ให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในกรณีแห่งความผิดนั้นเป็นอันระงับไป

 

หมวด ๑๐

บทเฉพาะกาล

 

 

มาตรา ๑๕๖ ให้บุคคลซึ่งประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ยื่นขออนุญาตหรือขอจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นขออนุญาตหรือขอจดทะเบียนแล้ว ให้บุคคลนั้นประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต่อไปได้จนกว่าจะมีคำสั่งไม่อนุญาตหรือไม่รับจดทะเบียน

ในการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามวรรคหนึ่ง ผู้ยื่นคำขอต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้สำหรับธุรกิจนั้นๆ โดยอนุโลม

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

รองนายกรัฐมนตรี

 

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากตลาดการเงินของประเทศไทยเชื่อมโยงกับตลาดการเงินของโลก ความผันผวนในอัตราและเปลี่ยนเงิน อัตราดอกเบี้ย หรือดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ในตลาดการเงินของโลกซึ่งเกิดอยู่เสมออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการลงทุนของประเทศไทย และทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุนเผชิญกับความเสี่ยงว่าการลงทุนของตนจะได้ผลประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ ในปัจจุบันจึงได้มีการเริ่มใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงิน อัตราดอกเบี้ย และดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ตลอดจนสินค้าหรือตัวแปรอื่น แต่สถานภาพของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวยังไม่มีกฎหมายรองรับ แนวทางการจัดการเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงยังไม่ชัดเจน และทำให้การลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไม่ได้ประสิทธิภาพสูงสุดตามที่ควรจะเป็น ดังนั้น เพื่อให้แนวทางการจัดการเรื่องนี้เป็นไปอย่างชัดเจนอันจะเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุน และทำให้รัฐสามารถกำกับดูแลการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

 

พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑

 

มาตรา ๕ ให้แก้ไขคำว่า “คณะกรรมการ ก.ล.ต.” ในมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๘ มาตรา ๒๓ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๔ มาตรา ๕๕ มาตรา ๕๘ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๖ มาตรา ๗๐ มาตรา ๗๒ มาตรา ๗๓ มาตรา ๗๖ มาตรา ๗๙ มาตรา ๘๐ และมาตรา ๘๒ แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นคำว่า “คณะกรรมการกำกับตลาดทุน”

 

มาตรา ๖ ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน

 

มาตรา ๗ บรรดาข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. ๒๕๔๖ ที่ใช้อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไป จนกว่าจะมีข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อกำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับตลาดทุนทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์บางส่วนแทนคณะกรรมการ ก.ล.ต. ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้เป็นของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนเพื่อให้สอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 
ป้ายโฆษณา

รับต่อเติมบ้าน

รับติดตั้งจานดาวเที่ยม กล้องวงจรปิด

รับว่าความทั่วราชอาณาจักร

เนื้อโคขุนโพนยางคำ

Login Form


Polls

ปกติใช้คอมพิวเตอร์ for ?
 

Who's Online

เรามี 10 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

Counter

จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 2528343

RSS