Home พระราชบัญญัติ ต่าง พรบ.ชื่อบุคคล พ.ศ.2505

พรบ.ชื่อบุคคล พ.ศ.2505

อีเมล พิมพ์ PDF

พระราชบัญญัติ

ชื่อบุคคล

พ.ศ. ๒๕๐๕

 

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๕

เป็นปีที่ ๑๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยชื่อบุคคล

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕”

 

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓ ให้ยกเลิก

(๑) พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

(๒) พระราชกำหนดขนานนามสกุลเพิ่มเติม พระพุทธศักราช ๒๔๖๕

(๓) พระราชบัญญัติขนานนามสกุล (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๑

(๔) พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักราช ๒๔๘๔

บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

 

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

“ชื่อตัว” หมายความว่า ชื่อประจำบุคคล

“ชื่อรอง” หมายความว่า ชื่อประกอบถัดจากชื่อตัว

“ชื่อสกุล” หมายความว่า ชื่อประจำวงศ์สกุล

“นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนท้องที่ นายทะเบียนจังหวัด หรือนายทะเบียนกลาง ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕ ผู้มีสัญชาติไทยต้องมีชื่อตัวและชื่อสกุล และจะมีชื่อรองก็ได้

 

มาตรา ๖ ชื่อตัวต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม และต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย

ชื่อรองต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่ง และต้องไม่พ้องกับชื่อสกุลของบุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีที่คู่สมรสใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งหรือกรณีบุตรใช้ชื่อสกุลเดิมของมารดาหรือบิดาเป็นชื่อรองของตน

คู่สมรสอาจใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นชื่อรองได้เมื่อได้รับความยินยอมของฝ่ายนั้นแล้ว

 

มาตรา ๗ ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ หรือผู้เคยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์แต่ได้ออกจากบรรดาศักดิ์นั้นโดยมิได้ถูกถอด จะใช้ราชทินนามตามบรรดาศักดิ์นั้นเป็นชื่อตัวหรือชื่อรองก็ได้

 

มาตรา ๘ ชื่อสกุลต้อง

(๑) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธยหรือพระนามของพระราชินี

(๒) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่ราชทินนามของตน ของผู้บุพการี หรือของผู้สืบสันดาน

(๓) ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ หรือชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว

(๔) ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย

(๕) มีพยัญชนะไม่เกินกว่าสิบพยัญชนะ เว้นแต่กรณีใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล

 

มาตรา ๙ ผู้มีสัญชาติไทยผู้ใดประสงค์จะจดทะเบียนตั้งชื่อสกุล ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

เมื่อนายทะเบียนท้องที่พิจารณาเห็นว่าชื่อสกุลที่ขอตั้งนั้นไม่ขัดต่อพระราชบัญญัตินี้ ก็ให้เสนอต่อไปตามลำดับจนถึงนายทะเบียนกลาง เมื่อได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนกลางแล้ว ให้นายทะเบียนท้องที่รับจดทะเบียนชื่อสกุลนั้นและออกหนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียนชื่อสกุลให้แก่ผู้ขอ แต่ในกรณีที่สำนักทะเบียนใดสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับเครือข่ายข้อมูลของสำนักทะเบียนกลางตามที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดแล้ว ให้นายทะเบียนท้องที่ดำเนินการดังกล่าวได้โดยไม่ต้องได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนกลาง

การปฏิบัติการตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๑๐ ชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือเสมือนว่าได้จดทะเบียนแล้วตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๑๑ ผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลจะอนุญาตให้ผู้มีสัญชาติไทยผู้ใดร่วมใช้ชื่อสกุลของตนก็ได้ โดยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

การอนุญาตตามมาตรานี้ จะสมบูรณ์ต่อเมื่อนายทะเบียนท้องที่ได้ออกหนังสือสำคัญแสดงการอนุญาตให้ใช้ชื่อสกุลให้แก่ผู้ที่จะใช้ชื่อสกุลนั้น

ในกรณีที่ผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลตายแล้ว ให้ผู้สืบสันดานของผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลในลำดับที่ใกล้ชิดที่สุดซึ่งยังมีชีวิตอยู่และใช้ชื่อสกุลนั้นมีสิทธิอนุญาตตามวรรคหนึ่ง

 

มาตรา ๑๒ คู่สมรสมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามที่ตกลงกัน หรือต่างฝ่ายต่างใช้ชื่อสกุลเดิมของตน

การตกลงกันตามวรรคหนึ่ง จะกระทำเมื่อมีการสมรสหรือในระหว่างสมรสก็ได้

ข้อตกลงตามวรรคหนึ่ง คู่สมรสจะตกลงเปลี่ยนแปลงภายหลังก็ได้

 

มาตรา ๑๓ เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงด้วยการหย่าหรือศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรส ให้ฝ่ายซึ่งใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน

เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงด้วยความตาย ให้ฝ่ายซึ่งยังมีชีวิตอยู่และใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิใช้ชื่อสกุลนั้นได้ต่อไป แต่เมื่อจะสมรสใหม่ ให้กลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน

 

มาตรา ๑๔ (ยกเลิก)

 

มาตรา ๑๕ ผู้อุปการะเลี้ยงดูเด็ก หรือเจ้าของสถานพยาบาลสถานสงเคราะห์ หรือสถานอุปการะเลี้ยงดูเด็ก ประสงค์จะจดทะเบียนตั้งชื่อสกุลของเด็กซึ่งตนอุปการะเลี้ยงดูหรือเด็กแห่งสถานดังกล่าวซึ่งมีสัญชาติไทยแต่ไม่ปรากฏชื่อสกุลใช้ร่วมกันหรือแยกกัน ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ผู้อุปการะเลี้ยงดูมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรหรือที่สถานดังกล่าวตั้งอยู่ และให้นำความในวรรคสองและวรรคสามของมาตรา ๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๑๖ ผู้มีชื่อตัวหรือชื่อรองอยู่แล้วประสงค์จะเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อรอง ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เมื่อนายทะเบียนท้องที่เห็นว่าชื่อตัวหรือชื่อรองที่ขอเปลี่ยนใหม่นั้นไม่ขัดต่อพระราชบัญญัตินี้ ก็ให้อนุญาตและออกหนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อให้

 

มาตรา ๑๗ ผู้มีชื่อสกุลอยู่แล้วประสงค์จะขอตั้งชื่อสกุลใหม่ ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรและให้นำความในวรรคสองและวรรคสามของมาตรา ๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๑๘ ในกรณีที่นายทะเบียนสั่งไม่รับจดทะเบียนชื่อสกุล ผู้ขอจดทะเบียนชื่อสกุลมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งโดยยื่นอุทธรณ์ต่อนายทะเบียนท้องที่

คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

 

มาตรา ๑๙ ผู้ใดประสงค์จะใช้ราชทินนามของตน ของผู้บุพการีหรือของผู้สืบสันดานเป็นชื่อสกุล ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร แล้วให้นายทะเบียนท้องที่นั้นเสนอต่อไปตามลำดับจนถึงนายทะเบียนกลาง

เมื่อนายทะเบียนกลางพิจารณาเห็นสมควร ให้เสนอรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูล เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงให้นายทะเบียนท้องที่รับจดทะเบียนชื่อสกุลนั้น และออกหนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียนชื่อสกุลให้แก่ผู้ขอ

 

มาตรา ๒๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียนกับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ส. ธนะรัชต์

นายกรัฐมนตรี

 

 

อัตราค่าธรรมเนียม

 

 

(๑) การออกหนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว

หรือชื่อรอง                                                             ฉบับละ   ๑๐๐ บาท

(๒) การออกหนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียนตั้งชื่อสกุล            ฉบับละ   ๒๐๐ บาท

(๓) การออกหนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียน

เปลี่ยนชื่อสกุล

(ก) การเปลี่ยนชื่อสกุลเพราะเหตุสมรส

(๑) การเปลี่ยนครั้งแรกภายหลังการจดทะเบียนสมรส

หรือเปลี่ยนเพราะการสมรสสิ้นสุดลง                   ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

(๒) การเปลี่ยนครั้งต่อๆ ไป                                   ฉบับละ   ๑๐๐ บาท

(ข) การเปลี่ยนชื่อสกุลเพราะเหตุอื่น                                 ฉบับละ   ๒๐๐ บาท

(๔) การออกใบแทนหนังสือสำคัญตาม (๑) (๒) หรือ (๓)              ฉบับละ     ๕๐ บาท

 

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การจดทะเบียน การขอเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุลและการขอร่วมชื่อสกุลตามกฎหมายเดิม ยังไม่เป็นความสะดวก และไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงเสียใหม่ เพื่อให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วและเป็นการเหมาะสมยิ่งขึ้น

 

พระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๐

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากหญิงหม้ายโดยความตายของสามีควรมีสิทธิในการเลือกใช้ชื่อสกุลของสามีหรือกลับมาใช้ชื่อสกุลเดิมของตนได้ตามเหตุผลความจำเป็นหรือความต้องการของแต่ละบุคคล ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘

 

มาตรา ๙ หญิงมีสามีซึ่งใช้ชื่อสกุลของสามีก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มีสิทธิใช้ชื่อสกุลของสามีได้ต่อไป แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตนหรือมีข้อตกลงระหว่างสามีภรรยาเป็นประการอื่น

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ ๒๑/๒๕๔๖ ว่าพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๒ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้บังคับมิได้ ประกอบกับหลักเกณฑ์ในการใช้ชื่อรองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวยังไม่รัดกุมและอาจมีการนำชื่อสกุลของบุคคลอื่นมาใช้เป็นชื่อรองอันจะทำให้บุคคลทั่วไปเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผู้มีสิทธิใช้ชื่อสกุลนั้น อีกทั้งวิธีการขอตั้งชื่อสกุลที่เป็นอยู่ไม่เอื้อต่อการให้บริการประชาชนโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการกำหนดให้ผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลเท่านั้นที่เป็นผู้มีอำนาจอนุญาตให้บุคคลอื่นร่วมใช้ชื่อสกุลก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติในกรณีผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลเสียชีวิตไปแล้ว นอกจากนี้ อัตราค่าธรรมเนียมเดิมใช้มาเป็นระยะเวลานาน ไม่เหมาะสมต่อการบริหารจัดการและให้บริการข้อมูลชื่อบุคคลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง สมควรปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าวให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 
ป้ายโฆษณา

รับต่อเติมบ้าน

รับติดตั้งจานดาวเที่ยม กล้องวงจรปิด

รับว่าความทั่วราชอาณาจักร

เนื้อโคขุนโพนยางคำ

Login Form


Polls

ปกติใช้คอมพิวเตอร์ for ?
 

Who's Online

เรามี 5 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

Counter

จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 2528000

RSS