Home พระราชบัญญัติ ต่าง พรบ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534

พรบ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534

อีเมล พิมพ์ PDF

พระราชบัญญัติ

การเล่นแชร์

พ.ศ. ๒๕๓๔

 

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๔

เป็นปีที่ ๔๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการเล่นแชร์

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔”

 

มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓ บรรดาบทกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ และประกาศอื่นในส่วนที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

 

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

“การเล่นแชร์” หมายความว่า การที่บุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใด รวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวด ๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไปโดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการรวมทุนในลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย

“นิติบุคคล” หมายความรวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนด้วย

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕ ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์

 

มาตรา ๖ ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(๑) เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง

(๒) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน

(๓) มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

(๔) นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่งงวดใดได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าผู้ที่สัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ด้วย

 

มาตรา ๗ บทบัญญัติในมาตรา ๖ ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์

 

มาตรา ๘ ห้ามมิให้นิติบุคคลสัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์หรือสมาชิกวงแชร์

 

มาตรา ๙ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์

 

มาตรา ๑๐ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำว่า “แชร์” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกันและรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่มีประกาศของรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ที่ใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำที่รัฐมนตรีประกาศอยู่แล้วในวันที่ประกาศดังกล่าวใช้บังคับ ใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อดังกล่าวต่อไปได้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ประกาศดังกล่าวใช้บังคับ เว้นแต่ผู้ที่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๑๑ ในกรณีที่มีกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๔ กำหนดให้การรวมทุนในลักษณะอื่นเป็นการเล่นแชร์ตามพระราชบัญญัตินี้ และการเล่นแชร์ดังกล่าวมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕ หรือมาตรา ๖ ผู้ที่เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์นั้นอยู่แล้วในวันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ อาจดำเนินกิจการดังกล่าวเฉพาะวงแชร์ที่ยังค้างอยู่ต่อไปได้จนกว่าจะเสร็จ แต่ต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ

ในกรณีที่ผู้ดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล และประสงค์จะดำเนินการเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์เฉพาะวงแชร์ที่ยังค้างอยู่ต่อไป ให้ยื่นรายงานเกี่ยวกับกิจการการเล่นแชร์ตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ

นิติบุคคลใดมีวัตถุประสงค์เป็นนายวงแชร์หรือเป็นผู้จัดให้มีการรวมทุนในลักษณะอื่นซึ่งมีกฎกระทรวงกำหนดให้เป็นการเล่นแชร์ตามพระราชบัญญัตินี้อยู่แล้วในวันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ ให้นิติบุคคลนั้นดำเนินการยกเลิกวัตถุประสงค์ดังกล่าวโดยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้นภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ เว้นแต่นิติบุคคลนั้นจะเป็นนิติบุคคลที่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ตามวรรคหนึ่ง ให้นิติบุคคลนั้นดำเนินการยกเลิกวัตถุประสงค์ดังกล่าวโดยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้นอย่างช้าต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ

ในกรณีที่นิติบุคคลใดละเลยไม่ดำเนินการตามวรรคสาม ให้นายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้นมีอำนาจขีดวัตถุประสงค์ดังกล่าวออกจากทะเบียนได้ แต่การใช้อำนาจของนายทะเบียนไม่เป็นเหตุให้นิติบุคคลดังกล่าวพ้นความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๑๒ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) เข้าไปในสถานที่ใดที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้นเพื่อตรวจสอบได้

(๒) ยึดหรืออายัดบัญชี เอกสาร หลักฐาน หรือสิ่งอื่นใดที่เกี่ยวข้องหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือดำเนินคดี

(๓) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือสั่งให้ส่งบัญชีเอกสารหลักฐานหรือสิ่งอื่นใดที่จำเป็นมาประกอบการพิจารณาได้ ทั้งนี้ โดยให้เวลาบุคคลนั้นตามสมควร

 

มาตรา ๑๓ ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๒ ให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

 

มาตรา ๑๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๑๕ ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

 

มาตรา ๑๖ นิติบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าถึงสามเท่าของทุนกองกลางแต่ละงวดของทุกวงแชร์ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าสองแสนบาท และให้ศาลสั่งให้นิติบุคคลนั้นหยุดดำเนินการเป็นนายวงแชร์หรือการจัดให้มีการเล่นแชร์

 

มาตรา ๑๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๘ นิติบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท

 

มาตรา ๑๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

 

มาตรา ๒๐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

 

มาตรา ๒๑ นิติบุคคลใดไม่ยื่นรายงานตามมาตรา ๑๑ วรรคสอง หรือยื่นรายงานอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งพันบาทจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

 

มาตรา ๒๒ นิติบุคคลใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าร้อยบาทจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

 

มาตรา ๒๓ ผู้ใดขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ตามมาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๒๔ ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควรไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือหนังสือเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๒ หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๒๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

 

มาตรา ๒๖ ในกรณีที่นิติบุคคลใดกระทำความผิดตามมาตรา ๕ หรือมาตรา ๘ กรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการจัดการหรือบริหารงานของนิติบุคคลนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นด้วย

 

มาตรา ๒๗ นิติบุคคลซึ่งเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือบุคคลธรรมดาซึ่งเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๖ อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ อาจดำเนินกิจการดังกล่าวเฉพาะวงแชร์ที่ยังค้างอยู่ต่อไปได้จนกว่าจะเสร็จ แต่ต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ในกรณีที่ผู้ดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคลและประสงค์จะดำเนินการเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์เฉพาะวงแชร์ที่ยังค้างอยู่ต่อไป ให้ยื่นรายงานเกี่ยวกับกิจการการเล่นแชร์ตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

นิติบุคคลใดมีวัตถุประสงค์เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้นิติบุคคลนั้นดำเนินการยกเลิกวัตถุประสงค์ดังกล่าวโดยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้นภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่นิติบุคคลนั้นจะเป็นนิติบุคคลที่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ตามวรรคหนึ่ง ให้นิติบุคคลนั้นดำเนินการยกเลิกวัตถุประสงค์ดังกล่าวโดยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้น อย่างช้าต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ในกรณีที่นิติบุคคลใดละเลยไม่ดำเนินการตามวรรคสาม ให้นายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้นมีอำนาจขีดวัตถุประสงค์ดังกล่าวออกจากทะเบียนได้ แต่การใช้อำนาจของนายทะเบียนไม่เป็นเหตุให้นิติบุคคลดังกล่าวพ้นความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้

นิติบุคคลใดไม่ยื่นรายงานตามวรรคสอง หรือยื่นรายงานอันเป็นเท็จ หรือไม่ปฏิบัติตามวรรคสาม ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๒ แล้วแต่กรณี

 

มาตรา ๒๘ บทบัญญัติในมาตรา ๘ ไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาที่นิติบุคคลได้กระทำไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

มาตรา ๒๙ ให้ผู้ซึ่งใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำว่า “แชร์” อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อดังกล่าวต่อไปได้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่เป็นผู้ที่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ตามมาตรา ๒๗

 

มาตรา ๓๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจออกกฎกระทรวงและประกาศ ทั้งนี้ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

อานันท์ ปันยารชุน

นายกรัฐมนตรี

 

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันได้มีผู้ประกอบธุรกิจเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์กันอย่างกว้างขวาง การประกอบธุรกิจดังกล่าวนอกจากจะเป็นอันตรายต่อประชาชนแล้วยังกระทบต่อการระดมเงินออมของสถาบันการเงินที่ทางราชการสนับสนุนและรับผิดชอบ และส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวมอีกด้วย นอกจากนี้ยังปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวหลายรายได้พยายามดำเนินการให้ใกล้เคียงกับการประกอบธุรกิจเงินทุนซึ่งมีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว ในการนี้สมควรห้ามประกอบธุรกิจประเภทนี้ ส่วนการเล่นแชร์ของประชาชนทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นธุรกิจนั้นยังให้กระทำต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 
ป้ายโฆษณา

รับต่อเติมบ้าน

รับติดตั้งจานดาวเที่ยม กล้องวงจรปิด

รับว่าความทั่วราชอาณาจักร

เนื้อโคขุนโพนยางคำ

Login Form


Polls

ปกติใช้คอมพิวเตอร์ for ?
 

Who's Online

เรามี 6 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

Counter

จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 2528324

RSS