Home พระราชบัญญัติ ต่าง พรบ.วิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ.2545

พรบ.วิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ.2545

อีเมล พิมพ์ PDF

พระราชบัญญัติ

วิชาชีพการสัตวแพทย์

พ.ศ. ๒๕๔๕

 

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕

เป็นปีที่ ๕๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์

 

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ. ๒๕๔๕”

 

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๕

 

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

“วิชาชีพการสัตวแพทย์” หมายความว่า วิชาชีพเกี่ยวกับการกระทำใด ๆ ต่อร่างกายสัตว์เพื่อการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การป้องกันโรค การบำบัดรักษา หรือการกำจัดโรคสัตว์ และการกระทำโดยตรงต่อร่างกายสัตว์ด้วยการฉีดสารหรือการสอดใส่วัตถุใด ๆ เข้าไปในร่างกายสัตว์เพื่อการตกแต่งหรือการบำรุงร่างกายสัตว์ การตอนหรือการขยายพันธุ์สัตว์ด้วยเทคนิคที่สามารถป้องกันการแพร่โรคทางการสืบพันธุ์ และให้หมายความรวมถึงโรคติดต่อระหว่างสัตว์และมนุษย์ และการโภชนาภิบาลด้านสุขศาสตร์การอาหารและการปนเปื้อนในอาหารที่มีต้นกำเนิดมาจากสัตว์

“สัตว์” หมายความว่า สิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่พรรณไม้และมนุษย์

“โรค” หมายความว่า ความเจ็บป่วย การบาดเจ็บ หรือความผิดปกติของร่างกายหรือจิตใจของสัตว์ และให้หมายความรวมถึงอาการที่เกิดจากภาวะดังกล่าวด้วย

“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์จากสัตวแพทยสภา

“ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์จากสัตวแพทยสภา

“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสัตวแพทยสภา

“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการสัตวแพทยสภา

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสัตวแพทยสภา

“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสัตวแพทยสภา

“รองเลขาธิการ” หมายความว่า รองเลขาธิการสัตวแพทยสภา

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า บุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕ ในกรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายใด อ้างถึง “การบำบัดโรคสัตว์” หรือ “ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์” ตามพระราชบัญญัติควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ให้หมายความถึง “การประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์” หรือ “ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์” ตามพระราชบัญญัตินี้แล้วแต่กรณี

 

มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งออกกฎกระทรวงและระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงและระเบียบนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

 

หมวด ๑

สัตวแพทยสภา

 

 

มาตรา ๗ ให้มีสัตวแพทยสภาเป็นนิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๘ สัตวแพทยสภามีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(๑) ควบคุมการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์

(๒) ควบคุมความประพฤติและการดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพการสัตวแพทย์

(๓) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์

(๔) ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก

(๕) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การบริการทางด้านวิชาการแก่สมาชิก รวมทั้งประชาชนและองค์กรอื่นในเรื่องเกี่ยวกับวิชาชีพการสัตวแพทย์

(๖) ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายและปัญหาวิชาชีพการสัตวแพทย์

(๗) เป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ของประเทศไทย

(๘) ผดุงความเป็นธรรมและส่งเสริมสวัสดิการให้แก่สมาชิก

(๙) ดำเนินการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๙ สัตวแพทยสภามีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์

(๒) ทำคำสั่งตามมาตรา ๔๕

(๓) รับรองปริญญา อนุปริญญา ประกาศนียบัตร อนุมัติบัตร หรือวุฒิบัตรในวิชาชีพการสัตวแพทย์ของสถาบันต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการสมัครเป็นสมาชิก

(๔) รับรองหลักสูตรต่าง ๆ สำหรับการฝึกอบรมเป็นผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ ของวิชาชีพการสัตวแพทย์ของสถาบันต่าง ๆ

(๕) รับรองวิทยฐานะของสถาบันที่ทำการฝึกอบรมใน (๔)

(๖) ออกหนังสืออนุมัติหรือให้วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์สาขาต่าง ๆ และออกหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพการสัตวแพทย์

(๗) ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสัตวแพทยสภา

 

มาตรา ๑๐ สัตวแพทยสภาอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้

(๑) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน

(๒) ค่าขึ้นทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้

(๓) ผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินและกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในมาตรา ๘

(๔) เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้ให้แก่สัตวแพทยสภา

(๕) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔)

 

มาตรา ๑๑ ให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งสัตวแพทยสภา และมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๑๒ ให้มีสำนักงานสัตวแพทยสภาทำหน้าที่ธุรการต่าง ๆ ให้แก่คณะกรรมการและสัตวแพทยสภา และให้มีสำนักงานสาขาได้ตามความจำเป็น ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

 

หมวด ๒

สมาชิก

 

 

มาตรา ๑๓ ผู้สมัครเป็นสมาชิกสัตวแพทยสภาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

(๒) มีความรู้ในวิชาชีพการสัตวแพทย์โดยได้รับปริญญา อนุปริญญา ประกาศนียบัตร ในวิชาสัตวแพทยศาสตร์จากสถาบันการศึกษาที่ทบวงมหาวิทยาลัยหรือสัตวแพทยสภารับรอง หรือมีความรู้ในวิชาชีพการสัตวแพทย์โดยได้รับปริญญาสาขาอื่น ที่มิใช่สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต หรือประกาศนียบัตรจากสถานศึกษาที่สัตวแพทยสภารับรอง

(๓) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

(๔) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

(๕) ไม่เป็นผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือไม่เป็นโรคที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสัตวแพทยสภา

 

มาตรา ๑๔ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกมีดังต่อไปนี้

(๑) ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ขอหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์สาขาต่าง ๆ หรือขอหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพการสัตวแพทย์ โดยปฏิบัติตามข้อบังคับสัตวแพทยสภาว่าด้วยการนั้น

(๒) แสดงความคิดเห็นและซักถามเป็นหนังสือเกี่ยวกับกิจการของสัตวแพทยสภาไปยังคณะกรรมการเพื่อพิจารณา และในกรณีที่สมาชิกรวมกันตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป เสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องใดที่เกี่ยวกับกิจการของสัตวแพทยสภา คณะกรรมการต้องพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้เสนอทราบภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับเรื่อง

(๓) เลือกตั้งหรือรับเลือกตั้งเป็นกรรมการ

(๔) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพและปฏิบัติตนตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๑๕ สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ (๑) (๒) หรือ (๕)

(๔) คณะกรรมการมีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพเพราะเห็นว่าเป็นผู้นำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพตามมาตรา ๑๓ (๓) หรือ (๔)

(๕) ไม่ชำระค่าขึ้นทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง หรือค่าธรรมเนียม โดยไม่มีเหตุอันควรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับสัตวแพทยสภา

 

หมวด ๓

คณะกรรมการสัตวแพทยสภา

 

 

มาตรา ๑๖ ให้มีคณะกรรมการสัตวแพทยสภา ประกอบด้วย

(๑) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิบดีกรมปศุสัตว์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน นายกสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย และนายกสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

(๒) กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนกระทรวงกลาโหมหนึ่งคน กระทรวงมหาดไทยหนึ่งคน กระทรวงสาธารณสุขหนึ่งคน กรมประมงหนึ่งคน กรมปศุสัตว์หนึ่งคน และกรุงเทพมหานครหนึ่งคน

(๓) กรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งจากสมาชิก มีจำนวนเท่ากับจำนวนกรรมการใน (๑) และ (๒) รวมกันในขณะเลือกตั้งแต่ละคราว

 

มาตรา ๑๗ คณะกรรมการอาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาได้ และให้มีอำนาจถอดถอนที่ปรึกษาด้วย

ให้ที่ปรึกษาดำรงตำแหน่งตามวาระของกรรมการตามมาตรา ๑๖ (๓)

 

มาตรา ๑๘ ให้คณะกรรมการประชุมเลือกกรรมการภายในสามสิบวันนับจากวันเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๖ (๓) เพื่อดำรงตำแหน่งนายกสัตวแพทยสภา อุปนายกสัตวแพทยสภาคนที่หนึ่ง และอุปนายกสัตวแพทยสภาคนที่สอง ตำแหน่งละหนึ่งคน

ให้นายกสัตวแพทยสภาเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการ รองเลขาธิการ ประชาสัมพันธ์และเหรัญญิก ตำแหน่งละหนึ่งคน และอาจเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งอื่นได้ตามความจำเป็นและมีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวออกจากตำแหน่งได้ ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

ให้นายกสัตวแพทยสภา อุปนายกสัตวแพทยสภาคนที่หนึ่ง และอุปนายกสัตวแพทยสภาคนที่สองดำรงตำแหน่งตามวาระของกรรมการตามมาตรา ๑๖ (๓)

เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกสัตวแพทยสภาพ้นจากตำแหน่ง ให้เลขาธิการ รองเลขาธิการประชาสัมพันธ์ เหรัญญิก และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามวรรคสอง พ้นจากตำแหน่งด้วย

 

มาตรา ๑๙ การเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๖ (๓) การแต่งตั้งที่ปรึกษาตามมาตรา ๑๗ การเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา ๑๘ และการเลือกกรรมการตามมาตรา ๒๓ ให้เป็นไปตามข้อบังคับสัตวแพทยสภา

 

มาตรา ๒๐ กรรมการตามมาตรา ๑๖ (๒) และ (๓) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(๑) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง

(๒) ไม่เคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการบำบัดโรคสัตว์

(๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

 

มาตรา ๒๑ กรรมการตามมาตรา ๑๖ (๓) มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปีนับแต่วันเลือกตั้งและอาจได้รับเลือกตั้งใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการที่ได้รับเลือกตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ทั้งนี้ คณะกรรมการต้องจัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๖ (๓) ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง

 

มาตรา ๒๒ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการตามมาตรา ๑๖ (๓) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๕

(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๐

 

มาตรา ๒๓ เมื่อตำแหน่งกรรมการตามมาตรา ๑๖ (๓) ว่างลงไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการดังกล่าวทั้งหมด ก่อนครบวาระให้คณะกรรมการเลือกสมาชิกซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๐ เป็นกรรมการแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งกรรมการนั้นว่างลง

ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการตามวรรคหนึ่งว่างลงรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการจัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการขึ้นแทนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่จำนวนกรรมการดังกล่าวได้ว่างลงเกินกึ่งหนึ่ง

ถ้าวาระของกรรมการตามมาตรา ๑๖ (๓) เหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน คณะกรรมการจะให้มีการเลือกหรือเลือกตั้งกรรมการแทนหรือไม่ก็ได้

ให้ผู้ซึ่งเป็นกรรมการแทนนั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน

 

มาตรา ๒๔ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) บริหารกิจการสัตวแพทยสภาตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสัตวแพทยสภาที่กำหนดในมาตรา ๘ และมาตรา ๙

(๒) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณ คณะอนุกรรมการสอบสวน และคณะอนุกรรมการอื่นเพื่อทำกิจการหรือพิจารณาเรื่องต่าง ๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสัตวแพทยสภา

(๓) จัดตั้งสำนักงานสาขาของสัตวแพทยสภา

(๔) ออกข้อบังคับสัตวแพทยสภาว่าด้วย

(ก) การเป็นสมาชิก

(ข) การกำหนดโรคตามมาตรา ๑๓ (๕)

(ค) การกำหนดค่าขึ้นทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้

(ง) การเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๖ (๓) การแต่งตั้งที่ปรึกษาตามมาตรา ๑๗ และการเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา ๑๘

(จ) การประชุมคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะที่ปรึกษา และสมาชิก

(ฉ) การกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาตามมาตรา ๑๗

(ช) การกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามมาตรา ๑๘ วรรคสอง

(ซ) หลักเกณฑ์ว่าด้วยการสอบความรู้ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ตามมาตรา ๓๓

(ฌ) คุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ตามมาตรา ๓๔

(ญ) แบบและประเภทใบอนุญาต หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนการออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์สาขาต่าง ๆ หนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพการสัตวแพทย์ การออกใบแทนใบอนุญาต หนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตร หรือหนังสือแสดงวุฒิอื่นตามมาตรา ๓๑

(ฎ) การจัดตั้ง การดำเนินการ และการเลิกสถาบันที่ทำการฝึกอบรมเป็นผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ ของวิชาชีพการสัตวแพทย์

(ฏ) ข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ตามมาตรา ๓๕

(ฐ) จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพการสัตวแพทย์ตามมาตรา ๓๖

(ฑ) การกำหนดหลักเกณฑ์การพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต

(ฒ) หลักเกณฑ์ว่าด้วยการสืบสวนหรือสอบสวนในกรณีที่มีการกล่าวหาหรือการกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์

(ณ) เรื่องอื่น ๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของสัตวแพทยสภาหรืออยู่ในอำนาจหน้าที่ของสัตวแพทยสภาตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

(๕) ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

ข้อบังคับสัตวแพทยสภาตาม (ก) (ข) (ค) (ซ) (ฌ) (ญ) (ฎ) (ฏ) (ฐ) (ฑ) และ (ฒ) เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

 

มาตรา ๒๕ นายกสัตวแพทยสภา อุปนายกสัตวแพทยสภา เลขาธิการ รองเลขาธิการ ประชาสัมพันธ์ และเหรัญญิก มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) นายกสัตวแพทยสภามีอำนาจหน้าที่

(ก) ดำเนินกิจการของสัตวแพทยสภาให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ

(ข) เป็นผู้แทนสัตวแพทยสภาในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก

(ค) เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ

นายกสัตวแพทยสภาอาจมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการอื่นปฏิบัติหน้าที่แทนตามที่เห็นสมควรได้

(๒) อุปนายกสัตวแพทยสภาคนที่หนึ่ง เป็นผู้ช่วยนายกสัตวแพทยสภาในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสัตวแพทยสภาตามที่นายกสัตวแพทยสภามอบหมาย และเป็นผู้ทำการแทนนายกสัตวแพทยสภา เมื่อนายกสัตวแพทยสภาไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

(๓) อุปนายกสัตวแพทยสภาคนที่สอง เป็นผู้ช่วยนายกสัตวแพทยสภาในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสัตวแพทยสภาตามที่นายกสัตวแพทยสภามอบหมาย และเป็นผู้ทำการแทนนายกสัตวแพทยสภา เมื่อทั้งนายกสัตวแพทยสภาและอุปนายกสัตวแพทยสภาคนที่หนึ่งไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

(๔) เลขาธิการมีอำนาจหน้าที่

(ก) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่สัตวแพทยสภาทุกระดับ

(ข) ควบคุมรับผิดชอบในงานธุรการทั่วไปของสัตวแพทยสภา

(ค) ดูแลรักษาทะเบียนสมาชิก ทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ และทะเบียนอื่น ๆ ของสัตวแพทยสภา

(ง) ควบคุม ดูแลทรัพย์สินของสัตวแพทยสภา

(จ) เป็นเลขานุการในที่ประชุมคณะกรรมการ

(ฉ) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

(๕) รองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยเลขาธิการในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการ ตามที่เลขาธิการมอบหมาย และเป็นผู้ทำการแทนเลขาธิการ เมื่อเลขาธิการไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

(๖) ประชาสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ แนะนำ และเผยแพร่กิจการของสัตวแพทยสภาแก่สมาชิก ประชาชน และองค์กรอื่น

(๗) เหรัญญิกมีอำนาจหน้าที่ควบคุม ดูแล รับผิดชอบการบัญชี การเงิน และการงบประมาณของสัตวแพทยสภา

ผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาตามมาตรา ๑๗ และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามมาตรา ๑๘ วรรคสอง ให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการกำหนด

 

หมวด ๔

การดำเนินการของคณะกรรมการ

 

 

มาตรา ๒๖ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม

มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มติของที่ประชุมในกรณีให้สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๑๕ (๔) หรือให้พักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๕ วรรคสาม ให้ถือคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่อยู่ในตำแหน่ง

การประชุมคณะอนุกรรมการ ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

การประชุมคณะที่ปรึกษา ให้เป็นไปตามข้อบังคับสัตวแพทยสภา

 

มาตรา ๒๗ สภานายกพิเศษจะเข้าฟังการประชุมและชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการหรือจะส่งความเห็นเป็นหนังสือไปยังสัตวแพทยสภาในเรื่องใด ๆ ก็ได้

 

มาตรา ๒๘ มติของที่ประชุมคณะกรรมการในเรื่องดังต่อไปนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษก่อน จึงจะดำเนินการตามมตินั้นได้

(๑) การออกข้อบังคับ

(๒) การกำหนดงบประมาณของสัตวแพทยสภา

(๓) การให้สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๑๕ (๔)

(๔) การวินิจฉัยชี้ขาดให้พักใช้ใบอนุญาตหรือให้เพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๕ วรรคสาม (๒) (ค) หรือ (ง)

ให้นายกสัตวแพทยสภาเสนอมติตามวรรคหนึ่งต่อสภานายกพิเศษโดยไม่ชักช้าสภานายกพิเศษอาจมีคำสั่งยับยั้งมตินั้นได้ ในกรณีที่มิได้ยับยั้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับมติที่นายกสัตวแพทยสภาเสนอให้ถือว่าสภานายกพิเศษให้ความเห็นชอบมตินั้น

ถ้าสภานายกพิเศษยับยั้งมติใด ให้คณะกรรมการประชุมพิจารณาอีกครั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งยับยั้ง ในการประชุมนั้นถ้ามีเสียงยืนยันมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะ ก็ให้ดำเนินการตามมตินั้นได้

 

หมวด ๕

การควบคุมการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์

 

 

มาตรา ๒๙ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ หรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตจากสัตวแพทยสภา เว้นแต่ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) การประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ที่กระทำต่อสัตว์ของตนเอง ยกเว้นกรณีเป็นการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์โดยมีขนาด ชนิด และจำนวนสัตว์ตามที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

(๒) การรักษาพยาบาลสัตว์ โดยไม่รับสินจ้างรางวัล และการกระทำดังกล่าวต้องมิใช่เป็นการกระทำทางศัลยกรรม การใช้รังสี การฝังเข็มเพื่อบำบัดโรคหรือระงับความรู้สึกหรือให้ยาควบคุมพิเศษ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นแล้วแต่กรณี

(๓) นักเรียน นักศึกษา หรือผู้รับการฝึกอบรมซึ่งทำการฝึกหัดหรือฝึกอบรมในความควบคุมของสถาบันการศึกษาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ของรัฐ หรือที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้จัดตั้งสถาบันการศึกษาหรือสถาบันทางสัตวแพทย์อื่นที่สัตวแพทยสภารับรอง ทั้งนี้ ภายใต้ความควบคุมของเจ้าหน้าที่ผู้ฝึกหัดหรือผู้ให้การฝึกอบรมซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์

(๔) ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด หรือสภากาชาดไทย ซึ่งกระทำการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ตามอำนาจหน้าที่หรือตามที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานดังกล่าวมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษร

(๕) บุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด หรือสภากาชาดไทย มอบหมายให้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

(๖) การประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ของที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญของทางราชการหรือผู้สอนในสถาบันการศึกษาหรือสถาบันทางสัตวแพทย์อื่นที่สัตวแพทยสภารับรอง ซึ่งมีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ของต่างประเทศ ทั้งนี้ โดยอนุมัติของคณะกรรมการ

 

มาตรา ๓๐ ห้ามมิให้ผู้ซึ่งมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตใช้คำหรือข้อความด้วยอักษรไทยหรืออักษรต่างประเทศว่า สัตวแพทย์ นายสัตวแพทย์ สัตวแพทย์หญิง หรือนายสัตวแพทย์หญิง หรือใช้อักษรย่อของคำดังกล่าวประกอบกับชื่อตัวหรือชื่อสกุลของตน หรือใช้คำหรือข้อความอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน หรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ซึ่งทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ รวมถึงการใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าวให้แก่ตน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อบังคับสัตวแพทยสภา

 

มาตรา ๓๑ แบบและประเภทใบอนุญาต หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์สาขาต่าง ๆ และหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพการสัตวแพทย์ และการออกใบแทนใบอนุญาต หนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตร หรือหนังสือแสดงวุฒิอื่น ให้เป็นไปตามข้อบังคับสัตวแพทยสภา

 

มาตรา ๓๒ ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ให้แบ่งเป็นสองชั้น คือ ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง และผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นสอง

 

มาตรา ๓๓ ผู้มีสิทธิขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ตามมาตรา ๓๒ ต้องมีความรู้ดังนี้

(๑) ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ต้อง

(ก) ได้รับปริญญาสัตวแพทยศาสตรบัณฑิตจากสถานศึกษาในประเทศไทยที่ทบวงมหาวิทยาลัยหรือสัตวแพทยสภารับรอง หรือ

(ข) ได้รับปริญญาในสาขาวิชาชีพการสัตวแพทย์จากสถานศึกษาในต่างประเทศและได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพในประเทศที่ตนได้รับปริญญา เว้นแต่เป็นผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยอาจไม่ต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพในประเทศที่ผู้นั้นได้รับปริญญาก็ได้ แต่ต้องผ่านการสอบความรู้ตามข้อบังคับสัตวแพทยสภา

(๒) ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นสอง ต้องมีความรู้ในวิชาชีพการสัตวแพทย์โดยได้รับปริญญาสาขาอื่นที่มิใช่สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต หรือประกาศนียบัตรจากสถานศึกษาที่สัตวแพทยสภารับรอง และผ่านการสอบความรู้ตามข้อบังคับสัตวแพทยสภา

 

มาตรา ๓๔ ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตต้องเป็นสมาชิกแห่งสัตวแพทยสภา และมีคุณสมบัติอื่นตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสัตวแพทยสภา

เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ผู้ใดพ้นจากสมาชิกภาพ ให้ใบอนุญาตของผู้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่พ้นจากสมาชิกภาพ

ให้ผู้ซึ่งพ้นจากสมาชิกภาพตามวรรคสองส่งคืนใบอนุญาตต่อเลขาธิการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๑๕ (๒) หรือ (๓) หรือนับแต่วันที่ทราบการพ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๑๕ (๔) หรือ (๕)

 

มาตรา ๓๕ ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ต้องประกอบวิชาชีพภายใต้บังคับแห่งข้อจำกัดและเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสัตวแพทยสภา

 

มาตรา ๓๖ ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ต้องรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพการสัตวแพทย์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสัตวแพทยสภา

 

มาตรา ๓๗ บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเพราะผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ผู้ใดประพฤติผิดข้อจำกัดหรือเงื่อนไขการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ตามมาตรา ๓๕ หรือประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพตามมาตรา ๓๖ มีสิทธิกล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ผู้นั้น โดยทำคำกล่าวหาเป็นหนังสือยื่นต่อสัตวแพทยสภา

กรรมการหรือบุคคลอื่นที่พบหรือทราบว่าผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ผู้ใดประพฤติผิดข้อจำกัดและเงื่อนไขการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ตามมาตรา ๓๕ หรือประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพตามมาตรา ๓๖ มีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ผู้นั้นโดยทำคำกล่าวโทษเป็นหนังสือยื่นต่อสัตวแพทยสภา

สิทธิการกล่าวหาตามวรรคหนึ่งหรือสิทธิการกล่าวโทษตามวรรคสองสิ้นสุดลง เมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้กล่าวโทษรู้เรื่องและรู้ตัวผู้ประพฤติผิด แต่ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสามปีนับแต่วันที่มีการประพฤติผิดในเรื่องดังกล่าว

การถอนคำกล่าวหาหรือคำกล่าวโทษที่ได้ยื่นไว้แล้วไม่เป็นเหตุให้ระงับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๓๘ เมื่อสัตวแพทยสภาได้รับเรื่องการกล่าวหาหรือการกล่าวโทษตามมาตรา ๓๗ ให้เลขาธิการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อประธานอนุกรรมการจรรยาบรรณโดยไม่ชักช้า

 

มาตรา ๓๙ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณจากสมาชิกประกอบด้วยประธานคนหนึ่งและอนุกรรมการอีกจำนวนไม่น้อยกว่าสองคน มีอำนาจหน้าที่สืบสวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องที่ได้รับตามมาตรา ๓๘ แล้วทำรายงานพร้อมทั้งความเห็นเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณา

คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณหลายคณะก็ได้

 

มาตรา ๔๐ เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานและความเห็นของคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณแล้วให้คณะกรรมการพิจารณารายงานและความเห็นดังกล่าว และมีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) ให้คณะอนุกรรมการจรรยาบรรณสืบสวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา

(๒) ให้คณะอนุกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนในกรณีที่เห็นว่าข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษนั้นมีมูล

(๓) ให้ยกข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษในกรณีที่เห็นว่าข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษนั้นไม่มีมูล

 

มาตรา ๔๑ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนจากสมาชิก ประกอบด้วยประธานคนหนึ่งและอนุกรรมการอีกจำนวนไม่น้อยกว่าสองคน มีอำนาจหน้าที่สอบสวน สรุปผลการสอบสวนและเสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด

คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนหลายคณะก็ได้

 

มาตรา ๔๒ ให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการจรรยาบรรณ และคณะอนุกรรมการสอบสวนมีอำนาจออกหนังสือเรียกบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำ และให้บุคคลใด ๆ ส่งเอกสารหรือวัตถุเพื่อประโยชน์แก่การดำเนินงานของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการดังกล่าว

ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการจรรยาบรรณ และคณะอนุกรรมการสอบสวน ให้กรรมการ อนุกรรมการจรรยาบรรณ และอนุกรรมการสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

 

มาตรา ๔๓ ให้ประธานอนุกรรมการสอบสวนมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษพร้อมทั้งส่งสำเนาเรื่องที่กล่าวหาหรือกล่าวโทษให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันเริ่มทำการสอบสวน

ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษมีสิทธิทำคำชี้แจงหรือนำพยานหลักฐานใด ๆ มาให้คณะอนุกรรมการสอบสวน

คำชี้แจงหรือพยานหลักฐาน ให้ยื่นต่อประธานอนุกรรมการสอบสวนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากประธานอนุกรรมการสอบสวนหรือภายในกำหนดเวลาที่คณะอนุกรรมการสอบสวนจะขยายให้

 

มาตรา ๔๔ เมื่อคณะอนุกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ให้เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นต่อคณะกรรมการโดยไม่ชักช้า เพื่อให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด

 

มาตรา ๔๕ เมื่อคณะกรรมการได้รับสำนวนการสอบสวนและความเห็นของคณะอนุกรรมการสอบสวนแล้ว ให้คณะกรรมการพิจารณาสำนวนการสอบสวนและความเห็นดังกล่าวโดยไม่ชักช้า

คณะกรรมการอาจให้คณะอนุกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมก่อนวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้

คณะกรรมการมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) ยกข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษ ในกรณีที่เห็นว่าผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์มิได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษ หรือ

(๒) ลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ในกรณีที่เห็นว่าผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ได้กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษ

(ก) ว่ากล่าวตักเตือน

(ข) ภาคทัณฑ์

(ค) พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินสองปี

(ง) เพิกถอนใบอนุญาต

ภายใต้บังคับมาตรา ๒๘ คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการตามมาตรานี้ ให้ทำเป็นคำสั่งสัตวแพทยสภาพร้อมด้วยเหตุผลของการวินิจฉัยชี้ขาด และให้ถือเป็นที่สุด

 

มาตรา ๔๖ ให้เลขาธิการแจ้งคำสั่งสัตวแพทยสภาตามมาตรา ๔๕ วรรคสี่ ไปยังผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง และให้บันทึกข้อความตามคำสั่งนั้นไว้ในทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์

หลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

 

มาตรา ๔๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๙ ห้ามมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือซึ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ หรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าวนับแต่วันที่ทราบคำสั่งสัตวแพทยสภาที่สั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้น

 

มาตรา ๔๘ ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ผู้ใดซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตกระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๔๗ ให้คณะกรรมการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้นั้น

 

มาตรา ๔๙ ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตอาจขอรับใบอนุญาตอีกได้เมื่อพ้นสองปีนับแต่วันถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาคำขอรับใบอนุญาตและปฏิเสธการออกใบอนุญาต ผู้นั้นจะยื่นคำขอรับใบอนุญาตได้อีกต่อเมื่อสิ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการปฏิเสธการออกใบอนุญาต ถ้าคณะกรรมการปฏิเสธการออกใบอนุญาตเป็นครั้งที่สองแล้วผู้นั้นเป็นอันหมดสิทธิขอรับใบอนุญาตตลอดไป

ความในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับแก่ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย

 

หมวด ๖

การกำกับดูแล

 

 

มาตรา ๕๐ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของสัตวแพทยสภา และการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ และสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานของสัตวแพทยสภาและการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์

 

มาตรา ๕๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของรัฐมนตรีตามมาตรา ๕๐ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) เข้าไปในสถานที่ทำการของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ในเวลาทำการของสถานที่นั้นเพื่อตรวจสอบหรือควบคุมให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) เข้าไปในสถานที่ หรือยานพาหนะใด ๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้นเพื่อตรวจค้นเอกสารหรือวัตถุใด ๆ ที่อาจใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินการกระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ประกอบกับกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ เอกสารหรือวัตถุดังกล่าวจะถูกยักย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

(๓) ยึดเอกสารหรือวัตถุใด ๆ ที่อาจใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

 

มาตรา ๕๒ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัว

บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๕๓ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

 

หมวด ๗

บทกำหนดโทษ

 

 

มาตรา ๕๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๙ หรือมาตรา ๔๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๕๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๕๖ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๔ วรรคสาม หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕๑ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

 

มาตรา ๕๗ ผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำหรือไม่ส่งเอกสารหรือวัตถุใด ๆ ตามที่เรียกหรือแจ้งให้ส่งตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง โดยไม่มีเหตุอันควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

บทเฉพาะกาล

 

 

มาตรา ๕๘ ผู้ใดเป็นผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ตามพระราชบัญญัติควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๕ อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นสมาชิกสัตวแพทยสภาและเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้เป็นสมาชิกสัตวแพทยสภาตามวรรคหนึ่ง ต้องชำระค่าขึ้นทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ข้อบังคับสัตวแพทยสภาตามมาตรา ๒๔ (๔) (ค) ใช้บังคับ ถ้าไม่ชำระภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้สมาชิกภาพของผู้นั้นเป็นอันสิ้นสุดลง และให้นำมาตรา ๓๔ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๕๙ ผู้ใดได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ตามพระราชบัญญัติควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และใบอนุญาตนั้นยังคงใช้ได้ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไปดังนี้

(๑) ผู้ใดได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่ง ให้ถือว่าผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง

(๒) ผู้ใดได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นสอง ให้ถือว่าผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นสอง

ให้ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ตาม (๑) และ (๒) มีสิทธิประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต เท่าที่ระยะเวลายังเหลืออยู่ของอายุใบอนุญาตนั้นเว้นแต่ผู้นั้นจะได้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ก่อนใบอนุญาตนั้นสิ้นอายุ ก็ให้มีสิทธิประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ได้ต่อไปจนกว่าคณะกรรมการจะมีคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตให้ และให้นำมาตรา ๓๔ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๖๐ ในระยะเริ่มแรกที่ยังมิได้เลือกตั้งสมาชิกเป็นกรรมการตามมาตรา ๑๖ (๓) ให้คณะกรรมการประกอบด้วยอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นนายกสัตวแพทยสภา และกรรมการตามมาตรา ๑๖ (๑) และ (๒) เป็นกรรมการ

การแต่งตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๖ (๒) ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ให้อธิบดีกรมปศุสัตว์เลือกกรรมการตามวรรคหนึ่ง ทำหน้าที่เลขาธิการ รองเลขาธิการ ประชาสัมพันธ์ และเหรัญญิก ตำแหน่งละหนึ่งคน ทั้งนี้ จนกว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวซึ่งได้รับการเลือกตามมาตรา ๑๘ วรรคสอง เข้ารับหน้าที่

การเลือกตั้งสมาชิกเป็นกรรมการตามมาตรา ๑๖ (๓) ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

มาตรา ๖๑ คำขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ และคำขอแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ซึ่งได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือปฏิบัติดังนี้

(๑) ถ้าคณะกรรมการควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ตามพระราชบัญญัติควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ยังมิได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับคำขอดังกล่าว ให้ถือว่าเป็นคำขอที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัตินี้ และเมื่อผู้ยื่นคำขอได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสัตวแพทยสภาแล้ว ให้ดำเนินการเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) ถ้าคณะกรรมการควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ตามพระราชบัญญัติควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวแล้ว การดำเนินการเกี่ยวกับคำขอนั้นให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติควบคุมการบำบัดโรคสัตว์พ.ศ. ๒๕๐๕ ต่อไปจนกว่าจะได้มีการออกใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ และให้นำมาตรา ๕๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๖๒ การไต่สวนและการพิจารณาเพื่อวินิจฉัยสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่

(๑) กรณีที่ได้มีการไต่สวนโดยถูกต้องตามพระราชบัญญัติควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เสร็จไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แต่คณะกรรมการควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ยังมิได้พิจารณาวินิจฉัยมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ให้การไต่สวนนั้นเป็นอันใช้ได้ และให้คณะกรรมการและเลขาธิการตามพระราชบัญญัตินี้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๔๕ และมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัตินี้

(๒) กรณีที่ได้มีการไต่สวนและคณะกรรมการควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ได้พิจารณาวินิจฉัยมีคำสั่งโดยถูกต้องตามพระราชบัญญัติควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เสร็จไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แต่ยังมิได้มีการแจ้งคำสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ซึ่งถูกกล่าวหาทราบ ให้การไต่สวนและการพิจารณาวินิจฉัยมีคำสั่งนั้นเป็นอันใช้ได้ และให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัตินี้ และให้นำมาตรา ๔๕ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๖๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๖๐ และมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ การใดอยู่ระหว่างดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การดำเนินการต่อไปสำหรับการนั้น ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

 

มาตรา ๖๔ ให้บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

นายกรัฐมนตรี

 

 

อัตราค่าธรรมเนียม

 

 

(๑) ค่าขึ้นทะเบียนและใบอนุญาต

เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง

และค่าต่ออายุใบอนุญาต                                           ฉบับละ     ๕,๐๐๐ บาท

(๒) ค่าขึ้นทะเบียนและใบอนุญาต

เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นสอง

และค่าต่ออายุใบอนุญาต                                           ฉบับละ     ๓,๐๐๐ บาท

(๓) ค่าหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน

เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์                              ฉบับละ        ๕๐๐ บาท

(๔) ค่าหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตรแสดง

ความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพ

การสัตวแพทย์ และหนังสือแสดงวุฒิอื่นใน

วิชาชีพการสัตวแพทย์                                               ฉบับละ     ๒,๐๐๐ บาท

(๕) ค่าใบแทนใบอนุญาตตาม (๑) และ (๒)

และใบแทนเอกสารตาม (๔)                                       ฉบับละ        ๕๐๐ บาท

 

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการเปลี่ยนแปลงวิชาชีพการบำบัดโรคสัตว์มาเป็นวิชาชีพการสัตวแพทย์ และพระราชบัญญัติควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งเป็นกฎหมายควบคุมวิชาชีพการบำบัดโรคสัตว์ มีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องและเหมาะสมกับการควบคุมการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการควบคุมการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์เสียใหม่ โดยให้มีองค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ในรูปของสภาวิชาชีพ เพื่อส่งเสริมการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน และในขณะเดียวกันก็ให้สาขาวิชาชีพดังกล่าวทำหน้าที่ควบคุมและส่งเสริมมาตรฐานการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ และควบคุมมิให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากบุคคลซึ่งไม่มีความรู้อันก่อให้เกิดภัยและความเสียหายแก่ประชาชนซึ่งรู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่มารับบริการจากบุคคลเช่นนั้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 
ป้ายโฆษณา

รับติดตั้งจานดาวเที่ยม กล้องวงจรปิด

เนื้อโคขุนโพนยางคำ

Login Form


Polls

ปกติใช้คอมพิวเตอร์ for ?
 

Who's Online

เรามี 4 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

Counter

จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 2525755

RSS