Home พระราชบัญญัติ ต่าง พรบ.วิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ พ.ศ.2528

พรบ.วิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ พ.ศ.2528

อีเมล พิมพ์ PDF

พระราชบัญญัติ

วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์

พ.ศ. ๒๕๒๘

 

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๘

เป็นปีที่ ๔๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. ๒๕๒๘”

 

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓ บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

 

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

“วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์” หมายความว่า วิชาชีพเกี่ยวกับการพยาบาลและการผดุงครรภ์

“การพยาบาล” หมายความว่า การกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการดูแลและการช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วย การฟื้นฟูสภาพ การป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งการช่วยเหลือแพทย์กระทำการรักษาโรค .ทั้งนี้ โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะการพยาบาล

“การผดุงครรภ์” หมายความว่า การกระทำเกี่ยวกับการดูแล และการช่วยเหลือหญิงมีครรภ์ หญิงหลังคลอด และทารกแรกเกิด รวมถึงการตรวจ การทำคลอด การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันความผิดปกติในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอด รวมทั้งช่วยเหลือแพทย์กระทำการรักษาโรค ทั้งนี้ โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะการผดุงครรภ์

“การประกอบวิชาชีพการพยาบาล” หมายความว่า การปฏิบัติหน้าที่การพยาบาลต่อบุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยกระทำการต่อไปนี้

(๑) การสอน การแนะนำ การให้คำปรึกษาและการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย

(๒) การกระทำต่อร่างกายและจิตใจของบุคคล รวมทั้งการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อการแก้ปัญหาความเจ็บป่วย การบรรเทาอาการของโรค การลุกลามของโรค และการฟื้นฟูสภาพ

(๓) การกระทำตามวิธีที่กำหนดไว้ในการรักษาโรคเบื้องต้น และการให้ภูมิคุ้มกันโรค

(๔) ช่วยเหลือแพทย์กระทำการรักษาโรค

ทั้งนี้ โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะการพยาบาลในการประเมินสภาพการวินิจฉัยปัญหา การวางแผน การปฏิบัติ และการประเมินผล

“การประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์” หมายความว่า การปฏิบัติหน้าที่การผดุงครรภ์ต่อหญิงมีครรภ์ หญิงหลังคลอด ทารกแรกเกิดและครอบครัว โดยการกระทำต่อไปนี้

(๑) การสอน การแนะนำ การให้คำปรึกษาและการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย

(๒) การกระทำต่อร่างกายและจิตใจของหญิงมีครรภ์ หญิงหลังคลอด และทารกแรกเกิด เพื่อป้องกันความผิดปกติในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอด

(๓) การตรวจ การทำคลอด และการวางแผนครอบครัว

(๔) ช่วยเหลือแพทย์กระทำการรักษาโรค

ทั้งนี้ โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะการผดุงครรภ์ในการประเมินสภาพการวินิจฉัยปัญหา การวางแผน การปฏิบัติ และการประเมินผล

“ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลจากสภาการพยาบาล

“ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์จากสภาการพยาบาล

“ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์จากสภาการพยาบาล

“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งสภาการพยาบาลออกให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์

“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภาการพยาบาล

“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการสภาการพยาบาล

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสภาการพยาบาล

“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสภาการพยาบาล

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งออกระเบียบและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

หมวด ๑

สภาการพยาบาล

 

 

มาตรา ๖ ให้มีสภาการพยาบาล มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

ให้สภาการพยาบาลเป็นนิติบุคคล

 

มาตรา ๗ สภาการพยาบาลมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(๑) ควบคุมความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ให้ถูกต้องตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาล และการผดุงครรภ์

(๒) ส่งเสริมการศึกษา การบริการ การวิจัย และความก้าวหน้าในวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์

(๓) ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก

(๔) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนและองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการพยาบาล การผดุงครรภ์ และการสาธารณสุข

(๕) ให้คำปรึกษา หรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการพยาบาล การผดุงครรภ์ และการสาธารณสุข

(๖) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์หรือการพยาบาล และการผดุงครรภ์ในประเทศไทย

(๗) ผดุงความเป็นธรรมและส่งเสริมสวัสดิการให้แก่สมาชิก

 

มาตรา ๘ สภาการพยาบาลมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์

(๒) สั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือการเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์

(๓) ให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ในระดับอุดมศึกษาของสถาบันการศึกษาที่จะทำการสอนวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์เพื่อเสนอต่อทบวงมหาวิทยาลัย

(๔) รับรองหลักสูตรต่าง ๆ สำหรับการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรของสถาบันที่จะทำการสอนวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์

(๕) รับรองหลักสูตรต่าง ๆ สำหรับการฝึกอบรมในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ของสถาบันการศึกษาที่จะทำการฝึกอบรมวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์

(๖) รับรองวิทยฐานะของสถาบันที่ทำการสอนและฝึกอบรมตาม (๔) และ (๕)

(๗) รับรองปริญญา ประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญา ประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ของสถาบันต่าง ๆ

(๘) ออกหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตรเกี่ยวกับความรู้หรือความชำนาญเฉพาะทางและหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์

(๙) ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาการพยาบาล

 

มาตรา ๙ สภาการพยาบาลอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้

(๑) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน

(๒) ค่าจดทะเบียนสมาชิกสามัญ ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ

(๓) ผลประโยชน์จากกิจกรรมอื่นของสภาการพยาบาล ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗

(๔) เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้ให้แก่สภาการพยาบาล

(๕) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินอื่นตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔)

 

มาตรา ๑๐ ให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งสภาการพยาบาลและมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

 

หมวด ๒

สมาชิก

 

 

มาตรา ๑๑ สภาการพยาบาลประกอบด้วยสมาชิก ๒ ประเภท คือ

(๑) สมาชิกสามัญ ได้แก่ผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(ก) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์

(ข) มีความรู้ในวิชาชีพการพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ โดยได้รับปริญญาประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญา หรือประกาศนียบัตรสาขาการพยาบาล การผดุงครรภ์หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ที่สภาการพยาบาลรับรอง

(ค) ไม่เป็นผู้ประพฤติเสียหาย ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

(ง) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้จำคุกในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

(จ) ไม่เป็นผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือไม่เป็นโรคที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสภาการพยาบาล

(๒) สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งสภาการพยาบาลเชิญให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์

 

มาตรา ๑๒ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสามัญมีดังต่อไปนี้

(๑) ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และขอหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตรเกี่ยวกับความรู้หรือความชำนาญเฉพาะทาง หรือหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์โดยปฏิบัติตามข้อบังคับสภาการพยาบาลว่าด้วยการนั้น

(๒) แสดงความเห็นเป็นหนังสือเกี่ยวกับกิจการของสภาการพยาบาลส่งไปยังคณะกรรมการเพื่อพิจารณา และในกรณีที่สมาชิกสามัญร่วมกันตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไปเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการของสภาการพยาบาล คณะกรรมการต้องพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้เสนอทราบโดยมิชักช้า

(๓) เลือกตั้ง รับเลือกตั้งหรือรับเลือกเป็นกรรมการ

(๔) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพและปฏิบัติตนตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๑๓ สมาชิกภาพของสมาชิกสามัญสิ้นสุดลง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๑ (๑)

 

หมวด ๓

คณะกรรมการ

 

 

มาตรา ๑๔ ให้มีคณะกรรมการสภาการพยาบาล ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขห้าคน ผู้แทนกระทรวงกลาโหมสามคน ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยหนึ่งคน ผู้แทนทบวงมหาวิทยาลัยสี่คน ผู้แทนกรุเทพมหานครหนึ่งคน ผู้แทนสภากาชาดไทยหนึ่งคน นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมาชิกสามัญสภาการพยาบาลอีกสิบหกคนซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยสมาชิกสามัญของสภาการพยาบาล เป็นกรรมการ และให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ

 

มาตรา ๑๕ คณะกรรมการอาจแต่งตั้งสมาชิกกิตติมศักดิ์หรือสมาชิกสามัญเป็นกรรมการที่ปรึกษาได้ ทั้งนี้ จำนวนกรรมการที่ปรึกษาต้องไม่เกินหนึ่งในสี่ของคณะกรรมการ

ให้กรรมการที่ปรึกษาดำรงตำแหน่งตามวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง

 

มาตรา ๑๖ ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งนายกสภาการพยาบาล อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่หนึ่ง และอุปนายกสภาการพยาบาลคนที่สองตำแหน่งละหนึ่งคน

ให้นายกสภาการพยาบาลเลือกสมาชิกสามัญผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๘ เพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการหนึ่งคน และเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ประชาสัมพันธ์และเหรัญญิกตำแหน่งละหนึ่งคน ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

ให้กรรมการผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ดำรงตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการให้ดำรงตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้ง

ให้นายกสภาการพยาบาลมีอำนาจถอดถอนเลขาธิการก่อนครบวาระตามวรรคสามได้ ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

กรรมการซึ่งดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรานี้แต่ละตำแหน่ง อาจพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวก่อนครบวาระได้โดยอนุมัติของคณะกรรมการ

 

มาตรา ๑๗ การเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๔ การแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษาตามมาตรา ๑๕ และการเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามมาตรา ๑๖ ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาการพยาบาล

 

มาตรา ๑๘ กรรมการนอกจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกรรมการที่ปรึกษาต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์

(๒) ไม่เคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต

(๓) ไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลาย

 

มาตรา ๑๙ ให้กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งและรับเลือกตั้งมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งหรือรับเลือกตั้งใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองคราวติดต่อกันไม่ได้

 

มาตรา ๒๐ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งและรับเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๓

(๒) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๘

(๓) ลาออก

 

มาตรา ๒๑ ในกรณีตำแหน่งกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งว่างลงไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการดังกล่าวทั้งหมดก่อนครบวาระ ให้คณะกรรมการเลือกสมาชิกสามัญผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๘ เป็นกรรมการแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งกรรมการนั้นว่างลง

ในกรณีตำแหน่งกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งว่างลงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการดังกล่าวทั้งหมด ให้สมาชิกสามัญเลือกตั้งกรรมการขึ้นแทนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งกรรมการดังกล่าวได้ว่างลงเกินกึ่งหนึ่ง

ถ้าวาระของกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน คณะกรรมการจะไม่ให้มีการเลือกกรรมการแทนก็ได้

ให้ผู้ซึ่งเป็นกรรมการแทนนั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่ยังเหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน

 

มาตรา ๒๒ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) บริหารกิจการสภาการพยาบาลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดตามมาตรา ๗

(๒) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจริยธรรม คณะอนุกรรมการสอบสวน และคณะอนุกรรมการอื่น เพื่อทำกิจการหรือพิจารณาเรื่องต่าง ๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของสภาการพยาบาล

(๓) ออกข้อบังคับสภาการพยาบาลว่าด้วย

(ก) การเป็นสมาชิก

(ข) การกำหนดโรคตามมาตรา ๑๑ (๑) (จ)

(ค) การกำหนดค่าจดทะเบียนสมาชิกสามัญ ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้

(ง) การเลือกและการเลือกตั้งกรรมการ และการแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษาตามมาตรา ๑๗

(จ) หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนและการออกใบอนุญาตแบบและประเภทใบอนุญาต

(ฉ) หลักเกณฑ์การออกหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตรเกี่ยวกับความรู้หรือความชำนาญเฉพาะทาง และหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์

(ช) ข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์

(ซ) การรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์

(ฌ) การประชุมคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ

(ญ) หลักเกณฑ์การรับรองสถาบันการศึกษาวิชาการพยาบาลและการผดุงครรภ์

(ฎ) หลักเกณฑ์ว่าด้วยการสอบความรู้ตามอำนาจหน้าที่ของสภาการพยาบาล

(ฏ) หลักเกณฑ์ว่าด้วยการสืบสวนหรือสอบสวนในกรณีมีการกล่าวหาหรือกล่าวโทษว่ามีผู้ประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์

(ฐ) เรื่องอื่น ๆ ที่อยู่ภายในวัตถุประสงค์ของสภาการพยาบาล หรืออยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของสภาการพยาบาลตามกฎหมายอื่น

ข้อบังคับสภาการพยาบาล เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

มาตรา ๒๓ นายกสภาการพยาบาล อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่หนึ่ง อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่สอง เลขาธิการ รองเลขาธิการ ประชาสัมพันธ์และเหรัญญิก มีอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) นายกสภาการพยาบาลมีอำนาจหน้าที่

(ก) ดำเนินกิจการของสภาการพยาบาลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามมติของคณะกรรมการ

(ข) เป็นผู้แทนสภาการพยาบาลในกิจการต่าง ๆ

(ค) เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ

นายกสภาการพยาบาลอาจมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการอื่นปฏิบัติหน้าที่แทนตามที่เห็นสมควรได้

(๒) อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่หนึ่งเป็นผู้ช่วยนายกสภาการพยาบาลในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสภาการพยาบาลตามที่นายกสภาการพยาบาลมอบหมายและเป็นผู้ทำการแทนนายกสภาการพยาบาลเมื่อนายกสภาการพยาบาลไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

(๓) อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่สองเป็นผู้ช่วยนายกสภาการพยาบาลในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสภาการพยาบาลตามที่นายกสภาการพยาบาลมอบหมายและเป็นผู้ทำการแทนนายกสภาการพยาบาลเมื่อทั้งนายกสภาการพยาบาลและอุปนายกสภาการพยาบาลคนที่หนึ่งไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

(๔) เลขาธิการมีอำนาจหน้าที่

(ก) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่สภาการพยาบาลทุกระดับ

(ข) ควบคุมรับผิดชอบในงานธุรการทั่วไปของสภาการพยาบาล

(ค) รับผิดชอบในการดูแลรักษาทะเบียนสมาชิก ทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และทะเบียนอื่น ๆ

(ง) ควบคุม ดูแลทรัพย์สินของสภาการพยาบาล

(จ) เป็นเลขานุการคณะกรรมการ

(๕) รองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยเลขาธิการในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการตามที่เลขาธิการมอบหมาย และเป็นผู้ทำการแทนเลขาธิการเมื่อเลขาธิการไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

(๖) ประชาสัมพันธ์มีหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ แนะนำ เผยแพร่กิจการของสภาการพยาบาล และให้การศึกษาแก่ประชาชน และองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการพยาบาลการผดุงครรภ์ และการสาธารณสุข

(๗) เหรัญญิกมีอำนาจหน้าที่ควบคุม ดูแล รับผิดชอบการบัญชี การเงินและการงบประมาณของสภาการพยาบาล

 

หมวด ๔

การดำเนินการของคณะกรรมการ

 

 

มาตรา ๒๔ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

มติของที่ประชุมในกรณีให้สมาชิกสามัญพ้นจากสมาชิกภาพเนื่องจากขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๑ (๑) (ค) (ง) และ (จ) ให้ถือคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะ

การประชุมคณะอนุกรรมการ ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๒๕ สภานายกพิเศษจะเข้าฟังการประชุมและชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการ หรือจะส่งความเห็นเป็นหนังสือไปยังคณะกรรมการในเรื่องใด ๆ ก็ได้

 

มาตรา ๒๖ มติของที่ประชุมคณะกรรมการในเรื่องต่อไปนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษก่อน จึงจะดำเนินการตามมตินั้นได้

(๑) การออกข้อบังคับ

(๒) การกำหนดงบประมาณของสภาการพยาบาล

(๓) การให้สมาชิกสามัญพ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๒๔ วรรคสาม

(๔) การวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๔๑ วรรคสาม (๔) และ (๕)

ให้นายกสภาการพยาบาลเสนอมติตามวรรคหนึ่งต่อสภานายกพิเศษโดยไม่ชักช้า สภานายกพิเศษอาจมีคำสั่งยับยั้งมตินั้นได้ ในกรณีที่มิได้ยับยั้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับมติที่นายกสภาการพยาบาลเสนอ ให้ถือว่าสภานายกพิเศษให้ความเห็นชอบมตินั้น

ถ้าสภานายกพิเศษยับยั้งมติใด ให้คณะกรรมการประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่งภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับทราบการยับยั้ง ในการประชุมนั้น ถ้ามีเสียงยืนยันมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะ ก็ให้ดำเนินการตามมตินั้นได้

 

หมวด ๕

การควบคุมการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์

 

 

มาตรา ๒๗ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล หรือมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ หรือมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์กระทำการพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ หรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต เว้นแต่ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) การพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ที่กระทำต่อตนเอง

(๒) การช่วยเหลือหรือเยียวยาแก่ผู้ป่วยตามหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามธรรมจรรยาโดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน แต่การกระทำดังกล่าวต้องมิใช่เป็นการฉีดยาหรือสารใด ๆ เข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย หรือการให้ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือยาเสพติดให้โทษ ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

(๓) นักเรียน นักศึกษา หรือผู้รับการฝึกอบรม ในความควบคุมของสถาบันการศึกษาวิชาการพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ของรัฐ หรือที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้จัดตั้ง หรือสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการรับรอง ทั้งนี้ ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ผู้ฝึกหัดหรือผู้ให้การฝึกอบรมซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์

(๔) บุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือสภากาชาดไทย มอบหมายให้กระทำการพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

(๕) ผู้ประกอบโรคศิลปะ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามข้อจำกัดและเงื่อนไขตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพนั้น

(๖) การพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ของที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญของทางราชการ หรือผู้สอนในสถาบันการศึกษา ซึ่งมีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ของต่างประเทศ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภาการพยาบาล

(๗) บุคคลซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ในกรณีที่มีสาธารณภัยหรือเกิดภัยพิบัติอย่างร้ายแรง

(๘) บุคคลซึ่งช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยในสถานพยาบาลในความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ตามระเบียบซึ่งรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๒๘ การขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตรเกี่ยวกับความรู้หรือความชำนาญเฉพาะทาง และหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาการพยาบาล

 

มาตรา ๒๙ การขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แบ่งเป็นสามประเภท คือ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ และผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์

ผู้ประกอบวิชาชีพในแต่ละประเภทตามวรรคหนึ่งให้แบ่งเป็นสองชั้น คือ ชั้นหนึ่ง และชั้นสอง

ใบอนุญาตทุกประเภทให้มีอายุห้าปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

 

มาตรา ๓๐ ผู้มีสิทธิขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพตามมาตรา ๒๙ ต้องมีความรู้ดังนี้

(๑) ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง ต้อง

(ก) ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาในสาขาการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยที่คณะกรรมการรับรองและสอบความรู้แล้ว หรือ

(ข) ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาในสาขาการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศและได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพในประเทศที่ตนได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรซึ่งคณะกรรมการได้ตรวจสอบหลักฐานการศึกษาและสอบความรู้แล้ว แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยไม่ต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพในประเทศที่ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรก็ได้

(๒) ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นสอง ต้อง

(ก) ได้รับประกาศนียบัตรในสาขาการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ระดับต้น จากสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ที่คณะกรรมการรับรองและสอบความรู้แล้ว หรือ

(ข) ได้รับประกาศนียบัตรในสาขาการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศและได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพในประเทศที่ตนได้รับประกาศนียบัตร ซึ่งคณะกรรมการได้ตรวจสอบหลักฐานการศึกษาและสอบความรู้แล้ว แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยไม่ต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพในประเทศที่ผู้นั้นได้รับประกาศนียบัตรก็ได้

 

มาตรา ๓๑ ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตต้องเป็นสมาชิกสามัญแห่งสภาการพยาบาลและมีคุณสมบัติอื่นตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสภาการพยาบาล

เมื่อผู้ประกอบผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ผู้ใดขาดจากสมาชิกภาพ ให้ใบอนุญาตของผู้นั้นสิ้นสุดลง

ให้ผู้ซึ่งขาดจากสมาชิกภาพตามวรรคสองส่งคืนใบอนุญาตต่อเลขาธิการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบการขาดจากสมาชิกภาพ

 

มาตรา ๓๒ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ต้องรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับสภาการพยาบาล

 

มาตรา ๓๓ บุคคลผู้ซึ่งได้รับความเสียหายเพราะผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพการการพยาบาลและการผดุงครรภ์ มีสิทธิกล่าวหาผู้ก่อให้เกิดความเสียหายนั้น โดยทำเรื่องยื่นต่อสภาการพยาบาล

กรรมการมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ว่าประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์โดยแจ้งเรื่องต่อสภาการพยาบาล

สิทธิการกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง หรือสิทธิการกล่าวโทษตามวรรคสองสิ้นสุดลงเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้กล่าวโทษรู้เรื่องการประพฤติผิดจริยธรรมวิชาชีพดังกล่าวและรู้ตัวผู้ประพฤติผิด ทั้งนี้ ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่มีการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพนั้น

การถอนเรื่องการกล่าวหาหรือการกล่าวโทษที่ได้ยื่นหรือแจ้งไว้แล้วนั้น ไม่เป็นเหตุให้ระงับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๓๔ เมื่อสภาการพยาบาลได้รับเรื่องการกล่าวหาหรือการกล่าวโทษตามมาตรา ๓๓ หรือในกรณีที่คณะกรรมการมีมติว่ามีพฤติการณ์อันสมควรให้มีการพิจารณาเกี่ยวกับจริยธรรมแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ผู้ใด ให้เลขาธิการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อประธานอนุกรรมการจริยธรรมโดยไม่ชักช้า

 

มาตรา ๓๕ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจริยธรรมจากสมาชิกสามัญประกอบด้วยประธานคนหนึ่ง และอนุกรรมการมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าสามคนมีหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องที่ได้รับตามมาตรา ๓๔ แล้วทำรายงานพร้อมทั้งความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา

 

มาตรา ๓๖ เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานและความเห็นของคณะอนุกรรมการจริยธรรมแล้ว ให้คณะกรรมการพิจารณารายงานและความเห็นดังกล่าว แล้วมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) ให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา

(๒) ให้คณะอนุกรรมการสอบสวนทำการสอบสวน ในกรณีที่เห็นว่าข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษนั้นมีมูล

(๓) ให้ยกข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษ ในกรณีที่เห็นว่าข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษนั้นไม่มีมูล

 

มาตรา ๓๗ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนจากสมาชิกสามัญ ประกอบด้วยประธานคนหนึ่ง และอนุกรรมการมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าสามคนมีหน้าที่สอบสวนสรุปผลการสอบสวนและเสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด

 

มาตรา ๓๘ ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการจริยธรรมและของคณะอนุกรรมการสอบสวนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อนุกรรมการจริยธรรมและอนุกรรมการสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มีอำนาจเรียกบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำและมีหนังสือแจ้งให้บุคคลใดๆ ส่งเอกสารหรือวัตถุ เพื่อประโยชน์แก่การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการดังกล่าว

 

มาตรา ๓๙ ให้ประธานอนุกรรมการสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษพร้อมทั้งส่งสำเนาเรื่องที่กล่าวหาหรือกล่าวโทษ ให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันเริ่มทำการสอบสวน

ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษมีสิทธิทำคำชี้แจงหรือนำพยานหลักฐานใดๆมาให้คณะอนุกรรมการสอบสวน คำชี้แจงหรือพยานหลักฐานนั้น ให้ยื่นต่อประธานอนุกรรมการสอบสวนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากประธานอนุกรรมการสอบสวน หรือภายในกำหนดเวลาที่คณะอนุกรรมการสอบสวนจะขยายให้

 

มาตรา ๔๐ เมื่อคณะอนุกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วให้เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นต่อคณะกรรมการโดยไม่ชักช้าเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด

 

มาตรา ๔๑ เมื่อคณะกรรมการได้รับสำนวนการสอบสวนและความเห็นของคณะอนุกรรมการสอบสวนแล้ว ให้คณะกรรมการพิจารณาสำนวนการสอบสวนและความเห็นดังกล่าว

คณะกรรมการอาจให้คณะอนุกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมก่อนวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้

คณะกรรมการมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) ยกข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษ

(๒) ว่ากล่าวตักเตือน

(๓) ภาคทัณฑ์

(๔) พักใช้ใบอนุญาตหรือมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินสองปี

(๕) เพิกถอนใบอนุญาต

ภายใต้บังคับมาตรา ๒๖ คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการตามมาตรานี้ให้ทำเป็นคำสั่งสภาการพยาบาล และให้ถือเป็นที่สุด

 

มาตรา ๔๒ ให้เลขาธิการแจ้งคำสั่งสภาการพยาบาลตามมาตรา ๔๑ ไปยังผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้บันทึกข้อความตามคำสั่งนั้นไว้ในทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ด้วย

 

มาตรา ๔๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๗ ห้ามมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลการผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพดังกล่าวหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว นับแต่วันที่ทราบคำสั่งสภาการพยาบาลที่สั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้น

 

มาตรา ๔๔ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตผู้ใด กระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ และถูกลงโทษจำคุกตามมาตรา ๔๖ โดยคำพิพากษาถึงที่สุด ให้คณะกรรมการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้นั้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด

 

มาตรา ๔๕ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตอาจขอรับใบอนุญาตอีกได้เมื่อพ้นสองปีนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ถ้าคณะกรรมการได้พิจารณาคำขอรับใบอนุญาตและปฏิเสธการออกใบอนุญาต ผู้นั้นจะยื่นคำขอรับใบอนุญาตได้อีกต่อเมื่อสิ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการปฏิเสธการออกใบอนุญาต ถ้าคณะกรรมการปฏิเสธออกใบอนุญาตเป็นครั้งที่สองแล้ว ผู้นั้นเป็นอันหมดสิทธิขอรับใบอนุญาตอีกต่อไป

 

หมวด ๕ ทวิ

พนักงานเจ้าหน้าที่

 

 

มาตรา ๔๕ ทวิ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ต่อไปนี้ เพื่อตรวจสอบใบอนุญาต ค้นหรือยึดเอกสารหลักฐาน หรือสิ่งของที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาหรือดำเนินคดี ระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือเวลาที่ทำการของสถานที่ดังกล่าว

(๑) สถานที่ประกอบการที่มีผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ปฏิบัติงานอยู่

(๒) สถานที่ที่มีเหตุสมควรเชื่อว่ามีการประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์

(๓) สถานที่ที่ทำการสอนหรือเชื่อว่าทำการสอนวิชาชีพการพยาบาลการผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์

 

มาตรา ๔๕ ตรี ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่แก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๔๕ จัตวา ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

 

มาตรา ๔๕ เบญจ ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ผู้รับผิดชอบหรือปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ตามมาตรา ๔๕ ทวิ อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่

 

หมวด ๖

บทกำหนดโทษ

 

 

มาตรา ๔๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ หรือมาตรา ๔๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๔๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

 

มาตรา ๔๘ ผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำ หรือไม่ส่งเอกสารหรือวัตถุใด ๆ ตามที่เรียกหรือแจ้งให้ส่งตามมาตรา ๓๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๔๘ ทวิ ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามความในมาตรา ๔๕ เบญจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

บทเฉพาะกาล

 

 

มาตรา ๔๙ ผู้ใดได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาการพยาบาล สาขาการผดุงครรภ์ หรือสาขาการพยาบาลและผดุงครรภ์ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นสมาชิกสามัญของสภาการพยาบาลตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕๐ ผู้ใดได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน ในสาขาการพยาบาล สาขาการผดุงครรภ์ หรือสาขาการพยาบาลและผดุงครรภ์ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ และใบอนุญาตนั้นยังคงใช้ได้ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ถือว่าผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพในประเภทและชั้น แล้วแต่กรณี ตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕๑ ในระยะเริ่มแรกที่ยังมิได้เลือกตั้งสมาชิกสามัญของสภาการพยาบาลเป็นกรรมการ ให้คณะกรรมการประกอบด้วยปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นนายกสภาการพยาบาล และผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๑๔ เป็นกรรมการ การแต่งตั้งดังกล่าวจะต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเลือกผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตามมาตรา ๑๔ ให้ทำหน้าที่เลขาธิการ รองเลขาธิการ และเหรัญญิก ตำแหน่งละหนึ่งคน ทั้งนี้ จนกว่าจะได้เลือกตั้งสมาชิกสามัญของสภาการพยาบาลเป็นกรรมการแล้วเสร็จ

การเลือกตั้งสมาชิกสามัญของสภาการพยาบาลเป็นกรรมการ ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

มาตรา ๕๒ ในระหว่างที่ยังมิได้ออกระเบียบหรือข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะในส่วนที่เกี่ยวกับวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ป. ติณสูลานนท์

นายกรัฐมนตรี

 

 

อัตราค่าธรรมเนียม

 

 

(๑) ค่าขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ

การพยาบาลชั้นหนึ่ง                                             ฉบับละ        ๓,๐๐๐     บาท

(๒) ค่าขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ

การผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง                                           ฉบับละ      ๓,๐๐๐     บาท

(๓) ค่าขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ

การพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง                              ฉบับละ      ๓,๐๐๐     บาท

(๔) ค่าขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ

การพยาบาลชั้นสอง                                             ฉบับละ      ๒,๔๐๐     บาท

(๕) ค่าขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ

การผดุงครรภ์ชั้นสอง                                           ฉบับละ      ๒,๔๐๐     บาท

(๖) ค่าขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ

การการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นสอง                     ฉบับละ      ๒,๔๐๐     บาท

(๗) ค่าหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตรเกี่ยวกับความรู้และ

ความชำนาญเฉพาะทาง หนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพการพยาบาล

การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์           ฉบับละ      ๒,๔๐๐     บาท

(๘) ค่าหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ

การพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและ

การผดุงครรภ์                                                                ฉบับละ      ๑,๘๐๐     บาท

(๙) ค่าใบแทนใบอนุญาต และค่าใบแทนเอกสาร

ตาม (๗)                                                             ฉบับละ ๑,๘๐๐     บาท

 

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาการพยาบาลและการผดุงครรภ์อยู่ในความควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งมีคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะทำหน้าที่ควบคุมทั้งการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาทันตกรรม เภสัชกรรม การพยาบาลการผดุงครรภ์ กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ และการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณในสาขาเวชกรรม เภสัชกรรม การผดุงครรภ์ และในปัจจุบันมีผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาการพยาบาลและการผดุงครรภ์เป็นจำนวนมาก สมควรแยกการควบคุมการประกอบวิชาชีพดังกล่าวออกจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะโดยจัดตั้งสภาการพยาบาลขึ้น ประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าว และผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยผู้ประกอบวิชาชีพด้วยกันเอง เป็นกรรมการ เพื่อความคล่องตัวในการทำหน้าที่ควบคุมและส่งเสริมมาตรฐานการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์โดยอิสระเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐

 

มาตรา ๒๐ ให้คณะกรรมการสภาการพยาบาลตามมาตรา ๑๔ และกรรมการที่ปรึกษาตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. ๒๕๒๘

 

มาตรา ๒๑ ให้ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาการพยาบาล สาขาการผดุงครรภ์ และสาขาการพยาบาลและผดุงครรภ์ ที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙ หรือใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. ๒๕๒๘ ที่ยังมีผลอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับมีอายุต่อไปอีกห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

มาตรา ๒๒ ผู้ที่ได้รับอนุปริญญาที่มีหลักสูตรการศึกษาไม่น้อยกว่าสามปี หรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าอนุปริญญาในสาขาการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มีสิทธิขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ได้ ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาหลักสูตรและสอบความรู้แล้ว

 

มาตรา ๒๓ ให้ยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. ๒๕๒๘ และให้ใช้อัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ขอบเขตของการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ตามกฎหมายขณะนี้ยังไม่สอดคล้องกับความหมายที่แท้จริงทางวิชาการ และบทบัญญัติอื่นบางประการยังไม่เหมาะสม กล่าวคือ ไม่มีการกำหนดอายุของใบอนุญาต ไม่มีพนักงานเจ้าหน้าที่เฉพาะเพื่อปฏิบัติงานโดยตรงในการใช้บังคับกฎหมาย และไม่มีบทบังคับให้มีการสอบความรู้ในการขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล และการผดุงครรภ์ นอกจากนั้นสมควรขยายบทบาทของสภาการพยาบาล โดยปรับปรุงอำนาจหน้าที่องค์ประกอบของสมาชิก คณะกรรมการ และกรรมการที่ปรึกษาของสภาพยาบาลและปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมแก่ภาวะกาลปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 
ป้ายโฆษณา

รับติดตั้งจานดาวเที่ยม กล้องวงจรปิด

เนื้อโคขุนโพนยางคำ

Login Form


Polls

ปกติใช้คอมพิวเตอร์ for ?
 

Who's Online

เรามี 4 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

Counter

จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 2525914

RSS