Home พระราชบัญญัติ ต่าง พรบ.สถาปนิก พ.ศ.2543

พรบ.สถาปนิก พ.ศ.2543

อีเมล พิมพ์ PDF

พระราชบัญญัติ

สถาปนิก

พ.ศ. ๒๕๔๓

 

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓

เป็นปีที่ ๕๕ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพสถาปัตยกรรม

 

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๙ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. ๒๕๔๓”

 

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน

ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘

 

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

“วิชาชีพสถาปัตยกรรม” หมายความว่า วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมในสาขาสถาปัตยกรรมหลัก สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม สาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ และสาขาสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

“วิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม” หมายความว่า วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่กำหนดในกฎกระทรวง

“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามพระราชบัญญัตินี้

“ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมจากสภาสถาปนิก

“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภาสถาปนิก

“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการสภาสถาปนิก

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสภาสถาปนิก

“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสภาสถาปนิก

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า บุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

หมวด ๑

สภาสถาปนิก

 

 

มาตรา ๖ ให้มีสภาสถาปนิก มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

ให้สภาสถาปนิกเป็นนิติบุคคล

 

มาตรา ๗ สภาสถาปนิกมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(๑) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม

(๒) ส่งเสริมความสามัคคีและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของสมาชิก

(๓) ส่งเสริมสวัสดิการและผดุงเกียรติของสมาชิก

(๔) ควบคุมความประพฤติและการดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมให้ถูกต้องตามมาตรฐานและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม

(๕) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้บริการทางด้านวิชาการต่างๆ แก่ประชาชน และองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาการและเทคโนโลยีทางสถาปัตยกรรม

(๖) ให้คำปรึกษา หรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายและปัญหาด้านสถาปัตยกรรมรวมทั้งด้านเทคโนโลยี

(๗) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมของประเทศไทย

(๘) ดำเนินการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๘ สภาสถาปนิกมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

(๒) พักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต

(๓) รับรองปริญญา อนุปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

(๔) รับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

(๕) เสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดและการเลิกสาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

(๖) ออกข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วย

(ก) การกำหนดลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒ (๖)

(ข) การรับสมัครเป็นสมาชิก ค่าจดทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากสมาชิกหรือบุคคลภายนอก

(ค) การเลือกและการเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๓๒

(ง) การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาตการเพิกถอนใบอนุญาตและการรับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

(จ) คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของผู้ตรวจตามมาตรา ๒๐ วรรคสอง

(ฉ) หลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตแต่ละระดับตามมาตรา ๔๖

(ช) คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๔๙

(ซ) จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม และการประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

(ฌ) มาตรฐานในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

(ญ) การประชุมของที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิก

(ฎ) การใดๆ ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

ข้อบังคับสภาสถาปนิกนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษ และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

(๗) ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาสถาปนิก

 

มาตรา ๙ สภาสถาปนิกอาจมีรายได้ดังนี้

(๑) ค่าจดทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน

(๓) ผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินและการดำเนินกิจการของสภาสถาปนิก

(๔) เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้ให้แก่สภาสถาปนิก

(๕) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔)

 

มาตรา ๑๐ ให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งสภาสถาปนิกและมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

 

หมวด ๒

สมาชิก

 

 

มาตรา ๑๑ สมาชิกสภาสถาปนิกมีสามประเภทดังนี้

(๑) สมาชิกสามัญ

(๒) สมาชิกวิสามัญ

(๓) สมาชิกกิตติมศักดิ์

 

มาตรา ๑๒ สมาชิกสามัญต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์

(๒) มีสัญชาติไทย

(๓) มีความรู้ในวิชาชีพสถาปัตยกรรมโดยได้รับปริญญา อนุปริญญาประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรในวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่สภาสถาปนิกรับรอง

(๔) ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

(๕) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีที่เป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณ อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

(๖) ไม่เป็นผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือไม่เป็นโรคที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

สมาชิกวิสามัญต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตยกรรมและมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิกแต่งตั้ง

 

มาตรา ๑๓ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสามัญมีดังต่อไปนี้

(๑) แสดงความคิดเห็นในการประชุมใหญ่สภาสถาปนิก

(๒) ออกเสียงลงคะแนนในการประชุมใหญ่สภาสถาปนิก

(๓) แสดงความเห็นและซักถามเป็นหนังสือเกี่ยวกับกิจการของสภาสถาปนิกต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา และในกรณีที่สมาชิกร่วมกันตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป เสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องใดที่เกี่ยวกับกิจการของสภาสถาปนิก คณะกรรมการต้องพิจารณา และแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้เสนอทราบโดยมิชักช้า

(๔) เลือก รับเลือกตั้ง หรือรับแต่งตั้งเป็นกรรมการ

(๕) ชำระค่าจดทะเบียนสมาชิกและค่าบำรุงตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

(๖) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพและปฏิบัติตนตามพระราชบัญญัตินี้

สมาชิกวิสามัญ หรือสมาชิกกิตติมศักดิ์ให้มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับสมาชิกสามัญ เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ตาม (๒) และ (๔)

 

มาตรา ๑๔ สมาชิกภาพของสมาชิกย่อมสิ้นสุดเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) คณะกรรมการมีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ เพราะขาดคุณสมบัติตามมาตรา๑๒ สำหรับกรณีสมาชิกสามัญและสมาชิกวิสามัญ แล้วแต่กรณี

(๔) ที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิกมีมติเพิกถอนการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์

(๕) ไม่ชำระค่าจดทะเบียนสมาชิกหรือค่าบำรุง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

(๖) สภาสถาปนิกมีมติเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๖๔

 

มาตรา ๑๕ ให้มีการประชุมสมาชิกเป็นการประชุมใหญ่สามัญปีละหนึ่งครั้ง

การประชุมใหญ่คราวอื่นนอกจากนี้เรียกว่า การประชุมใหญ่วิสามัญ

 

มาตรา ๑๖ ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่ตามที่จำเป็น

สมาชิกสามัญอาจขอให้ประชุมใหญ่วิสามัญได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก ในการนี้ คณะกรรมการต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันรับคำร้องขอ

 

มาตรา ๑๗ ในการประชุมใหญ่สภาสถาปนิก ถ้าสมาชิกสามัญมาประชุมไม่ครบจำนวนหนึ่งร้อยคนและการประชุมใหญ่นั้นได้เรียกตามคำร้องขอของสมาชิกก็ให้งดประชุม แต่ถ้าเป็นการประชุมใหญ่ที่สมาชิกมิได้เป็นผู้ร้องขอ ให้เลื่อนการประชุมนั้นออกไป โดยให้นายกสภาสถาปนิกเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งภายในสี่สิบห้าวัน

 

มาตรา ๑๘ ในการประชุมใหญ่สภาสถาปนิก ให้นายกสภาสถาปนิกเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่นายกสภาสถาปนิกไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อุปนายกสภาสถาปนิกผู้ทำการแทนตามมาตรา ๓๔ เป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสภาสถาปนิกและอุปนายกสภาสถาปนิกไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้สมาชิกที่มาประชุมเลือกสมาชิกคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

 

มาตรา ๑๙ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี กิจการอันพึงกระทำได้แก่

(๑)  ให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานประจำปีของคณะกรรมการ

(๒) พิจารณาและอนุมัติงบดุลประจำปีของสภาสถาปนิก

(๓) ตั้งผู้สอบบัญชีและกำหนดค่าตอบแทนผู้สอบบัญชี

 

มาตรา ๒๐ ให้มีผู้ตรวจคนหนึ่งหรือหลายคนตามที่ที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิกแต่งตั้งจากสมาชิกหรือบุคคลภายนอก

คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากการดำรงตำแหน่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

ผู้ตรวจมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการแล้วทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิก

 

มาตรา ๒๑ ในการตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการ ให้ผู้ตรวจมีอำนาจเข้าไปตรวจในสถานที่ทำการงานต่างๆ ของสภาสถาปนิกในระหว่างเวลาทำงานได้และให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ หรือให้คำชี้แจงแก่ผู้ตรวจตามควรแก่กรณี

 

มาตรา ๒๒ กรรมการ อนุกรรมการ เจ้าหน้าที่สภาสถาปนิก ลูกจ้าง และตัวแทนของสภาสถาปนิกมีหน้าที่ส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ ซึ่งตนเก็บรักษาหรืออยู่ในอำนาจของตนให้แก่ผู้ตรวจ และให้คำชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินงานต่างๆ ในกิจการของสภาสถาปนิก ทั้งนี้ เมื่อผู้ตรวจร้องขอ

 

มาตรา ๒๓ ในกรณีที่พบว่าคณะกรรมการมิได้ดำเนินงานตามแผนการดำเนินงานประจำปีหรือดำเนินงานไปในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือขัดต่อวัตถุประสงค์ของสภาสถาปนิก ให้ผู้ตรวจแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิกหรือสมาชิกสามัญตามที่ตนเห็นสมควรเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

 

หมวด ๓

คณะกรรมการ

 

 

มาตรา ๒๔ ให้มีคณะกรรมการสภาสถาปนิกประกอบด้วย

(๑) กรรมการซึ่งสมาชิกสามัญเลือกตั้งขึ้นจากสมาชิกสามัญ และมิได้ดำรงตำแหน่งคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญา จำนวนสิบคน

(๒) กรรมการซึ่งสมาชิกสามัญเลือกตั้งขึ้นจากสมาชิกสามัญ และดำรงตำแหน่งคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญา จำนวนห้าคน

(๓) กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากสมาชิกสามัญโดยการเสนอชื่อของรัฐมนตรี จำนวนห้าคน

ในการเลือกตั้งและแต่งตั้งกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงสัดส่วนของสมาชิกสามัญจากสาขาสถาปัตยกรรมควบคุมต่างๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสม

 

มาตรา ๒๕ เมื่อได้มีการแต่งตั้งกรรมการและทราบผลการเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๒๔ แล้ว ให้สภานายกพิเศษกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการภายในสามสิบวัน และให้ถือว่าวันประชุมดังกล่าวเป็นวันเริ่มวาระของการอยู่ในตำแหน่งกรรมการ

 

มาตรา ๒๖ ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาปนิก อุปนายกสภาสถาปนิกคนที่หนึ่ง และอุปนายกสภาสถาปนิกคนที่สองตำแหน่งละหนึ่งคน

ให้นายกสภาสถาปนิกเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการ เหรัญญิกตำแหน่งละหนึ่งคนและอาจเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งอื่นได้ตามความจำเป็น ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

ให้นายกสภาสถาปนิกมีอำนาจถอดถอนเลขาธิการ เหรัญญิก และตำแหน่งอื่นตามวรรคสองออกจากตำแหน่งได้ ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

นายกสภาสถาปนิก อุปนายกสภาสถาปนิกคนที่หนึ่ง และอุปนายกสภาสถาปนิกคนที่สอง ให้ดำรงตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้ง

เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาปนิกพ้นจากหน้าที่ ให้เลขาธิการ เหรัญญิกและผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามวรรคสองพ้นจากตำแหน่งด้วย

 

มาตรา ๒๗ กรรมการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(๑) เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตระดับสามัญสถาปนิกมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปีหรือระดับวุฒิสถาปนิก

(๒) ไม่เคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต

(๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

 

มาตรา ๒๘ กรรมการให้มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งจะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการใหม่

 

มาตรา ๒๙ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๔

(๒) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๒๗

(๓) ลาออก

(๔) สภาสถาปนิกมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม

(๕) ตำแหน่งกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งว่างลงรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งทั้งหมดและวาระของกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน

(๖) รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๖๙

 

มาตรา ๓๐ เมื่อตำแหน่งกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งว่างลงก่อนครบวาระให้คณะกรรมการเลือกสมาชิกผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๔ (๑) หรือ (๒) แล้วแต่กรณี เป็นกรรมการแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งกรรมการนั้นว่างลง แต่ถ้าวาระของกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวันคณะกรรมการจะให้มีการเลือกกรรมการแทนหรือไม่ก็ได้

ในกรณีตำแหน่งกรรมการตามวรรคหนึ่งว่างลงรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งทั้งหมดและวาระของกรรมการเหลืออยู่ตั้งแต่เก้าสิบวันขึ้นไปให้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งกรรมการขึ้นแทนตำแหน่งกรรมการที่ว่าง

ให้ผู้ซึ่งได้รับเลือกหรือเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

 

มาตรา ๓๑ เมื่อตำแหน่งกรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๒๔ (๓) ว่างลงก่อนครบวาระให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งกรรมการนั้นว่างลง แต่ถ้าวาระของกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวันจะมีการแต่งตั้งแทนหรือไม่ก็ได้

ให้ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

 

มาตรา ๓๒ การเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๒๔ (๑) และ (๒) การเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามมาตรา ๒๖ และการเลือกหรือการเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๓๐ ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาสถาปนิก

 

มาตรา ๓๓ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) บริหารและดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และข้อบังคับของสภาสถาปนิก

(๒) สอดส่องดูแลและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้

(๓) ออกระเบียบคณะกรรมการว่าด้วยการใดๆ ตามที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิกมอบหมาย

(๔) กำหนดแผนการดำเนินงานและงบประมาณของสภาสถาปนิก

(๕) วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการจรรยาบรรณตามมาตรา ๖๒

 

มาตรา ๓๔ นายกสภาสถาปนิก อุปนายกสภาสถาปนิกคนที่หนึ่ง อุปนายกสภาสถาปนิกคนที่สอง เลขาธิการ และเหรัญญิกมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) นายกสภาสถาปนิกมีอำนาจหน้าที่

(ก) เป็นผู้แทนสภาสถาปนิกในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก

(ข) เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ และที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิก

(ค) ดำเนินกิจการของสภาสถาปนิกให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ

(๒) อุปนายกสภาสถาปนิกคนที่หนึ่งเป็นผู้ช่วยนายกสภาสถาปนิกในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสภาสถาปนิก ตามที่นายกสภาสถาปนิกมอบหมาย และเป็นผู้ทำการแทนนายกสภาสถาปนิกเมื่อนายกสภาสถาปนิกไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

(๓) อุปนายกสภาสถาปนิกคนที่สองเป็นผู้ช่วยนายกสภาสถาปนิกในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสภาสถาปนิก ตามที่นายกสภาสถาปนิกมอบหมาย และเป็นผู้ทำการแทนนายกสภาสถาปนิกเมื่อนายกสภาสถาปนิก และอุปนายกสภาสถาปนิกคนที่หนึ่งไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

(๔) เลขาธิการมีอำนาจหน้าที่

(ก) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่สภาสถาปนิกทุกระดับ

(ข) เป็นเลขานุการในที่ประชุมคณะกรรมการ และที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิก

(ค) ดำเนินการตามที่นายกสภาสถาปนิกมอบหมาย

(๕) เหรัญญิกมีอำนาจหน้าที่ควบคุม ดูแล รับผิดชอบการบัญชี การเงิน และการงบประมาณของสภาสถาปนิก

นายกสภาสถาปนิกอาจมอบหมายให้อุปนายก กรรมการ เลขาธิการ เหรัญญิกหรือเจ้าหน้าที่ของสภาสถาปนิกกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนได้ตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

 

หมวด ๔

การดำเนินการของคณะกรรมการ

 

 

มาตรา ๓๕ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ให้นายกสภาสถาปนิกเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่นายกสภาสถาปนิกไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อุปนายกสภาสถาปนิกผู้ทำการแทนตามมาตรา ๓๔เป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสภาสถาปนิกและอุปนายกสภาสถาปนิกไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ในกรณีให้สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๑๔ (๓) มติของที่ประชุมให้ถือคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่มาประชุม

 

มาตรา ๓๖ สภานายกพิเศษจะเข้าร่วมการประชุม และชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการ หรือจะส่งความเห็นเป็นหนังสือไปยังสภาสถาปนิกในเรื่องใดๆ ก็ได้

 

มาตรา ๓๗ ในการดำเนินงานของคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการจัดทำแผนการดำเนินงานและงบประมาณประจำปีเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิก เมื่อที่ประชุมมีมติเห็นชอบแล้วจึงจะดำเนินงานได้

ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานประจำปีแสดงผลงานของคณะกรรมการในปีที่ล่วงมา คำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบาย พร้อมด้วยงบดุลและบัญชีรายได้และรายจ่ายประจำปีซึ่งผู้สอบบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชีรับรองเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิกภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน

 

มาตรา ๓๘ คณะกรรมการจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนคณะกรรมการได้

การประชุมของคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการ

 

มาตรา ๓๙ ให้มีสำนักงานสภาสถาปนิกทำหน้าที่ธุรการต่างๆ ให้แก่คณะกรรมการและสภาสถาปนิก

 

มาตรา ๔๐ ให้นายกสภาสถาปนิกแต่งตั้งหัวหน้าสำนักงานสภาสถาปนิกตามมติของคณะกรรมการจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทย

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์

(๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย บุคคลวิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(๔) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๕) คุณสมบัติอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

 

มาตรา ๔๑ การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การกำหนดค่าจ้าง และเงื่อนไขอื่นในการทำงานในหน้าที่หัวหน้าสำนักงานสภาสถาปนิกให้เป็นไปตามแบบสัญญาจ้างที่สภาสถาปนิกกำหนด

 

มาตรา ๔๒ หัวหน้าสำนักงานสภาสถาปนิกมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

(๑) ควบคุมรับผิดชอบงานธุรการทั่วไปของสภาสถาปนิก

(๒) ดูแลรักษาทะเบียนสมาชิก ทะเบียนผู้ได้รับใบอนุญาต และทะเบียนอื่นๆ ของสภาสถาปนิก

(๓) ควบคุมดูแลทรัพย์สินของสภาสถาปนิก

(๔) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการหรือเลขาธิการมอบหมาย

 

หมวด ๕

ข้อบังคับสภาสถาปนิก

 

 

มาตรา ๔๓ ร่างข้อบังคับสภาสถาปนิกจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะกรรมการหรือสมาชิกสามัญ

การเสนอร่างข้อบังคับสภาสถาปนิกของสมาชิกสามัญจะกระทำได้เมื่อมีสมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนรับรอง

ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่สภาสถาปนิกเพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับสภาสถาปนิกที่มีการเสนอตามความเหมาะสมแก่กรณี การพิจารณาร่างข้อบังคับสภาสถาปนิกจะเสนอเป็นวาระจรไม่ได้แต่ต้องกำหนดเป็นวาระในหนังสือนัดประชุมให้ชัดเจนและแนบร่างข้อบังคับสภาสถาปนิกที่เสนอไปพร้อมกันด้วย

 

มาตรา ๔๔ เมื่อที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิกมีมติให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับสภาสถาปนิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญที่เข้าประชุมให้นายกสภาสถาปนิกเสนอร่างข้อบังคับสภาสถาปนิกต่อสภานายกพิเศษโดยไม่ชักช้า สภานายกพิเศษอาจยับยั้งร่างข้อบังคับนั้นได้แต่ต้องแสดงเหตุผลโดยแจ้งชัด ในกรณีที่มิได้ยับยั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบังคับที่นายกสภาสถาปนิกเสนอให้ถือว่าสภานายกพิเศษให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับนั้น

ถ้าสภานายกพิเศษยับยั้งร่างข้อบังคับใด ให้คณะกรรมการประชุมอีกครั้งหนึ่งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการยับยั้ง ในการประชุมครั้งหลังนี้ถ้ามีเสียงยืนยันมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะ ให้ถือว่าร่างข้อบังคับนั้นได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษแล้ว

 

หมวด ๖

การควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม

 

 

มาตรา ๔๕ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนพร้อมจะประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมสาขาใด เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตในสาขานั้นจากสภาสถาปนิก

 

มาตรา ๔๖ ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแต่ละสาขามี ๔ ระดับคือ

(๑) วุฒิสถาปนิก

(๒) สามัญสถาปนิก

(๓) ภาคีสถาปนิก

(๔) ภาคีสถาปนิกพิเศษ

หลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแต่ละระดับ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

 

มาตรา ๔๗ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้คำหรือข้อความที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ทั้งนี้ รวมถึง การใช้ จ้างวานหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าวให้แก่ตน เว้นแต่ผู้ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมสาขานั้นๆ จากสภาสถาปนิกหรือสถาบันที่สภาสถาปนิกรับรอง หรือผู้ได้รับใบอนุญาต ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

 

มาตรา ๔๘ การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต และการรับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

 

มาตรา ๔๙ ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

ผู้ขอรับใบอนุญาตที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องเป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญของสภาสถาปนิกและถ้าขาดจากสมาชิกภาพเมื่อใดให้ใบอนุญาตของผู้นั้นสิ้นสุดลง

ผู้ขอรับใบอนุญาตที่เป็นนิติบุคคลไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลซึ่งมีทุนเป็นของคนต่างด้าวจำนวนเท่าใดนิติบุคคลนั้นอย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักร

(๒) ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วน กรรมการของบริษัท หรือสมาชิกในคณะผู้บริหารของนิติบุคคลจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งหรือหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน กรรมการผู้จัดการของบริษัทหรือผู้มีอำนาจบริหารแต่ผู้เดียวของนิติบุคคลเป็นผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องประพฤติตนตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

 

มาตรา ๕๑ บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายหรือพบการประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมของผู้ได้รับใบอนุญาต มีสิทธิกล่าวหาผู้ได้รับใบอนุญาตผู้นั้น โดยทำเรื่องยื่นต่อสภาสถาปนิก

กรรมการหรือบุคคลอื่นมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมว่าผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมโดยแจ้งเรื่องต่อสภาสถาปนิก

สิทธิการกล่าวหาตามวรรคหนึ่งหรือสิทธิการกล่าวโทษตามวรรคสองสิ้นสุดลงเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้กล่าวโทษรู้เรื่องการประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมดังกล่าวและรู้ตัวผู้ประพฤติผิด

การถอนเรื่องการกล่าวหาหรือการกล่าวโทษที่ได้ยื่นไว้แล้วนั้น ไม่เป็นเหตุให้ระงับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕๒ เมื่อสภาสถาปนิกได้รับเรื่องการกล่าวหาหรือการกล่าวโทษ ตามมาตรา ๕๑ ให้เลขาธิการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณโดยไม่ชักช้า

 

มาตรา ๕๓ ให้มีคณะกรรมการจรรยาบรรณ ประกอบด้วยประธานกรรมการจรรยาบรรณคนหนึ่งและกรรมการจรรยาบรรณตามจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด แต่ไม่น้อยกว่าสามคน

ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการจรรยาบรรณตามมติของที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิกจากสมาชิกซึ่งมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี

(๒) ไม่เคยถูกลงโทษฐานประพฤติผิดจรรยาบรรณ

 

มาตรา ๕๔ กรรมการจรรยาบรรณให้มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

ให้กรรมการจรรยาบรรณที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการจรรยาบรรณใหม่

 

มาตรา ๕๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการจรรยาบรรณพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ลาออก

(๒) สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๔

(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๕๓ วรรคสอง

(๔) สภาสถาปนิกมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม

 

มาตรา ๕๖ เมื่อตำแหน่งกรรมการจรรยาบรรณว่างลงก่อนครบวาระ ให้คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง เว้นแต่วาระของกรรมการจรรยาบรรณเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน คณะกรรมการจะดำเนินการแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง หรือไม่ก็ได้

ให้กรรมการจรรยาบรรณซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

 

มาตรา ๕๗ คณะกรรมการจรรยาบรรณมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่มีการกล่าวหาว่าผู้ได้รับใบอนุญาตประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม

วิธีพิจารณาและวินิจฉัยของคณะกรรมการจรรยาบรรณ ให้เป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการ

 

มาตรา ๕๘ คณะกรรมการจรรยาบรรณจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งแทนคณะกรรมการจรรยาบรรณได้

การปฏิบัติการของคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการ

 

มาตรา ๕๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการจรรยาบรรณ และคณะอนุกรรมการซึ่งคณะกรรมการจรรยาบรรณแต่งตั้ง ให้กรรมการจรรยาบรรณและอนุกรรมการ มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหรือวัตถุใดๆ เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา แต่ถ้าเป็นการมีคำสั่งต่อบุคคลซึ่งมิใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษหรือผู้ซึ่งสภานายกพิเศษมอบหมาย

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการจรรยาบรรณหรืออนุกรรมการเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

 

มาตรา ๖๐ ให้ประธานกรรมการจรรยาบรรณมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษพร้อมทั้งส่งสำเนาเรื่องที่กล่าวหาหรือกล่าวโทษให้ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งถูกกล่าวหาหรือถูกกล่าวโทษล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนเริ่มพิจารณา

ผู้ถูกกล่าวหาหรือถูกกล่าวโทษมีสิทธิทำคำชี้แจงหรือนำพยานหลักฐานใดๆ ส่งให้คณะกรรมการจรรยาบรรณหรือคณะอนุกรรมการซึ่งคณะกรรมการจรรยาบรรณแต่งตั้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับแจ้งจากประธานกรรมการจรรยาบรรณ หรือภายในเวลาที่คณะกรรมการจรรยาบรรณกำหนด

 

มาตรา ๖๑ คณะกรรมการจรรยาบรรณมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) ยกข้อกล่าวหา

(๒) ตักเตือน

(๓) ภาคทัณฑ์

(๔) พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินห้าปี

(๕) เพิกถอนใบอนุญาต

 

มาตรา ๖๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งคณะกรรมการจรรยาบรรณวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๖๑ (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) อาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยชี้ขาดต่อคณะกรรมการได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัย

การอุทธรณ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการให้ทำเป็นคำสั่งสภาสถาปนิกพร้อมด้วยเหตุผลของการวินิจฉัยชี้ขาดและให้ถือเป็นที่สุด

 

มาตรา ๖๓ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตผู้ใดประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิหรือพร้อมจะประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมนับแต่วันที่ทราบคำสั่งสภาสถาปนิกที่สั่งพักใช้ใบอนุญาตนั้น

 

มาตรา ๖๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนตามมาตรา ๖๓ ให้สภาสถาปนิกมีมติเพิกถอนใบอนุญาตของผู้นั้นนับแต่วันที่ศาลพิพากษาถึงที่สุด

 

มาตรา ๖๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจะยื่นขอรับใบอนุญาตอีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นห้าปีนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

ในกรณีที่ผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นนิติบุคคล ให้มีผลเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตของผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วน กรรมการของบริษัท ผู้บริหารของนิติบุคคลและพนักงานหรือลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือนิติบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำอันเป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือนิติบุคคลนั้นถูกเพิกถอนใบอนุญาต และห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วน กรรมการของบริษัท ผู้บริหารของนิติบุคคล ซึ่งได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะพ้นห้าปีนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

 

หมวด ๗

การกำกับดูแล

 

 

มาตรา ๖๖ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) กำกับดูแลการดำเนินงานของสภาสถาปนิกและการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

(๒) สั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานของสภาสถาปนิกและการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

(๓) สั่งเป็นหนังสือให้กรรมการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสภาสถาปนิกและจะให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงานหรือรายงานการประชุมของคณะกรรมการก็ได้

(๔) สั่งเป็นหนังสือให้สภาสถาปนิกระงับหรือแก้ไขการกระทำใดๆ ที่ปรากฏว่าขัดต่อวัตถุประสงค์ของสภาสถาปนิก กฎหมาย หรือข้อบังคับสภาสถาปนิก

 

มาตรา ๖๗ เพื่อปฏิบัติการตามคำสั่งของรัฐมนตรีตามมาตรา ๖๖ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารหรือวัตถุใดๆ เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา และมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบเอกสารหรือหลักฐานในสำนักงานของสภาสถาปนิก หรือในสถานที่ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมได้ในระหว่างเวลาทำการ หรือให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องชี้แจงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ร้องขอ ทั้งนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

ในการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

 

มาตรา ๖๘ ในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๖๙ เมื่อปรากฏว่าสภาสถาปนิกไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐมนตรีตามมาตรา ๖๖ หรือมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการ นายกสภาสถาปนิก หรือกรรมการคนหนึ่งคนใดกระทำการอันผิดวัตถุประสงค์ของสภาสถาปนิก หรือกระทำการอันเป็นการเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงแก่สภาสถาปนิก ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการนายกสภาสถาปนิก หรือกรรมการคนนั้นพ้นจากตำแหน่ง

ในกรณีที่รัฐมนตรีจะมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งสมาชิกสามัญจำนวนห้าคนเป็นคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนต้องรีบทำการสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็วแล้วเสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ

คำสั่งของรัฐมนตรีให้ถือเป็นที่สุด

 

มาตรา ๗๐ ในกรณีที่รัฐมนตรีมีคำสั่งตามมาตรา ๖๙ ให้กรรมการทั้งคณะของสภาสถาปนิกพ้นจากตำแหน่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งบุคคลจากสมาชิกสามัญของสภาสถาปนิกเท่ากับจำนวนกรรมการที่จะมีได้ตามมาตรา ๒๔ เป็นกรรมการชั่วคราวแทนกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งในวันเดียวกันกับวันที่รัฐมนตรีมีคำสั่งให้กรรมการพ้นจากตำแหน่ง

ให้กรรมการชั่วคราวตามวรรคหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการเพียงเท่าที่จำเป็นและดำเนินการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการชั่วคราว เพื่อให้มีการเลือกตั้งและแต่งตั้งกรรมการใหม่ตามมาตรา ๒๔

เมื่อกรรมการใหม่เข้ารับหน้าที่แล้ว ให้กรรมการชั่วคราวซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง

 

หมวด ๘

บทกำหนดโทษ

 

 

มาตรา ๗๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๕ หรือมาตรา ๖๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๗๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๗๓ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการจรรยาบรรณหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๕๙ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๖๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๗๔ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคลให้หุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วน กรรมการของบริษัท ผู้แทนของนิติบุคคล หรือผู้ซึ่งมีส่วนในการกระทำความผิดดังกล่าวมีความผิดในฐานะเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด ผู้ใช้ให้กระทำความผิดหรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในการกระทำความผิดนั้น และสำหรับนิติบุคคลต้องระวางโทษปรับไม่เกินสิบเท่าของอัตราโทษปรับสำหรับความผิดนั้นด้วย

 

บทเฉพาะกาล

 

 

มาตรา ๗๕ ให้คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีคณะกรรมการตามมาตรา ๒๔ และให้มีอำนาจออกข้อบังคับสภาสถาปนิกตามมาตรา ๘ (๖) เท่าที่จำเป็น เพื่อใช้เป็นการชั่วคราว ข้อบังคับดังกล่าวให้มีผลใช้บังคับจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับนั้น ทั้งนี้ โดยไม่ให้นำมาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๔ มาใช้บังคับ

ให้สำนักงาน ก.ส. ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานสภาสถาปนิกตามมาตรา ๓๙ และให้นายทะเบียน ก.ส. ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าสำนักงานสภาสถาปนิกตามมาตรา ๔๒ เป็นการชั่วคราวไปจนกว่าสำนักงานสภาสถาปนิกจะมีบุคลากรปฏิบัติหน้าที่ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันเริ่มวาระของการอยู่ในตำแหน่งคณะกรรมการตามมาตรา ๒๕

ในวาระแรกมิให้นำความในมาตรา ๒๗ (๑) มาใช้บังคับแก่สถาปนิกสาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม และสาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ที่มีวุฒิและผลงานไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี ตามเงื่อนไขที่ ก.ส. ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ กำหนด

การเลือกตั้งและแต่งตั้งกรรมการตามมาตรา ๒๔ ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

มาตรา ๗๖ ให้ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมประเภทภาคีสถาปนิก สามัญสถาปนิก และวุฒิสถาปนิกตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมพ.ศ. ๒๕๐๘ อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นสมาชิกสามัญของสภาสถาปนิกตามพระราชบัญญัตินี้

ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ประเภทใบอนุญาตพิเศษตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ อยู่แล้ว ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นสมาชิกวิสามัญของสภาสถาปนิกตามพระราชบัญญัตินี้

เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามใบอนุญาตหรือพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้วแต่กำหนดระยะเวลาใดจะยาวกว่า ให้สมาชิกภาพของสมาชิกตามวรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นอันสิ้นสุดลง เว้นแต่จะสมัครและได้เป็นสมาชิกของสภาสถาปนิกตามพระราชบัญญัตินี้

ให้ถือว่าปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้รับรองแล้วเป็นปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรที่สภาสถาปนิกให้การรับรองตามมาตรา ๘ (๓)

 

มาตรา ๗๗ ให้ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมประเภทวุฒิสถาปนิก สามัญสถาปนิก ภาคีสถาปนิก หรือใบอนุญาตพิเศษตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ และใบอนุญาตนั้นยังคงใช้ได้ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมระดับวุฒิสถาปนิก สามัญสถาปนิก ภาคีสถาปนิก หรือภาคีสถาปนิกพิเศษตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี

เพื่อประโยชน์ตามมาตรา ๒๗ (๑) ให้ถือว่ากำหนดเวลาที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมประเภทสามัญสถาปนิก ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นกำหนดเวลาที่ได้รับใบอนุญาตระดับสามัญสถาปนิกตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๗๘ คำขอรับใบอนุญาตซึ่งได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยให้ถือว่าเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้พิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

ให้ถือว่าผู้ที่ได้รับใบอนุญาตตามความในวรรคก่อนเป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญของสภาสถาปนิกตามความในมาตรา ๗๖ โดยอนุโลม

 

มาตรา ๗๙ ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำกฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๘๐ ให้ถือว่าการกระทำผิดมรรยาทหรือข้อกำหนดและเงื่อนไข ในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งได้กระทำก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังไม่มีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ และการดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

ในกรณีที่มีการดำเนินการกับผู้กระทำผิดมรรยาท หรือข้อกำหนดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ และการดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ชวน หลีกภัย

นายกรัฐมนตรี

 

 

อัตราค่าธรรมเนียม

 

 

(๑) ค่าใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

บุคคลธรรมดา

(ก) ระดับวุฒิสถาปนิก                                                           ๑๐,๐๐๐ บาท

(ข) ระดับสามัญสถาปนิก                                                          ๗,๕๐๐ บาท

(ค) ระดับภาคีสถาปนิก                                                            ๕,๐๐๐ บาท

(ง) ระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ                                                      ๕,๐๐๐ บาท

นิติบุคคล

ค่าใบอนุญาตนิติบุคคล                                                           ๑๐๐,๐๐๐ บาท

(๒) ค่าต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมที่ ขอต่ออายุใบอนุญาต

ก่อนใบอนุญาตหมด

อายุบุคคลธรรมดา

(ก) ระดับวุฒิสถาปนิก                                                             ๓,๐๐๐ บาท

(ข) ระดับสามัญสถาปนิก                                                          ๒,๐๐๐ บาท

(ค) ระดับภาคีสถาปนิก                                                            ๑,๐๐๐ บาท

(ง) ระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ                                                      ๑,๐๐๐ บาท

สำหรับผู้ที่ขอต่ออายุใบอนุญาตหลังจากใบอนุญาตหมดอายุ

ให้เพิ่มอัตราค่าธรรมเนียม                                                          ๒,๐๐๐ บาท

นิติบุคคล

(ก) ค่าต่อใบอนุญาตนิติบุคคลที่ขอต่ออายุใบอนุญาต

ก่อนใบอนุญาตหมดอายุ                                                           ๓๐,๐๐๐ บาท

(ข) ค่าต่อใบอนุญาตนิติบุคคลที่ขอต่ออายุใบอนุญาต

หลังจากใบอนุญาตหมดอายุ                                                       ๕๐,๐๐๐ บาท

(๓) ค่าหนังสือรับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบ

วิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม                                                     ๑๐,๐๐๐ บาท

(๔) ค่าใบแทนใบอนุญาตหรือหลักฐานรับรองการได้รับใบอนุญาต

บุคคลธรรมดา                                                                          ๕๐๐ บาท

นิติบุคคล                                                                             ๕,๐๐๐ บาท

(๕) ค่าทดสอบความรู้ในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมครั้งละ           ๒,๐๐๐ บาท

 

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่วิทยาการด้านสถาปัตยกรรมมีการพัฒนาในเนื้อหาและวัตถุประสงค์แตกต่างจากเดิมจนครอบคลุมการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมให้มีประโยชน์ใช้สอย ความงาม และมั่นคง เพื่อสนองความต้องการทางเศรษฐกิจเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้มีภาระที่ต้องควบคุมดูแลมากกว่าเดิมและการรวมตัวของสถาปนิกในการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพก็ได้ดำเนินการมาจนมั่นคงเป็นที่ประจักษ์ในผลงานแล้ว สมควรให้ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมรวมตัวกันตั้งองค์กรวิชาชีพเพื่อช่วยรัฐในการควบคุมดูแลมาตรฐานความรู้และการประกอบวิชาชีพให้สามารถดำเนินการควบคุมได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และจากนโยบายเปิดเสรีในการค้าและบริการในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทำให้ต้องเร่งการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมคุณภาพการประกอบวิชาชีพให้พร้อมกับการแข่งขันกับต่างประเทศ สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพสถาปัตยกรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 
ป้ายโฆษณา

รับติดตั้งจานดาวเที่ยม กล้องวงจรปิด

เนื้อโคขุนโพนยางคำ

Login Form


Polls

ปกติใช้คอมพิวเตอร์ for ?
 

Who's Online

เรามี 9 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

Counter

จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 2525380

RSS