Home พระราชบัญญัติ ต่าง พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542

พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542

อีเมล พิมพ์ PDF

พระราชบัญญัติ

ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

พ.ศ. ๒๕๔๒

 

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

เป็นปีที่ ๕๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด

 

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. ๒๕๔๒”

 

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน

ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. ๒๕๒๒

 

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

“ธุรกิจ” หมายความว่า กิจการในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การบริการ หรือกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

“สินค้า” หมายความว่า สิ่งของที่อาจใช้ในการอุปโภคหรือบริโภค รวมทั้งเอกสารแสดงสิทธิในสิ่งของ

“บริการ” หมายความว่า การรับจัดทำการงาน การให้สิทธิใดๆ การให้ใช้หรือให้ประโยชน์ในทรัพย์สินหรือกิจการใดๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงิน หรือผลประโยชน์อื่น

“จำหน่าย” หมายความว่า ขาย แลกเปลี่ยน ให้ จ่ายแจก โอนสิทธิการครอบครองสินค้าให้แก่บุคคลอื่น หรือให้บริการ

“ผลิต” หมายความว่า ทำ ผสม ปรุง ประกอบ ประดิษฐ์ แปรสภาพ เปลี่ยนรูป ดัดแปลง คัดเลือก แบ่งบรรจุ รวมบรรจุ หรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้นซึ่งสินค้าไม่ว่าด้วยวิธีใด รวมทั้งการทำให้มีขึ้นซึ่งชื่อทางการค้าหรือเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้านั้นไม่ว่าจะทำเองหรือให้ผู้อื่นทำให้ก็ตาม

“ราคา” หมายความรวมถึง ค่าตอบแทนสำหรับการจำหน่ายด้วย

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือสำนักงานคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าราชการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือกิจการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

 

มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

 

หมวด ๑

คณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

 

 

มาตรา ๗ ให้มีคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรียกโดยย่อว่า “กกร.” ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงพาณิชย์และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นรองประธานกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินแปดคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยต้องแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเป็นกรรมการ และให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ

ให้ กกร. ทำหน้าที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการสำหรับกรุงเทพมหานครด้วย

 

มาตรา ๘ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง

 

มาตรา ๙ ให้ กกร. มีอำนาจหน้าที่ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ดังต่อไปนี้

(๑) ประกาศกำหนดให้สินค้าหรือบริการใดเป็นสินค้าหรือบริการควบคุมตามมาตรา ๒๔

(๒) กำหนดมาตรการที่ใช้สำหรับสินค้าหรือบริการควบคุมตามมาตรา ๒๕

(๓) สั่งให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุมแจ้งข้อเท็จจริงตามมาตรา ๒๖

(๔) ให้ความเห็นชอบประกาศที่ออกตามมาตรา ๒๗

(๕) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแสดงราคาสินค้าหรือบริการตามมาตรา ๒๘

(๖) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ถือว่าเป็นการทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการตามมาตรา ๒๙ วรรคสอง

(๗) กำหนดระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลตามมาตรา ๓๓

(๘) เข้ากำกับดูแลและสั่งการเท่าที่จำเป็นเพื่อให้การผลิต หรือการจำหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุมมีเพียงพอแก่ความต้องการของประชาชน ในการนี้ กกร. อาจมอบหมายให้ กจร. เลขาธิการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่กระทำการแทนก็ได้

(๙) พิจารณาเรื่องที่มีการร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย เนื่องจากการกระทำอันมีผลกระทบกระเทือนต่อราคา

(๑๐) เชิญบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำ หรือความเห็น

(๑๑) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกร.

 

มาตรา ๑๐ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๗ มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี

เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้น อยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

 

มาตรา ๑๑ ให้นำความในมาตรา ๗๕ มาตรา ๗๖ มาตรา ๗๗ มาตรา ๗๘ มาตรา ๗๙ มาตรา ๘๐ มาตรา ๘๑ มาตรา ๘๒ และมาตรา ๘๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาใช้บังคับกับการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและการประชุมของคณะกรรมการโดยอนุโลม และให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘ ด้วย

 

มาตรา ๑๒ ในจังหวัดหนึ่งนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้มีคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรียกโดยย่อว่า “กจร.” ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเก้าคนซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามเป็นกรรมการ และพาณิชย์จังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ

การคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามระเบียบที่ กกร. กำหนด

ให้ กจร. มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ในจังหวัดนั้น

 

มาตรา ๑๓ ให้ กจร. มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ปฏิบัติการตามมาตรา ๒๕ มาตรา ๒๗ วรรคสอง มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ วรรคสอง และมาตรา ๓๓

(๒) พิจารณาเรื่องที่มีการร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนหรือความเสียหายเนื่องจากการกระทำอันมีผลกระทบกระเทือนต่อราคา

(๓) เชิญบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำ หรือความเห็น

(๔) ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของ กกร. และปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ กกร. มอบหมาย

การใช้อำนาจตามวรรคหนึ่งของ กจร. จะขัดหรือแย้งกับกรณีที่ กกร. กำหนดตามมาตรา ๙ ไม่ได้

 

มาตรา ๑๔ ให้นำความในมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ มาใช้บังคับกับ กจร. โดยอนุโลม

 

มาตรา ๑๕ คณะกรรมการจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาสอบสวนหรือศึกษา และเสนอความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งแทนได้ และให้นำความในมาตรา ๑๑ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

 

หมวด ๒

สำนักงานคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

 

 

มาตรา ๑๖ ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน กกร.” ขึ้นในกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นเลขาธิการ เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงาน และมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ดำเนินงานธุรการของ กกร. และคณะอนุกรรมการ และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานงานกับ กจร.

(๒) ศึกษา วิเคราะห์และวิจัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ราคาและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งเสนอโครงการ แผนงานหรือมาตรการเกี่ยวกับการกำหนดราคาสินค้าและบริการต่อ กกร.

(๓) ติดตามความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าหรือบริการควบคุม และสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจ แล้วรายงานต่อ กกร.

(๔) รับเรื่องที่มีการร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเนื่องจากการกระทำอันมีผลกระทบกระเทือนต่อราคา

(๕) กำหนดระเบียบเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของสำนักงาน กกร.

(๖) ปฏิบัติการตามประกาศ ระเบียบ และมติของ กกร. และปฏิบัติการอื่นตามที่ กกร. มอบหมาย

 

มาตรา ๑๗ ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน กจร.” ขึ้นในทุกจังหวัด มีพาณิชย์จังหวัดเป็นหัวหน้าสำนักงาน เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงาน และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ดำเนินงานธุรการของ กจร. และคณะอนุกรรมการซึ่ง กจร. แต่งตั้ง และทำหน้าที่ประสานงานกับ กกร.

(๒) ปฏิบัติการตามมาตรา ๑๖ (๒) (๓) และ (๔) ในเขตจังหวัดนั้นแล้วเสนอต่อ กจร.

(๓) กำหนดระเบียบเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของสำนักงาน กจร.

(๔) ปฏิบัติการตามประกาศ ระเบียบ และมติของ กกร. และ กจร. และปฏิบัติการอื่นตามที่ กจร. มอบหมาย

 

มาตรา ๑๘ ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ แจ้งข้อเท็จจริง หรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือให้ส่งบัญชี ทะเบียน เอกสารหรือหลักฐานใดเพื่อตรวจสอบหรือเพื่อประกอบการพิจารณา แต่ในกรณีที่ให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับต้นทุน สูตร หรือส่วนประกอบของสินค้าหรือบริการอื่นที่มิใช่สินค้าหรือบริการควบคุมต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเลขาธิการหรือประธาน กจร. ก่อน

(๒) เข้าไปในสถานที่ทำการ สถานที่ผลิต สถานที่จำหน่าย สถานที่รับซื้อ สถานที่เก็บสินค้าของผู้ประกอบธุรกิจหรือของบุคคลใด หรือสถานที่อื่นที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือเข้าไปในยานพาหนะของบุคคลใด หรือสั่งเจ้าของหรือผู้ควบคุมยานพาหนะให้หยุด หรือจอดเพื่อตรวจสอบให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อตรวจค้นและยึดพยานหลักฐานหรือทรัพย์สินที่อาจริบได้ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๓๑ โดยไม่ต้องมีหมายค้นในกรณีดังต่อไปนี้

(ก) เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำในสถานที่ หรือยานพาหนะ

(ข) บุคคลที่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้า ขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันแน่นแฟ้นควรสงสัยว่าได้ซุกซ่อนอยู่ในสถานที่ หรือยานพาหนะ

(ค) เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าพยานหลักฐานหรือทรัพย์สินที่อาจริบได้ตามพระราชบัญญัตินี้อยู่ในสถานที่หรือยานพาหนะ ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ พยานหลักฐานหรือทรัพย์สินจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

(ง) เมื่อผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าของสถานที่ หรือยานพาหนะและการจับนั้นมีหมายจับหรือจับได้โดยไม่ต้องมีหมาย

ในการนี้ให้มีอำนาจสอบถามข้อเท็จจริง หรือเรียกบัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานอื่นจากผู้ประกอบธุรกิจ เจ้าของหรือผู้ควบคุมยานพาหนะ หรือจากบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง ตลอดจนสั่งให้บุคคลดังกล่าวซึ่งอยู่ในสถานที่หรือยานพาหนะนั้นปฏิบัติการเท่าที่จำเป็น

(๓) ในกรณีที่มีหลักฐานชัดแจ้งเป็นที่เชื่อได้ว่ามีการฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๓๑ ให้มีอำนาจกัก อายัด หรือยึดสินค้า ยานพาหนะ เอกสารหรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด แต่การยึดสินค้า ยานพาหนะ เอกสารหรือหลักฐานต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากประธานคณะกรรมการก่อน

 

มาตรา ๑๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

 

มาตรา ๒๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศใน

ราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๒๑ หนังสือเรียกตามมาตรา ๑๘ (๑) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือสถานที่ทำการของบุคคลซึ่งระบุไว้ในหนังสือเรียก ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของบุคคลนั้น หรือจะส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับก็ได้

ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่นำส่งตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่บุคคลซึ่งระบุไว้ในหนังสือเรียกปฏิเสธไม่ยอมรับหนังสือเรียกโดยปราศจากเหตุอันสมควร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจไปเป็นพยาน เพื่อวางหนังสือเรียกไว้ ณ ที่นั้น แต่ถ้าไม่พบบุคคลซึ่งระบุไว้ในหนังสือเรียก ณ ภูมิลำเนาหรือสถานที่ทำการของบุคคลนั้น จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือสถานที่ทำการนั้นก็ได้ และถ้าไม่พบบุคคลใดหรือพบแต่ไม่มีบุคคลใดยอมรับไว้แทนให้ปิดหนังสือเรียกนั้นไว้ในที่ที่เห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสถานที่ทำการนั้นต่อหน้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ไปเป็นพยาน

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้วให้ถือว่าบุคคลซึ่งระบุไว้ในหนังสือเรียกได้รับหนังสือเรียกนั้นแล้ว ถ้าเป็นการปิดหนังสือเรียก ให้ถือว่าได้รับหนังสือเรียกนั้นเมื่อครบกำหนดห้าวันนับแต่วันปิดหนังสือเรียก แต่ถ้าเป็นการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ให้ถือว่าได้รับหนังสือเรียกนั้นเมื่อครบกำหนดห้าวันนับแต่วันรับ

 

มาตรา ๒๒ ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการกลาง กรรมการส่วนจังหวัด อนุกรรมการ เลขาธิการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

 

มาตรา ๒๓ เพื่อประโยชน์ในการจับกุมผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

การจับกุมผู้กระทำความผิดให้กระทำได้โดยไม่ต้องมีหมายจับเมื่อปรากฏว่ามีการกระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุอื่นที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ

 

หมวด ๓

การกำหนดราคาสินค้าและบริการ

 

 

มาตรา ๒๔ เพื่อป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่ายหรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม กกร. ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดให้สินค้าหรือบริการใดเป็นสินค้าหรือบริการควบคุมได้

ให้ กกร. พิจารณาทบทวนการใช้อำนาจตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง หากเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจหรือข้อเท็จจริงที่อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาใช้อำนาจของ กกร. เปลี่ยนแปลงไปหรือสิ้นสุดลง ให้ กกร. ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีประกาศเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการใช้อำนาจนั้นโดยไม่ชักช้า

ประกาศ กกร. ให้มีอายุตามที่กำหนด แต่จะกำหนดเกินหนึ่งปีไม่ได้ เว้นแต่จะมีการออกประกาศใหม่

ประกาศ กกร. ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

มาตรา ๒๕ เมื่อได้มีการประกาศกำหนดสินค้าหรือบริการควบคุมตามมาตรา ๒๔ แล้วให้คณะกรรมการมีอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดราคาซื้อหรือราคาจำหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุม ให้ผู้ซื้อซื้อในราคาไม่ต่ำกว่าราคาที่กำหนด หรือให้ผู้จำหน่ายจำหน่ายในราคาไม่สูงกว่าราคาที่กำหนด หรือตรึงราคาไว้ในราคาใดราคาหนึ่ง

(๒) กำหนดอัตรากำไรสูงสุดต่อหน่วยของสินค้าหรือบริการควบคุมที่ผู้จำหน่ายจะได้รับจากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุม หรือกำหนดอัตราส่วนแตกต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายสินค้าหรือบริการควบคุมในแต่ละช่วงการค้า

(๓) กำหนดหลักเกณฑ์ มาตรการ และเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการผลิต การนำเข้ามาในราชอาณาจักร การส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การซื้อ การจำหน่าย หรือการเก็บรักษาสินค้าหรือบริการควบคุม

(๔) กำหนดท้องที่หรือระยะเวลาในการใช้บังคับประกาศของคณะกรรมการ

(๕) กำหนดให้แจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ ต้นทุน ค่าใช้จ่าย แผนการผลิต แผนการนำเข้ามาในราชอาณาจักร แผนการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร แผนการซื้อ แผนการจำหน่าย แผนการเปลี่ยนแปลงราคาหรือรายการอื่นใดหรือส่วนลดในการจำหน่าย กระบวนการผลิต และวิธีการจำหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

(๖) กำหนดให้มีการเก็บหรือเพิ่มปริมาณการเก็บสำรองสินค้าควบคุมและกำหนดท้องที่และสถานที่ให้เก็บสำรองสินค้าควบคุม

(๗) ห้ามหรืออนุญาตให้มีการส่งออกไปนอกหรือนำเข้ามาในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งซึ่งสินค้าควบคุม

(๘) สั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต การนำเข้ามาในราชอาณาจักร การซื้อ การจำหน่าย หรือการเก็บรักษาสินค้าหรือบริการควบคุม รวมทั้งให้ระงับหรือลดค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้เกินสมควร

(๙) จัดให้มีการปันส่วนในการซื้อและการจำหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุม รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการปันส่วนดังกล่าว หรือกำหนดเงื่อนไขในการซื้อ และการจำหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุม

(๑๐) สั่งให้จำหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุมตามปริมาณและราคาที่กำหนด ตลอดจนสั่งให้จำหน่ายแก่ส่วนราชการหรือบุคคลใดตามที่คณะกรรมการกำหนด

(๑๑) ห้ามจำหน่าย ให้ ใช้เอง ยักย้าย หรือเปลี่ยนสภาพซึ่งสินค้าหรือบริการควบคุมเกินปริมาณที่กำหนด

(๑๒) กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการกักตุนสินค้าควบคุมหรือการครอบครองสินค้าควบคุมเกินปริมาณที่กำหนด

การใช้อำนาจของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำเป็นประกาศตามความจำเป็นแก่พฤติการณ์แห่งกรณี โดยคำนึงถึงภาระของผู้ปฏิบัติ โดยต้องระบุถึงเหตุผล และผู้ซึ่งต้องปฏิบัติตามประกาศไว้ด้วย ประกาศดังกล่าวให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ระบุไว้ในประกาศตาม (๔) และเมื่อได้มีประกาศแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย

ให้คณะกรรมการพิจารณาทบทวนการใช้อำนาจตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการผลิต การนำเข้ามาในราชอาณาจักร การส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การซื้อ หรือการจำหน่ายและอัตรากำไรที่เหมาะสม รวมทั้งผลกระทบต่อการลงทุนในการขยายกำลังการผลิตในระยะต่อไปด้วย และเมื่อเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจหรือข้อเท็จจริงที่อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาใช้อำนาจของคณะกรรมการเปลี่ยนแปลงไปหรือสิ้นสุดลง ให้คณะกรรมการประกาศเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการใช้อำนาจนั้นในราชกิจจานุเบกษาโดยไม่ชักช้า

ประกาศของคณะกรรมการให้มีอายุตามที่กำหนด แต่จะกำหนดเกินหนึ่งปีไม่ได้ เว้นแต่จะได้มีการออกประกาศใหม่

 

มาตรา ๒๖ ให้ กกร. มีอำนาจประกาศให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ซื้อเพื่อจำหน่ายหรือผู้นำเข้าเพื่อจำหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุมแจ้งชื่อ ราคาซื้อ ราคาจำหน่าย มาตรฐาน คุณภาพ ขนาด ปริมาณ น้ำหนักต่อหน่วย รวมทั้งชื่อและปริมาณวัตถุอันเป็นส่วนประกอบของสินค้าหรือบริการนั้น และลักษณะอย่างอื่นของสินค้าหรือบริการควบคุมตามที่เป็นอยู่ในวันที่ กกร. กำหนดต่อเลขาธิการ

เมื่อได้แจ้งรายการตามวรรคหนึ่งแล้ว กกร. อาจห้ามมิให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ซื้อเพื่อจำหน่ายหรือผู้นำเข้าเพื่อจำหน่ายรายนั้นจำหน่ายสินค้าหรือบริการในลักษณะที่แตกต่างไปจากรายการตามที่ได้แจ้งไว้ หรือจำหน่ายในราคาที่สูงหรือต่ำกว่าราคาตามที่ได้แจ้งไว้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเลขาธิการตามระเบียบที่ กกร. กำหนด

การใช้อำนาจตามวรรคหนึ่ง ให้นำความในมาตรา ๒๕ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๒๗ ในกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนและลับที่จำต้องใช้อำนาจตามมาตรา ๒๕ หรือมาตรา ๒๖ และจะเรียกประชุมคณะกรรมการให้ทันท่วงทีมิได้ ให้ประธานกรรมการมีอำนาจใช้อำนาจของคณะกรรมการตามมาตรา ๒๕ หรือมาตรา ๒๖ ไปพลางก่อนได้ และในการใช้อำนาจดังกล่าวให้นำความในมาตรา ๒๕ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

เมื่อได้ประกาศตามวรรคหนึ่งแล้ว ต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาภายในสามวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศ ถ้าคณะกรรมการให้ความเห็นชอบประกาศนั้น ให้คณะกรรมการประกาศให้ประกาศนั้นมีผลใช้บังคับต่อไป แต่ถ้าคณะกรรมการไม่ให้ความเห็นชอบ ให้คณะกรรมการประกาศยกเลิกประกาศนั้น แต่ทั้งนี้ไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อการที่ได้กระทำไปแล้วในระหว่างที่ใช้ประกาศนั้น

ประกาศตามวรรคสอง ให้มีผลใช้บังคับทันทีที่ประกาศ และเมื่อได้มีประกาศแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย

 

มาตรา ๒๘ ให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ซื้อเพื่อจำหน่ายหรือผู้นำเข้าเพื่อจำหน่ายสินค้าหรือบริการแสดงราคาสินค้าหรือบริการ ในการนี้ คณะกรรมการอาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแสดงราคาสินค้าหรือบริการไว้ด้วยก็ได้

การใช้อำนาจตามวรรคหนึ่ง ให้นำความในมาตรา ๒๕ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๒๙ ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการใดๆ โดยจงใจที่จะทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใด

คณะกรรมการอาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ถือว่าเป็นการทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควร หรือทำให้ปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใดก็ได้ หลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๓๐ ห้ามมิให้บุคคลใดกักตุนสินค้าควบคุม โดยมีสินค้าควบคุมไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะกรรมการตามมาตรา ๒๕ (๑๒) หรือเก็บสินค้าควบคุมไว้ ณ สถานที่อื่นนอกจากสถานที่เก็บตามที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๒๕ (๕) หรือไม่นำสินค้าควบคุมที่มีไว้เพื่อจำหน่ายออกจำหน่าย หรือเสนอขายตามปกติ หรือปฏิเสธการจำหน่าย หรือประวิงการจำหน่ายหรือการส่งมอบสินค้าควบคุม โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

 

มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการควบคุมหยุดการให้บริการตามปกติ หรือปฏิเสธการให้บริการ หรือประวิงการให้บริการ โดยไม่มีเหตุอันสมควร

 

หมวด ๔

เบ็ดเตล็ด

 

 

มาตรา ๓๒ สินค้าที่ยึดไว้ตามมาตรา ๑๘ (๓) ถ้าไม่ปรากฏเจ้าของ หรือผู้ครอบครองหรือพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ให้ริบ และเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอรับคืนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ยึด วันที่ทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ให้ริบ แล้วแต่กรณี ให้ถือว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ไม่มีเจ้าของและให้ตกเป็นของแผ่นดิน

ถ้าสินค้าที่ยึดไว้นั้นเป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย หรือจะเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเกินราคาของสินค้านั้น เลขาธิการสำหรับกรุงเทพมหานคร หรือประธาน กจร. สำหรับจังหวัดอื่น หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเลขาธิการ หรือประธาน กจร. จะสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ขายทอดตลาดสินค้านั้น หรือขายโดยวิธีอื่นที่เห็นสมควรก่อนที่ของนั้นจะตกเป็นของแผ่นดินก็ได้ เงินค่าขายสินค้านั้นเมื่อได้หักค่าใช้จ่ายและค่าภาระติดพันทั้งปวงออกแล้ว ให้ถือไว้แทนสินค้า

 

มาตรา ๓๓ ในกรณีที่มีการจับกุมผู้กระทำความผิด เมื่อพนักงานอัยการร้องขอ ให้ศาลสั่งจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับร้อยละยี่สิบห้าและเงินรางวัลแก่ผู้จับร้อยละสามสิบของจำนวนเงินสุทธิค่าขายของกลางที่ศาลสั่งให้ริบ หรือในกรณีที่มิได้ริบของกลางหรือของกลางไม่อาจขายได้ ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาลตามอัตราดังกล่าว

ในกรณีที่ไม่มีผู้นำจับ ให้จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้จับร้อยละสามสิบของจำนวนเงินสุทธิค่าขายของกลางที่ศาลสั่งให้ริบ หรือในกรณีที่มิได้ริบของกลางหรือของกลางไม่อาจขายได้ ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาลตามอัตราดังกล่าว

ในกรณีที่ผู้นำจับหรือผู้จับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหลายคน ให้จ่ายเงินสินบนหรือเงินรางวัลแก่บุคคลในฝ่ายนั้นคนละเท่าๆ กัน

ในกรณีที่จับของกลางได้แต่ไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลจากจำนวนเงินสุทธิค่าขายของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดินตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด แต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดตามมาตรานี้

ในกรณีที่มีการจับกุมผู้กระทำความผิดและได้มีการเปรียบเทียบตามมาตรา ๔๓ ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลจากจำนวนเงินค่าปรับตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด แต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดตามมาตรานี้

 

หมวด ๕

บทกำหนดโทษ

 

 

มาตรา ๓๔ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๘ (๑) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๓๕ ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๘ (๒) หรือ (๓) หรือมาตรา ๒๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๓๖ ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๓๗ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการตามมาตรา ๒๕ (๑) (๒) (๓) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) หรือ (๑๒) หรือขัดขวางการดำเนินงานของ กกร. กจร. เลขาธิการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๙ (๘) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๓๘ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการตามมาตรา ๒๕ (๕) หรือไม่แจ้งตามมาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละสองพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะแจ้ง

 

มาตรา ๓๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๔๐ ผู้ใดไม่แสดงราคาหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๒๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

 

มาตรา ๔๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๓๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๔๒ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลในเรื่องนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอม หรือตนได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้นแล้ว

 

มาตรา ๔๓ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือเป็นความผิดที่มีโทษปรับหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีและปรับให้คณะกรรมการมีอำนาจเปรียบเทียบได้ ในการใช้อำนาจดังกล่าวคณะกรรมการอาจมอบหมายให้คณะอนุกรรมการ เลขาธิการ ประธาน กจร. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำแทนได้

การมอบหมายตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกร. กำหนด

เมื่อผู้กระทำผิดยินยอมเสียค่าปรับในอัตราอย่างสูงสำหรับความผิดนั้น ในกรณีโทษปรับสถานเดียว หรือเมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบ ภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

บทเฉพาะกาล

 

 

มาตรา ๔๔ ให้บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีระเบียบหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ชวน หลีกภัย

นายกรัฐมนตรี

 

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีความไม่เหมาะสม เพราะมีสาระเป็นสองส่วน คือ การกำหนดราคาสินค้าและการป้องกันการผูกขาด ซึ่งทั้งสองส่วนมีวัตถุประสงค์ในการบังคับใช้กฎหมายแตกต่างกัน แต่มีองค์กรที่ทำหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้เพียงองค์กรเดียว ดังนั้น สมควรแยกบทบัญญัติและองค์กรที่ทำหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดราคาสินค้าและการป้องกันการผูกขาดออกจากกัน เพื่อให้การดำเนินการตามกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพประกอบกับบทบัญญัติเดิมในส่วนของการกำหนดราคาสินค้ายังไม่ชัดเจนและเหมาะสม สมควรปรับปรุงเสียใหม่ให้ชัดเจนขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 
ป้ายโฆษณา

รับติดตั้งจานดาวเที่ยม กล้องวงจรปิด

เนื้อโคขุนโพนยางคำ

Login Form


Polls

ปกติใช้คอมพิวเตอร์ for ?
 

Who's Online

เรามี 5 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

Counter

จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 2523756

RSS