พรบ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522

วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน 2012 เวลา 20:26 น. ผู้ดูแลระบบ
พิมพ์

พระราชบัญญัติ

การขนส่งทางบก

พ.ศ. ๒๕๒๒

 

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒

เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการขนส่ง

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒”

 

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓ ให้ยกเลิก

(๑) พระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗

(๒) พระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๐

(๓) พระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘

บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

 

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

(๑) “การขนส่ง” หมายความว่า การขนคน สัตว์ หรือสิ่งของ โดยทางบกด้วยรถ

(๒) “การขนส่งประจำทาง” หมายความว่า การขนส่งเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่คณะกรรมการกำหนด

(๓) “การขนส่งไม่ประจำทาง” หมายความว่า การขนส่งเพื่อสินจ้างโดยไม่จำกัดเส้นทาง

(๔)“การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก” หมายความว่า การขนส่งคนหรือสิ่งของหรือคนและสิ่งของรวมกันเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่คณะกรรมการกำหนดด้วยรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันไม่เกินสี่พันกิโลกรัม

(๕)“การขนส่งส่วนบุคคล” หมายความว่า การขนส่งเพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเองด้วยรถที่มีน้ำหนักเกินกว่าหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม

(๖) “การขนส่งระหว่างจังหวัด” หมายความว่า การขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทำระหว่างจังหวัดกับจังหวัด

(๗) “การขนส่งระหว่างประเทศ” หมายความว่า การขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทำระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ

(๘) “การรับจัดการขนส่ง” หมายความว่า การรับจ้างรวบรวมคน สัตว์หรือสิ่งของ และจัดให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทำการขนส่งจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งในความรับผิดชอบของผู้รับจัดการขนส่ง

(๙) “รถ” หมายความว่า ยานพาหนะทุกชนิดที่ใช้ในการขนส่งทางบกซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น และหมายความรวมตลอดถึงรถพ่วงของรถนั้นด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่รถไฟ

(๑๐) “ผู้ตรวจการ” หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกรมการขนส่งทางบก ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตรวจการขนส่ง

(๑๑) “พนักงานตรวจสภาพ” หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกรมการขนส่งทางบก ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตรวจความมั่นคงแข็งแรง ความสะอาด ความเรียบร้อย และความเหมาะสมของสภาพรถที่นำมาใช้ในการขนส่ง

(๑๒) “นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนกลาง หรือนายทะเบียนประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี

(๑๓) “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง หรือคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี

(๑๔) “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมการขนส่งทางบก

(๑๕) “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่

(๑) การขนส่งโดยรถยนต์ทหารตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร

(๒) การขนส่งโดย

(ก) รถยนต์รับจ้างที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัดที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์บริการที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์

(ข) รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคน และรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้าง

(ค) รถยนต์สามล้อ รถจักรยานยนต์ และรถแทร็กเตอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์

(๓) การขนส่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๖ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเป็นนายทะเบียนกลางมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งระหว่างจังหวัดและการขนส่งระหว่างประเทศ

ให้นายทะเบียนกลางเป็นนายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ภายในเขตกรุงเทพมหานคร

ให้ขนส่งจังหวัดเป็นนายทะเบียนประจำจังหวัด มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ภายในเขตจังหวัดของตน

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจมอบหมายกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำแทนได้

การมอบหมายตามวรรคสี่ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ตรวจการและพนักงานตรวจสภาพกับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียมและกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวง

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

 

หมวด ๑

คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก

 

 

มาตรา ๘ ให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกคณะหนึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร* อธิบดีกรมทางหลวงเป็นกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินห้าคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทย และมีความรู้หรือความจัดเจนในการขนส่ง การเศรษฐกิจหรือกฎหมาย

ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ

ให้คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น

 

มาตรา ๙ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี

ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อม ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วนั้น

กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้

 

มาตรา ๑๐ ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ห้ามมิให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

(๑) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๒) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๔) เป็นกรรมการพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง

 

มาตรา ๑๑ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๙ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) รัฐมนตรีให้ออก

(๔) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐

 

มาตรา ๑๒ ในการประชุมของคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานและรองประธานไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมแทน

 

มาตรา ๑๓ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

 

มาตรา ๑๔ คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดนโยบายการขนส่งทางบกระยะสั้นและระยะยาวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

(๒) กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาและดำเนินการสถานีขนส่งเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

(๓) กำหนดมาตรการและแผนพัฒนาการขนส่งทางบกเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

(๔) กำหนดมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยและความสะดวกในการขนส่งทางบก เพื่อให้คณะกรรมการปฏิบัติ

(๕) กำหนดการห้ามรับจดทะเบียนรถเป็นครั้งคราวตามความจำเป็นโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้คณะกรรมการปฏิบัติ

(๖) ประสานงานที่เกี่ยวข้องระหว่างกันในด้านการขนส่งทางบก ตลอดจนประสานงานด้านการขนส่งทางบกกับการขนส่งทางน้ำและการขนส่งทางอากาศ

(๗) ให้คำปรึกษาต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการขนส่งทางบก

 

มาตรา ๑๕ คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้

ให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

 

หมวด ๒

คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบก

 

 

มาตรา ๑๖ ให้มีคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางคณะหนึ่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผู้แทน อธิบดีกรมทางหลวงชนบทหรือผู้แทน* อธิบดีกรมตำรวจหรือผู้แทน อธิบดีกรมทางหลวงหรือผู้แทน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้แทนเป็นกรรมการ และผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ ทั้งนี้ โดยให้มีผู้มีความรู้และมีความจัดเจนในการขนส่งรวมอยู่ด้วย

ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ

ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น

 

มาตรา ๑๗ ให้มีคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดทุกจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ อัยการจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นกรรมการ และผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินห้าคน โดยมีนายกเทศมนตรีในจังหวัดนั้นรวมอยู่ด้วยหนึ่งคนเป็นกรรมการ

ให้ขนส่งจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ

ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น

 

มาตรา ๑๘ ให้นำมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง และคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดโดยอนุโลม

 

มาตรา ๑๙ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดลักษณะของการขนส่งประจำทางและการขนส่งไม่ประจำทาง

(๒) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่ง และจำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างจังหวัดและระหว่างประเทศ

(๓) กำหนดจำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างจังหวัดและระหว่างประเทศ

(๔) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่ง และจำนวนรถสำหรับการขนส่ง โดยรถขนาดเล็ก

(๕) กำหนดจำนวนผู้ประกอบการรับจัดการขนส่ง

(๖) กำหนดอัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง

(๗) กำหนดอัตราค่าบริการในการดำเนินการของสถานีขนส่ง

(๘) กำหนดสถานที่ จัดให้มีหรือจัดตั้ง และระเบียบเกี่ยวกับสถานีขนส่ง

(๙) กำหนดชนิดหรือสภาพรถที่มิให้รับจดทะเบียน

(๑๐) กำหนดประเภทหรือชนิดของรถที่ต้องเข้าหยุดหรือจอดเพื่อการรับส่งผู้โดยสารหรือขนถ่ายสินค้า ณ สถานีขนส่ง

(๑๑) กำหนดที่หยุดหรือจอดรถเพื่อรับส่งผู้โดยสาร

(๑๒) วางมาตรการในการกำหนด อนุญาต เพิกถอนการอนุญาตและการควบคุมกิจการขนส่งทางบก

(๑๓) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และตามมติคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก

การกำหนดตาม (๒) (๓) (๔) (๘) (๙) และ (๑๐) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๒๐ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ภายในเขตจังหวัด ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทาง

(๒) กำหนดจำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทาง

(๓) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก

(๔) กำหนดอัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง

(๕) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และตามมติคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกและคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง

การกำหนดตาม (๑) และ (๔) เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางแล้วจึงจะใช้บังคับได้ และการกำหนดตาม (๑) (๒) และ (๓) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๒๑ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้

ให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

มาตรา ๒๒ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการการขนส่งทางบก เพื่อประโยชน์ในการนี้จะสั่งให้คณะกรรมการชี้แจงข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็นหรือทำรายงานหรือยับยั้งการกระทำใด ๆ ซึ่งขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินงานได้

 

หมวด ๓

การประกอบการขนส่ง

 

 

มาตรา ๒๓ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก หรือการขนส่งส่วนบุคคล เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน

การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๒๔ ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทางและการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องมีสัญชาติไทย

ในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดนั้นต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย และ

(๑) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดต้องมีสัญชาติไทย

(๒) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดทั้งหมดต้องมีสัญชาติไทย และทุนของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดต้องเป็นของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย

(๓) ในกรณีที่เป็นบริษัทจำกัด กรรมการบริษัทจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย และทุนของบริษัทจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดต้องเป็นของผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย หรือต้องเป็นของห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด หรือต้องเป็นของกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือองค์การของรัฐ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ และบริษัทจำกัดนั้นต้องไม่มีข้อบังคับ อนุญาตให้มีการออกหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ

(๔) ในกรณีที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด กรรมการบริษัทจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย และทุนของบริษัทมหาชนจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดต้องเป็นของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย

ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ผู้ถือหุ้นดังกล่าวจะต้องมีลักษณะตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) แล้วแต่กรณี

ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีอำนาจยกเว้นคุณสมบัติตามความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษเป็นการเฉพาะรายได้

 

มาตรา ๒๕ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการขนส่งระหว่างประเทศเว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางและผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่ออนุสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่ง

การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ให้นำมาตรา ๒๘ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๖ มาใช้บังคับแก่การประกอบการขนส่งระหว่างประเทศโดยอนุโลม

 

มาตรา ๒๖ ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศมาใช้ประกอบการขนส่งในประเทศไทย เว้นแต่เพื่อการขนส่งระหว่างประเทศและได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลางแล้ว

ผู้ประจำรถตามมาตรา ๙๒ ซึ่งประจำในรถตามวรรคหนึ่งต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายแห่งพระราชบัญญัตินี้ และหรือตามข้อตกลงที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศ นั้น ๆ

 

มาตรา ๒๗ ใบอนุญาตประกอบการขนส่งมีสี่ประเภท คือ

(๑) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง

(๒) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง

(๓) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก

(๔) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล

ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางหรือใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ให้ใช้เป็นใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลได้

ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้รถผิดประเภทตามที่ระบุไว้ข้างต้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนเป็นครั้งคราว ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด

 

มาตรา ๒๘ ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางให้มีอายุเจ็ดปีนับแต่วันออกใบอนุญาต

ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันออกใบอนุญาต

ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอเสียก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ แต่การขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางและใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก จะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน

การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๒๙ บทบัญญัติมาตรา ๒๓ มิให้ใช้บังคับแก่การขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น วัด มูลนิธิ สภากาชาดไทย สถานพยาบาล หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เป็นผู้ประกอบการขนส่ง แต่ผู้ประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้เสมือนดังเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลทุกประการ

 

มาตรา ๓๐ ให้นายทะเบียนกลางเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในกรุงเทพมหานคร การขนส่งระหว่างจังหวัด และการขนส่งระหว่างประเทศ และให้นายทะเบียนประจำจังหวัดเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในจังหวัดของตน

ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ

 

มาตรา ๓๑ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ

(๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่งตามเส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง

(๒) สิทธิในรถที่ใช้ประกอบการขนส่งของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง

(๓) ลักษณะ ชนิด ขนาดและสีของรถและเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน

(๔) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุกและวิธีการบรรทุก

(๕) จำนวนผู้ประจำรถ

(๖) เส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง

(๗) อัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง

(๘) สถานที่หยุดและจอดเพื่อขนถ่ายคน สัตว์ หรือสิ่งของ

(๙) ที่ที่รถจะต้องหยุดในระหว่างเส้นทาง

(๑๐) มาตรฐานบริการในการประกอบการขนส่ง

(๑๑) เวลาและจำนวนเที่ยวของการเดินรถ

(๑๒) เวลาทำงานประจำวันในการประกอบการขนส่ง

(๑๓) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ

(๑๔) การประกอบกิจการอื่นนอกจากการประกอบการขนส่งประจำทาง

(๑๕) เงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง

ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางต้องจัดให้มีประกาศเงื่อนไขตาม (๖) (๗) (๘) (๙) และ (๑๑) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด

 

มาตรา ๓๒ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ

(๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่ง

(๒) ลักษณะ ชนิดและขนาดของรถและเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน

(๓) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุกและวิธีการบรรทุก

(๔) จำนวนผู้ประจำรถ

(๕) ท้องที่ที่ทำการขนส่ง

(๖) มาตรฐานบริการในการประกอบการขนส่ง

(๗) อัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง

(๘) สถานที่หยุดและจอดเพื่อขนถ่ายคน สัตว์ หรือสิ่งของ

(๙) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ

(๑๐) เงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง

ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางต้องจัดให้มีการประกาศเงื่อนไขตาม (๗) และ (๘) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด

 

มาตรา ๓๓ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ

(๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่งตามเส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง

(๒) ลักษณะ ชนิด ขนาดและสีของรถและเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน

(๓) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุก และวิธีการบรรทุก

(๔) เวลาและจำนวนเที่ยวของการเดินรถ

(๕) เส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง

(๖) อัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง

(๗) เงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง

ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็กต้องจัดให้มีประกาศเงื่อนไขตาม (๕) และ (๖) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด

 

มาตรา ๓๔ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ให้นายทะเบียนกำหนดเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ

(๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่ง

(๒) ลักษณะ ชนิด และขนาดของรถและเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน

(๓) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษา

(๔) จำนวนผู้ประจำรถ

(๕) เงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๓๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามประเภทที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ และหรือใบกำกับสินค้าที่ทำการขนส่งและต้องทำรายงานเกี่ยวกับการขนส่งและอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๓๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดให้มีอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๓๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางจัดให้มีที่พักผู้โดยสารตามระยะทางโดยมีลักษณะ ขนาด จำนวน และจุดที่ตั้งของที่พักผู้โดยสารตามที่คณะกรรมการกำหนด

 

มาตรา ๓๘ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง เพิ่ม ลดหรือยกเว้นค่าขนส่งหรือค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ

 

มาตรา ๓๙ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก หรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลใช้หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้รถที่ได้รับอนุญาตทำการขนส่งนอกเส้นทาง หรือนอกท้องที่ที่ได้รับอนุญาตแล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมาย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด

 

มาตรา ๔๐ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางกระทำการขนส่งอันมีลักษณะเช่นเดียวหรือคล้ายกับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางหรือมีลักษณะเป็นการแย่งผลประโยชน์กับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางได้รับอนุญาต

 

มาตรา ๔๐ ทวิ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้หรือยินยอมให้ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ขับรถที่ใช้ในการขนส่งหากปรากฏว่าขณะใช้หรือขณะยินยอมให้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถ ผู้นั้นมีอาการ หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(๑) เมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น

(๒) เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ

(๓) เสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องคอยดูแลและป้องกันไม่ให้ผู้ซึ่งมีอาการ หรือกระทำการตาม (๑) (๒) หรือ (๓) ของวรรคหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ขับรถ

 

มาตรา ๔๑ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน หรือมีความจำเป็นที่จะแก้ไขสถานการณ์เพื่อให้การขนส่งได้รับความสะดวกหรือให้มีรถเพียงพอแก่การขนส่ง นายทะเบียนมีอำนาจที่จะสั่งเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินรถ เวลา และจำนวนเที่ยวของการเดินรถหรือให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ผู้ใดส่งรถที่ตนได้รับอนุญาตไปช่วยเหลือเป็นการชั่วคราวตามควรแก่กรณีแล้วให้รายงานคณะกรรมการโดยเร็ว

 

มาตรา ๔๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องแสดงใบอนุญาตประกอบการขนส่ง หรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ตั้งสำนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาต

 

มาตรา ๔๓ ในกรณีที่ใบอนุญาตประกอบการขนส่งสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดดังกล่าว

มาตรา ๔๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ซึ่งประสงค์จะเลิกประกอบการขนส่งต้องแจ้งความประสงค์ดังกล่าวเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนวันเลิกประกอบการขนส่ง

 

มาตรา ๔๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็กซึ่งประสงค์จะเลิกประกอบการขนส่งต้องแจ้งความประสงค์ดังกล่าวเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันเลิกประกอบการขนส่ง

 

มาตรา ๔๖ เมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง

(๑) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๒๔

(๒) ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขในมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ หรือไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยของผู้โดยสารตามมาตรา ๓๖ หรือไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติในหมวด ๔ ว่าด้วยการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง

ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือจัดการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ปฏิบัติหรือไม่แก้ไขให้ถูกต้อง หรือเป็นที่เห็นได้ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่สามารถจะดำเนินการตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดนั้น หรือการดำเนินการนั้นน่าจะเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายหรือเสื่อมประโยชน์ต่อประชาชน ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ แต่ถ้าเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางที่จะพิจารณาอนุมัติ

 

มาตรา ๔๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต้องส่งคืนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

 

มาตรา ๔๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง

คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

 

มาตรา ๔๙ ให้อธิบดีหรือนายทะเบียนมีอำนาจควบคุมดูแลบรรดากิจการที่เกี่ยวกับการขนส่งให้เป็นไปตามความในพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อประโยชน์ดังกล่าวให้อธิบดีหรือนายทะเบียนมีอำนาจ

(๑) เข้าไปในสถานที่ดำเนินการของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งในระหว่างเวลาทำงานตามปกติ เพื่อทราบข้อเท็จจริงและเพื่อตรวจสอบบัญชีและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการขนส่ง

(๒) เรียกผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ผู้จัดการและพนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นนิติบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือสั่งให้ยื่นคำชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงตามที่ต้องการ

ในการปฏิบัติตาม (๑) ให้อธิบดีมีอำนาจมอบหมายให้ผู้ตรวจการหรือพนักงานตรวจสภาพทำการแทนได้

ในการปฏิบัติการของอธิบดี นายทะเบียน ผู้ตรวจการหรือพนักงานตรวจสภาพตามมาตรานี้ ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในสถานที่นั้นอำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือตามสมควร

 

มาตรา ๕๐ ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจเรียกรถให้หยุดเพื่อทำการตรวจสอบ และเมื่อเชื่อว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้น ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจจับกุมผู้ฝ่าฝืนเพื่อส่งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินคดีต่อไป

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งไม่ลบล้างอำนาจจับกุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ

 

มาตรา ๕๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๙ และมาตรา ๕๐ ให้ผู้ตรวจการและพนักงานตรวจสภาพแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวผู้ตรวจการและพนักงานตรวจสภาพให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด

 

หมวด ๔

การชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง

 

 

มาตรา ๕๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ต้องวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด หรือพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกัน หรือเป็นสัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งทำกับบริษัทประกันภัยที่นายทะเบียนกลางให้ความเห็นชอบ ต่อนายทะเบียนกลาง ในกรณีเป็นสัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องเป็นผู้เอาประกันภัย โดยให้บุคคลภายนอกผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการขนส่งของตนเป็นผู้รับประโยชน์สำหรับการชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นเพื่อประกันความเสียหายอันเกิดแก่ชีวิตหรือร่างกายของบุคคลภายนอกและซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจะต้องรับผิดชอบเนื่องจากการขนส่งของตน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

จำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดตามขนาดและประเภทของการประกอบการขนส่งแต่ต้องไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้ดอกผลที่เกิดจากหลักทรัพย์ที่เป็นเงินสดนั้นตกเป็นของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่วางหลักทรัพย์

ให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้รับผิดชอบในการเปิดบัญชีเงินฝาก และการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีหลักทรัพย์กับธนาคารตามระเบียบของกระทรวงการคลัง

 

มาตรา ๕๓ ในกรณีที่หลักทรัพย์ที่นำมาวางประกันตามมาตรา ๕๒ มีจำนวนหรือมูลค่าลดน้อยลง นายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนำหลักทรัพย์มาเพิ่มเติมให้ครบจำนวนหรือมูลค่าตามที่กำหนดได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง

 

มาตรา ๕๔ ในการวางหลักทรัพย์ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลไทย ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทำหนังสือมอบอำนาจให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจจัดการจำหน่ายพันธบัตรนั้น เพื่อชดใช้ค่าเสียหายแทนผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วย

 

มาตรา ๕๕ หลักทรัพย์ที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนำมาวางประกันตามมาตรา ๕๒ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เว้นแต่จะเป็นการบังคับคดีเพื่อการชำระหนี้ ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดแก่ชีวิตหรือร่างกายของบุคคลภายนอกอันเนื่องจากการขนส่งของตน

 

มาตรา ๕๖ เมื่อรถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายหรือชีวิตของบุคคลใดนอกจากความรับผิดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นเจ้าของรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายจะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย

ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นซึ่งจะต้องจ่ายให้แก่ผู้เสียหาย ให้จ่ายตามความร้ายแรงของความเสียหาย ทั้งนี้ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นหมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ระหว่างการรักษาพยาบาลและหรือค่าปลงศพ

 

มาตรา ๕๗ เมื่อผู้เสียหายหรือทายาทในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ประสงค์จะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ให้ยื่นคำขอตามแบบที่กรมตำรวจกำหนดต่อพนักงานสอบสวน โดยแสดงพยานหลักฐานว่าผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากรถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ให้พนักงานสอบสวนพิจารณาจากสำนวนการสอบสวน และเมื่อเห็นว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นจากรถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งคันใด ให้มีหนังสือสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นเจ้าของรถคันนั้นชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามจำนวนที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๕๖ วรรคสอง ในการนี้ให้แจ้งให้นายทะเบียนกลางทราบโดยเร็วด้วย

ในการสั่งของพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่ง พนักงานสอบสวนต้องพิจารณาสั่งภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ

ในการชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ต้องชำระภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งจากพนักงานสอบสวน

 

มาตรา ๕๘ ผู้เสียหายหรือทายาทของผู้เสียหายต้องใช้สิทธิในการขอรับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามมาตรา ๕๗ ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ความเสียหายเกิดขึ้น

 

มาตรา ๕๙ การชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามหมวดนี้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายในอันที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

มาตรา ๖๐ บุคคลซึ่งมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามหมวดนี้ได้แก่ผู้เสียหายดังต่อไปนี้

(๑) ผู้เสียหายซึ่งมิได้อยู่ในรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ได้รับความเสียหายจากรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น

(๒) ผู้เสียหายซึ่งอยู่ในรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ไม่รวมถึงผู้ขับรถ คนงานหรือลูกจ้างประจำรถซึ่งอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่

(๓) ผู้เสียหายซึ่งอยู่ในรถคันที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย

 

มาตรา ๖๑ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๕๗ ให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับคำสั่งของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๕๗ และให้พนักงานสอบสวนบันทึกความเห็นของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งไม่เห็นด้วยไว้ในสำนวนการสอบสวน

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งกลางให้เป็นที่สุด

 

มาตรา ๖๒ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานสอบสวน ถ้าคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีความเห็นตามความเห็นของพนักงานสอบสวน ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทของผู้เสียหายเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่พนักงานสอบสวนกำหนดไว้อีกร้อยละสิบ

 

มาตรา ๖๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๕๗ หรือตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางตามมาตรา ๖๑ ในกรณีที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามมาตรา ๕๒ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจนำหลักทรัพย์ของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนั้นซึ่งได้นำมาวางไว้เป็นประกันชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นแทนได้

 

มาตรา ๖๔ ในกรณีที่ผู้เสียหายไม่ได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นหรือได้รับชดใช้ไม่ครบตามจำนวนที่พนักงานสอบสวนหรือคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางสั่ง ไม่ว่าเพราะเหตุหลักทรัพย์ที่วางประกันไว้ไม่พอจ่ายค่าใช้จ่ายเบื้องต้น หรือเพราะเหตุอื่นใด เมื่อผู้เสียหายได้ร้องเรียนต่อนายทะเบียนกลาง ให้นายทะเบียนกลางสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งชำระให้เสร็จสิ้นภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนกลางดังกล่าว ให้นายทะเบียนกลางเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และให้นำมาตรา ๔๗ และมาตรา ๔๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

หมวด ๕

การรับจัดการขนส่ง

 

 

มาตรา ๖๕ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการรับจัดการขนส่ง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง

การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๖๖ ในการออกใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง ให้นายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ

(๑) ท้องที่ที่ประกอบการรับจัดการขนส่ง

(๒) สถานที่ตั้งสำนักงานของผู้ประกอบการรับจัดการขนส่ง

(๓) สถานที่พักคน สัตว์ หรือเก็บสิ่งของ

(๔) วิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับสวัสดิภาพ ความสะดวกและความปลอดภัยในการรับจัดการขนส่ง

(๕) อัตราค่าบริการรับจัดการขนส่ง

(๖) เงื่อนไขอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งต้องจัดให้มีการประกาศเงื่อนไขตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด

 

มาตรา ๖๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๖๕ ต้องวางหลักทรัพย์ต่อนายทะเบียน เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญารับจัดการขนส่ง ทั้งนี้ ตามจำนวนหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๖๘ ในกรณีที่หลักทรัพย์ที่นำมาวางประกันตามมาตรา ๖๗ มีจำนวนหรือมูลค่าลดน้อยลง นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตนำหลักทรัพย์มาเพิ่มเติมให้ครบจำนวนหรือมูลค่าตามที่กำหนดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง

 

มาตรา ๖๙ ใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๗๐ ให้นำมาตรา ๒๔ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙ มาใช้บังคับแก่การประกอบการรับจัดการขนส่งโดยอนุโลม

 

หมวด ๖

รถ

 

 

มาตรา ๗๑ รถที่ใช้ในการขนส่งต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกับได้จดทะเบียนตามมาตรา ๗๓ และเสียภาษีตามมาตรา ๘๕ แล้ว

รถที่ใช้ในการขนส่งที่เสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์

 

มาตรา ๗๒ รถที่จะนำมาจดทะเบียนและเสียภาษีต้องผ่านการตรวจสภาพรถจากพนักงานตรวจสภาพ หรือจากสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๗๔ เว้นแต่รถประเภท หรือชนิดใดที่สมควรได้รับการยกเว้นการตรวจสภาพเป็นครั้งคราวให้กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีที่ปรากฏว่ารถที่นำมารับการตรวจสภาพนั้นมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีเครื่อง อุปกรณ์ และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ให้พนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับการอนุญาตออกใบรับรองให้

ใบรับรองการตรวจสภาพรถให้ทำตามแบบที่อธิบดีกำหนด

 

มาตรา ๗๓ เมื่อนายทะเบียนเห็นว่าพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตได้ตรวจสภาพรถถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๑ และมาตรา ๗๒ แล้ว ให้รับจดทะเบียนและออกหนังสือแสดงการจดทะเบียนพร้อมกับแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคันนั้นให้โดยไม่ชักช้า

 

มาตรา ๗๔ ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเพื่อรับรองสภาพรถตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง

การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๗๕ ใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถให้มีอายุสามปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๗๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๗๔ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถนั้นได้

ให้นำมาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙ มาใช้บังคับแก่การจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตโดยอนุโลม

 

มาตรา ๗๗ หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถให้ใช้ได้สี่งวดนับแต่งวดที่ออกหนังสือนี้

ให้เดือนมกราคม เดือนเมษายน เดือนกรกฎาคม และเดือนตุลาคมเป็นเดือนแรกของแต่ละงวด

การขอต่ออายุทะเบียน ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนภายในเวลาที่นายทะเบียนจะได้ประกาศกำหนด

ให้นำมาตรา ๗๑ มาตรา ๗๒ และมาตรา ๗๓ มาใช้บังคับแก่การขอต่ออายุทะเบียนโดยอนุโลม

 

มาตรา ๗๘ ห้ามมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงสภาพเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบของรถให้ผิดแผกแตกต่างในสาระสำคัญตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน

 

มาตรา ๗๙ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่ประสงค์จะเลิกใช้รถที่จดทะเบียนแล้ว แจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบและนำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคืนแก่นายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เลิกใช้รถนั้น

 

มาตรา ๘๐ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งมีความจำเป็นจะต้องระงับใช้รถนั้นชั่วคราวเป็นเวลาเกินสิบห้าวันแจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบก่อนวันที่จะระงับใช้รถนั้น

 

มาตรา ๘๑ รถที่ยังมิได้จดทะเบียนตามความในพระราชบัญญัตินี้หรือรถที่เลิกใช้ตามมาตรา ๗๙ ถ้าจะนำมาใช้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม ต้องมีใบอนุญาตและเครื่องหมายโดยเฉพาะตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ใบอนุญาตและเครื่องหมายดังกล่าวใช้ได้เฉพาะรถที่อยู่ในความครอบครองของผู้ได้รับใบอนุญาตโดยสับเปลี่ยนกันได้ ไม่เฉพาะคัน

 

มาตรา ๘๒ การโอนรถซึ่งได้จดทะเบียนตามมาตรา ๗๓ แล้วผู้โอนและผู้รับโอนจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันโอนและให้นายทะเบียนจดแจ้งการโอนไว้ในหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถนั้น

 

มาตรา ๘๓ เมื่อผู้ตรวจการตรวจพบว่ารถคันใดมีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงหรือมีเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบไม่ครบถ้วน หรือไม่ถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ผู้ตรวจการรายงานให้นายทะเบียนทราบ แต่ถ้าปรากฏโดยชัดแจ้งว่าการใช้รถคันนั้นต่อไปน่าจะเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายแก่การขนส่ง ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจสั่งระงับใช้ไว้เป็นการชั่วคราวได้ และให้รีบรายงานให้นายทะเบียนทราบภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง

ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้เป็นเจ้าของรถตามวรรคหนึ่ง จัดการส่งรถคันนั้นไปให้พนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตรวจสอบความบกพร่องตามรายงานของผู้ตรวจการภายในเวลาที่กำหนด

เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งตามวรรคสองแล้ว ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตงดการใช้รถดังกล่าวไว้จนกว่านายทะเบียนจะมีคำสั่งอนุญาตให้ใช้ได้ต่อไป

 

มาตรา ๘๔ เมื่อพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตเห็นว่ารถที่นำมาให้ตรวจตามมาตรา ๘๓ สมควรจะต้องซ่อมแซม ปรับปรุงเพื่อให้รถกลับมีสภาพมั่นคงแข็งแรง หรือจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์หรือส่วนควบให้ถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้แจ้งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุงหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง แล้วให้พนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตรวจสอบความถูกต้องและรายงานให้นายทะเบียนทราบ

เมื่อได้พิจารณาเห็นสมควรตามรายงานของพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนอนุญาตให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้รถคันนั้นต่อไปได้

 

มาตรา ๘๕ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีรถตามพระราชบัญญัตินี้ กรมการขนส่งทางบกจะกำหนดเวลาการชำระภาษีรถประจำปีสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งแต่ละรายก็ได้ และให้คำนวณภาษีตามน้ำหนักรถตามอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้

ในการคำนวณน้ำหนักรถ ให้รวมน้ำหนักของรถและเครื่องอุปกรณ์ที่ติดอยู่กับตัวรถ ตามปกติแต่ไม่รวมน้ำหนักของน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันเครื่อง น้ำและเครื่องมือประจำรถ เศษของหนึ่งกิโลกรัมให้ปัดทิ้ง

เงินภาษีรถตามพระราชบัญญัตินี้ที่จัดเก็บได้ในกรุงเทพมหานครให้ตกเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร ส่วนในจังหวัดอื่นให้ตกเป็นรายได้ของราชการส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนั้น โดยให้จังหวัดจัดสรรตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๘๖ ภาษีรถให้ชำระล่วงหน้าเป็นรายปีต่อนายทะเบียน และจะขอชำระเป็นงวดก็ได้ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

รถที่จดทะเบียนใหม่ในงวดใด ให้ชำระภาษีตั้งแต่งวดนั้นเป็นต้นไป

ถ้าเจ้าของรถไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลาที่จะต้องชำระให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละหนึ่งต่อเดือน หรือเศษของเดือนของภาษีที่ต้องชำระ

เงินเพิ่มตามมาตรานี้ให้ถือเป็นเงินภาษี

 

มาตรา ๘๖/๑ รถที่ได้เสียภาษีรถประจำปีสำหรับปีใด ถ้าเปลี่ยนเจ้าของรถ เจ้าของใหม่ไม่ต้องเสียภาษีรถประจำปีในปีนั้นอีก

 

มาตรา ๘๖/๒ ในระหว่างที่เจ้าของรถค้างชำระภาษีรถประจำปี ให้นายทะเบียนมีอำนาจที่จะไม่รับดำเนินการทางทะเบียนจนกว่าเจ้าของรถจะเสียภาษีที่ค้างชำระให้ครบถ้วนก่อนหรือได้มีการดำเนินการตามมาตรา ๘๖/๓ วรรคสองแล้ว

 

มาตรา ๘๖/๓ รถที่ค้างชำระภาษีรถประจำปีไม่ถึงสามปี หากเจ้าของรถประสงค์จะขอเสียภาษีรถประจำปีเพื่อใช้รถในปีนั้น ให้นายทะเบียนรับชำระภาษีนั้นได้

สำหรับภาษีรถที่ค้างชำระให้นายทะเบียนกำหนดจำนวนเงิน และระยะเวลาในการชำระตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ในกรณีที่เจ้าของรถผิดนัดไม่เสียภาษีรถที่ค้างชำระตามวรรคสองให้ครบถ้วนนายทะเบียนมีอำนาจที่จะไม่รับดำเนินการทางทะเบียน จนกว่าเจ้าของรถจะเสียภาษีรถที่ค้างชำระให้ครบถ้วน

 

มาตรา ๘๖/๔ รถที่ค้างชำระภาษีรถประจำปีติดต่อกันครบสามปี ให้การจดทะเบียนรถเป็นอันระงับไป ในการนี้ให้นายทะเบียนประกาศหมายเลขทะเบียนพร้อมทั้งจำนวนภาษีที่ค้างชำระไว้ ณ ที่ทำการนายทะเบียนและในสถานที่ที่อธิบดีประกาศกำหนด และแจ้งให้เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถทราบ และให้บุคคลดังกล่าวส่งคืนแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถต่อนายทะเบียนและนำหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถมาแสดงต่อนายทะเบียนเพื่อบันทึกหลักฐานการระงับทะเบียนรถภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งและปิดประกาศดังกล่าว

ในกรณีที่เจ้าของรถหรือผู้ครองครอบรถมิได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้นายทะเบียนหรือผู้ตรวจการหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจยึดแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถได้

ให้ภาระภาษีรถประจำปีหลังจากปีที่สามเป็นอันระงับไป แต่เจ้าของรถหรือผู้ครอบครอบรถยังคงต้องเสียภาษีที่ค้างชำระให้ครบถ้วน และให้นำมาตรา ๘๖/๒ และมาตรา ๘๖/๓ วรรคสอง และวรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๘๗ รถที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีแล้ว ถ้าต่อมามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงเพิ่มเติม เป็นเหตุให้รถมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากเดิม เจ้าของรถจะต้องเสียภาษีเพิ่มตามน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นด้วย และให้นำมาตรา ๘๖ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๘๘ รถที่ใช้ในการขนส่งส่วนบุคคลของกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น วัด มูลนิธิ และสภากาชาดไทย ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

 

มาตรา ๘๘ ทวิ (ยกเลิก)

 

มาตรา ๘๙ รถที่ได้จดทะเบียนแล้ว ถ้าไม่ได้เสียภาษีตามกำหนดตามมาตรา ๘๖ เจ้าของรถต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบพร้อมกับนำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถนั้นคืนต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันถึงกำหนดเสียภาษีครั้งถัดไป

เจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งจะต้องเสียภาษีครั้งถัดไปตามมาตรา ๘๖

 

มาตรา ๙๐ เจ้าของรถต้องติดแผ่นป้ายเลขทะเบียนและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีที่นายทะเบียนออกให้ไว้กับตัวรถตามที่อธิบดีกำหนด

 

มาตรา ๙๑ ในกรณีที่แผ่นป้ายเลขทะเบียนหรือเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีสูญหาย ถูกทำลาย ชำรุดหรือลบเลือนในสาระสำคัญ ให้เจ้าของรถยื่นคำขอ ขอรับแผ่นป้ายเลขทะเบียนหรือเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีต่อนายทะเบียน ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย ชำรุด หรือลบเลือนดังกล่าว

 

หมวด ๗

ผู้ประจำรถ

 

 

มาตรา ๙๒ ผู้ประจำรถ ได้แก่

(๑) ผู้ขับรถ

(๒) ผู้เก็บค่าโดยสาร

(๓) นายตรวจ

(๔) ผู้บริการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๙๓ ห้ามมิให้ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน

การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๙๔ ใบอนุญาตสำหรับผู้ประจำรถ มี ๔ ประเภท คือ

(๑) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ

(๒) ใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร

(๓) ใบอนุญาตเป็นนายตรวจ

(๔) ใบอนุญาตเป็นผู้บริการ

ใบอนุญาตแต่ละประเภทจะใช้สับเปลี่ยนกันไม่ได้ เว้นแต่ใบอนุญาตประเภทที่หนึ่ง ประเภทที่สาม และประเภทที่สี่ใช้เป็นใบอนุญาตประเภทที่สองได้

 

มาตรา ๙๕ ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถมีดังนี้

(๑) ชนิดที่หนึ่ง ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันไม่เกินสามพันห้าร้อยกิโลกรัมที่มิได้ใช้ขนส่งผู้โดยสาร หรือสำหรับรถขนส่งผู้โดยสารไม่เกินยี่สิบคน

(๒) ชนิดที่สอง ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกินกว่าสามพันห้าร้อยกิโลกรัมที่มิได้ใช้ขนส่งผู้โดยสาร หรือสำหรับรถขนส่งผู้โดยสารเกินยี่สิบคน

(๓) ชนิดที่สาม ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถซึ่งโดยสภาพใช้สำหรับลากจูงรถอื่นหรือล้อเลื่อนที่บรรทุกสิ่งใด ๆ บนล้อเลื่อนนั้น

(๔) ชนิดที่สี่ ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับรถที่ใช้ขนส่งวัตถุอันตรายตามประเภท หรือชนิดและลักษณะการบรรทุกตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ใบอนุญาตแต่ละชนิดใช้สับเปลี่ยนกันไม่ได้ เว้นแต่ใบอนุญาตชนิดที่สอง ชนิดที่สาม และชนิดที่สี่ใช้เป็นใบอนุญาตชนิดที่หนึ่งได้ ใบอนุญาตชนิดที่สามและชนิดที่สี่ใช้เป็นใบอนุญาตชนิดที่สองได้ และใบอนุญาตชนิดที่สี่ใช้เป็นใบอนุญาตชนิดที่สามได้

ประกาศของอธิบดีตามความใน (๔) ของวรรคหนึ่ง ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๙๖ ผู้ขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถตามมาตรา ๙๓ ในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็กต้องมีคุณสมบัติและลักษณะดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทย

(๒) มีความรู้และความสามารถตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๓) ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการจนเป็นที่เห็นได้ว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยความเหมาะสม

(๔) ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(๕) ไม่เป็นผู้มีโรคติดต่ออันเป็นที่รังเกียจ

(๖) ไม่เป็นผู้ติดสุรายาเมาหรือยาเสพติดให้โทษ

(๗) ไม่เป็นผู้มีใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถประเภทหรือชนิดเดียวกับที่ได้รับอนุญาตอยู่แล้ว

(๘) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ เว้นแต่การเพิกถอนใบอนุญาตนั้นพ้นกำหนดสามปีแล้วนับแต่วันที่มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

(๙) ไม่เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดอันได้กระทำโดยประมาทที่มิใช่เกี่ยวกับการใช้รถในการกระทำผิดหรือความผิดลหุโทษ หรือได้พ้นโทษมาแล้วเกินสามปี

(๑๐) ไม่เป็นผู้เคยถูกควบคุมตัวเพราะมีพฤติการณ์เป็นภัยต่อสังคม หรือเป็นอันธพาล เว้นแต่ได้พ้นจากการควบคุมตัวมาแล้วเกินหนึ่งปี

 

มาตรา ๙๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๖ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง และได้ผ่านการศึกษาและจบหลักสูตรจากโรงเรียนการขนส่งของกรมการขนส่งทางบกหรือโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง

การรับรองโรงเรียนสอนขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๙๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๖ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร นายตรวจ และผู้บริการต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๙๙ ผู้ขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถในการขนส่งส่วนบุคคลต้องมีคุณสมบัติและมีลักษณะตามมาตรา ๙๖ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) และ (๑๐) และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๑๐๐ ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถให้มีอายุสามปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

การต่ออายุใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถยื่นคำขอต่อนายทะเบียนก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด

 

มาตรา ๑๐๑ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถต้องมีใบอนุญาตอยู่กับตัวและต้องแสดงต่อนายทะเบียนหรือผู้ตรวจการเมื่อขอตรวจ

 

มาตรา ๑๐๒ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถต้อง

(๑) แต่งกายสะอาดเรียบร้อยตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๒) ไม่แสดงกิริยาหรือใช้ถ้อยคำเป็นการเสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว รังแก รบกวน หรือหยาบหยามผู้หนึ่งผู้ใด หรือแสดงกิริยาวาจาหรือส่งเสียงด้วยประการหนึ่งประการใดในลักษณะไม่สมควรหรือไม่สุภาพ

(๓) ไม่เสพหรือเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น

(๓ ทวิ) ไม่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ

(๓ ตรี) ไม่เสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

(๔) ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๑๐๒ ทวิ ในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใด ในขณะปฏิบัติหน้าที่นั้นมีสารอยู่ในร่างกายอันเกิดจากการเสพสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น หรือยาเสพติดให้โทษ หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ให้ผู้ตรวจการหรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจมีอำนาจตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าผู้นั้นมีสารนั้น ๆ อยู่ในร่างกายหรือไม่

เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ วิธีการตรวจหรือทดสอบตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๑๐๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถนอกจากจะต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๒ แล้ว จะต้อง

(๑) ไม่ขับรถในเวลาที่ร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถ

(๒) ไม่รับบรรทุกบุคคลที่เป็นโรคเรื้อนหรือโรคติดต่อที่น่ารังเกียจไปกับผู้โดยสารอื่น

(๓) ไม่รับบรรทุกศพ สัตว์ หรือสิ่งของที่อาจเกิดอันตรายหรือเป็นที่พึงรังเกียจไปกับผู้โดยสาร

(๔) ไม่รับบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง ระเบิด หรือวัตถุอันตรายโดยฝ่าฝืนข้อห้าม ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

(๕) ต้องหยุดหรือจอดรถ ณ สถานีขนส่งและปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับสถานีขนส่งตามมาตรา ๑๙ (๘) และ (๑๐)

 

มาตรา ๑๐๓ ทวิ ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในการปฏิบัติหน้าที่ขับรถในรอบยี่สิบสี่ชั่วโมง ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถปฏิบัติหน้าที่ขับรถติดต่อกันเกินสี่ชั่วโมงนับแต่ขณะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ขับรถ แต่ถ้าในระหว่างนั้น ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถได้พักติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง ก็ให้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถต่อไปได้อีกไม่เกินสี่ชั่วโมงติดต่อกัน

 

มาตรา ๑๐๔ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถกระทำการใด ๆ ให้ผู้โดยสารจำต้องลงจากรถก่อนที่จะได้โดยสารถึงจุดหมายปลายทาง โดยที่ได้ชำระค่าโดยสารถูกต้องตามอัตราที่กำหนดแล้ว

 

มาตรา ๑๐๕ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถละเว้นการหยุดรถเพื่อรับหรือส่งผู้โดยสาร ณ ที่ที่มีเครื่องหมายให้รถนั้นหยุด ในเมื่อปรากฏว่ามีผู้โดยสารต้องการให้หยุดรถเพื่อรับหรือส่ง

 

มาตรา ๑๐๖ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถกระทำการใด ๆ อันเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร

 

มาตรา ๑๐๖ ทวิ ในกรณีที่มีความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ ว่าด้วยการยอมรับใบอนุญาตขับรถภายในประเทศซึ่งกันและกัน คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และมีใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสมาคมยานยนต์ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลของประเทศที่มีความตกลงดังกล่าวกับรัฐบาลไทย อาจใช้ใบอนุญาตขับรถของประเทศนั้นขับรถในราชอาณาจักรได้ตามประเภทและชนิดของรถที่ระบุไว้ในใบอนุญาตขับรถนั้น แต่ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาและหรือความตกลงที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ และตามบทบัญญัติทั้งหลายในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ขับรถตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๑๐๗ ในการขนส่งประจำทางหรือการขนส่งไม่ประจำทางระหว่างจังหวัดหรือระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถรับบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งผู้โดยสารที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต

 

มาตรา ๑๐๘ เมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๖ มาตรา ๙๗ มาตรา ๙๘ หรือมาตรา ๙๙ หรือบกพร่องไปในภายหลังเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้นั้นเสีย

 

มาตรา ๑๐๙ ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใด ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายในหมวดนี้ ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจยึดใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถของผู้นั้น และสั่งเป็นหนังสือให้ผู้นั้นไปรายงานตนต่อนายทะเบียนภายในเจ็ดสิบสองชั่วโมง คำสั่งนั้นให้ถือว่าเป็นใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถชั่วคราวภายในกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น

ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตนั้นได้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือจะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้นเสียก็ได้

 

มาตรา ๑๑๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถซึ่งถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง

คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต

 

มาตรา ๑๑๑ ให้นำบทบัญญัติทั้งหลายในกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ขับรถ ผู้เก็บค่าโดยสารและนายตรวจมาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

หมวด ๘

ผู้โดยสาร

 

 

มาตรา ๑๑๒ ผู้โดยสารต้องชำระค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด

 

มาตรา ๑๑๓ ผู้โดยสารต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสาร

ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดให้มีการประกาศข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งปิดไว้ ณ ที่เปิดเผยในรถ

 

หมวด ๙

สถานีขนส่ง

 

 

มาตรา ๑๑๔ สถานีขนส่งมี ๒ ประเภท คือ

(๑) สถานีขนส่งผู้โดยสาร

(๒) สถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ

ลักษณะของสถานีขนส่งตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๑๑๕ ให้กรมการขนส่งทางบกโดยอนุมัติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง จัดให้มีสถานีขนส่งขึ้นในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและในเขตท้องที่จังหวัดอื่น โดยจะดำเนินการเอง หรือจะมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจหรือองค์การของรัฐเป็นผู้ดำเนินการก็ได้

ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดค่าบริการในการดำเนินการของสถานีขนส่งไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด

บุคคลอื่นใดประสงค์จะจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางก่อน

การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

การจัดให้มีหรือจัดตั้งสถานีขนส่งขึ้นที่ใด เมื่อใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๑๑๖ ให้อธิบดีมีอำนาจกำกับและควบคุมการดำเนินการที่เกี่ยวกับสถานีขนส่งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้จะแต่งตั้งข้าราชการและหรือลูกจ้างสังกัดกรมการขนส่งทางบก ทำหน้าที่เป็นนายสถานีและเจ้าหน้าที่สถานีตามจำนวนที่เห็นสมควร มีอำนาจกำกับและควบคุมดังกล่าวด้วยก็ได้

 

มาตรา ๑๑๗ ในการบริหารงานที่เกี่ยวกับสถานีขนส่งของกรมการขนส่งทางบกตามมาตรา ๑๑๕ วรรคหนึ่ง อธิบดีจะแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วย ประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินแปดคนเพื่อดูแลควบคุมและดำเนินการที่เกี่ยวกับสถานีขนส่งก็ได้

กรรมการที่อธิบดีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้

ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ

ให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการนี้โดยอนุโลม

 

มาตรา ๑๑๘ ผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งตามมาตรา ๑๑๕ วรรคสาม ต้องมีคุณสมบัติและลักษณะตามมาตรา ๒๔

 

มาตรา ๑๑๙ ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งให้มีอายุตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดแต่ไม่เกินยี่สิบปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๑๒๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบกิจการสถานีขนส่งรวมทั้งการรักษาความเรียบร้อย ความปลอดภัยในบริเวณสถานีขนส่งนั้น

 

มาตรา ๑๒๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างประจำสถานีขนส่งตลอดเวลา โดยให้มีหน้าที่ตรวจสอบสภาพรถขนส่งประจำทาง ซึ่งต้องหยุดหรือจอดเพื่อการขนส่ง ณ สถานีขนส่งแห่งนั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

คุณสมบัติและจำนวนเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด

 

มาตรา ๑๒๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีอู่ซ่อมรถและบริการซ่อมรถเพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่รถที่ใช้สถานีขนส่งนั้น

 

มาตรา ๑๒๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีบริเวณที่จอดพักรถตามที่อธิบดีกำหนด

 

มาตรา ๑๒๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีสมุดทะเบียนการเดินรถที่ผ่านเข้าออกสถานีขนส่งตามแบบที่อธิบดีกำหนด

สมุดทะเบียนการเดินรถต้องเก็บรักษาไว้ในที่ทำการของสถานีขนส่งแห่งนั้น พร้อมที่จะให้นายทะเบียน พนักงานตรวจสภาพหรือผู้ตรวจการตรวจดูได้ทุกเวลา

 

มาตรา ๑๒๕ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งเรียกเก็บค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่งได้ไม่เกินอัตราตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด

 

หมวด ๑๐

บทกำหนดโทษ

 

 

มาตรา ๑๒๖ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๖๕ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๗๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๒๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๖ วรรคสอง มาตรา ๑๐๑ มาตรา ๑๐๒ (๑) (๒) หรือ (๔) มาตรา ๑๐๓ มาตรา ๑๐๓ ทวิ มาตรา ๑๐๔ มาตรา ๑๐๕ มาตรา ๑๐๖ หรือมาตรา ๑๐๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

 

มาตรา ๑๒๗ ทวิ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๒ (๓) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท แต่ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๒ (๓ ทวิ) หรือ (๓ ตรี) ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แล้วแต่กรณี แต่ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แล้วแต่กรณี อีกหนึ่งในสาม

 

มาตรา ๑๒๗ ตรี ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ตรวจการ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามมาตรา ๑๐๒ ทวิ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

 

มาตรา ๑๒๗ จัตวา ในกรณีที่ผู้ขับรถขับรถที่ใช้ในการขนส่งซึ่งก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่น ถ้าปรากฏว่าในขณะขับรถ ผู้ขับรถนั้นกระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๒ (๓) (๓ ทวิ) หรือ (๓ ตรี) ให้ถือว่าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๐ ทวิ วรรคสอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นและได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ขับรถกระทำการดังกล่าว

 

มาตรา ๑๒๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๒๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๑ (๑) ต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ขาดคันละไม่เกินห้าพันบาทต่อหนึ่งวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

 

มาตรา ๑๓๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๑ (๑) ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ขาดคันละไม่เกินห้าพันบาทต่อหนึ่งวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

 

มาตรา ๑๓๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๑ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๒) (๑๓) (๑๔) หรือ (๑๕) หรือในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๓๕ หรือมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

 

มาตรา ๑๓๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศผู้ใดไม่ปฏิบัติตามอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๔ หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๓๖ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

 

มาตรา ๑๓๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๑ วรรคสอง มาตรา ๓๒ วรรคสอง มาตรา ๓๓ วรรคสอง มาตรา ๓๔ วรรคสอง มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๗ หรือมาตรา ๑๑๓ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

 

มาตรา ๑๓๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

 

มาตรา ๑๓๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

 

มาตรา ๑๓๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

 

มาตรา ๑๓๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ ต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ใช้ทำการขนส่งนอกเส้นทางหรือนอกท้องที่ที่ได้รับอนุญาตคันละไม่เกินห้าพันบาทต่อหนึ่งวัน จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

 

มาตรา ๑๓๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๐ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

 

มาตรา ๑๓๘ ทวิ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๐ ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๐ ทวิ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท

 

มาตรา ๑๓๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๔๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

 

มาตรา ๑๔๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๒ หรือมาตรา ๔๗ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

 

มาตรา ๑๔๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

 

มาตรา ๑๔๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

 

มาตรา ๑๔๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ มาตรา ๗๙ หรือมาตรา ๘๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

 

มาตรา ๑๔๔ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่อธิบดี นายทะเบียน ผู้ตรวจการ หรือพนักงานตรวจสภาพ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๙ หรือมาตรา ๔๙ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

 

มาตรา ๑๔๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนกลางซึ่งสั่งตามมาตรา ๕๓ หรือมาตรา ๖๘ ต้องระวางโทษปรับหนึ่งแสนบาท หรือปรับเป็นรายวันวันละห้าพันบาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

 

มาตรา ๑๔๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา ๖๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

 

มาตรา ๑๔๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๖ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

 

มาตรา ๑๔๘ ผู้ใดใช้รถโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๑ หรือฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ตรวจการหรือนายทะเบียนตามมาตรา ๘๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

 

มาตรา ๑๔๙ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๘ มาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๘๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

 

มาตรา ๑๔๙/๑ เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๖/๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

 

มาตรา ๑๕๐ เจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙๐ หรือมาตรา ๙๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

 

มาตรา ๑๕๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท แต่ถ้าผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหน้าที่ผู้ขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง และได้กระทำการใด ๆ อันเป็นความผิดที่กำหนดไว้สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถตามพระราชบัญญัตินี้ นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดและต้องระวางโทษสำหรับการกระทำนั้นเช่นเดียวกับผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถด้วย

 

มาตรา ๑๕๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๐๙ หรือปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างถูกยึดใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แต่ถ้าผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ผู้ขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท

 

มาตรา ๑๕๓ ผู้โดยสารผู้ใดโดยสารรถโดยมีเจตนาไม่ชำระค่าขนส่งหรือชำระค่าขนส่งไม่ครบถ้วนตามอัตราที่กำหนด หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๑๑๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

 

มาตรา ๑๕๔ ผู้ใดจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑๕ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๕๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒๑ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๒๒ มาตรา ๑๒๓ หรือมาตรา ๑๒๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

 

มาตรา ๑๕๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถผู้ใดไม่นำรถเข้าหยุดหรือจอดเพื่อรับส่งผู้โดยสารหรือขนถ่ายสินค้า ณ สถานีขนส่งตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท

 

มาตรา ๑๕๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถซึ่งนำรถเข้าหยุดหรือจอดเพื่อรับส่งผู้โดยสารหรือขนถ่ายสินค้า ณ สถานีขนส่งผู้ใดไม่ชำระค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่งให้แก่สถานีขนส่งตามมาตรา ๑๒๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท

 

มาตรา ๑๕๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถผู้ใดโดยทุจริตหรือจงใจออกใบรับรองตรวจสภาพรถโดยไม่ตรงตามความเป็นจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท และนายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถนั้นเสียได้

 

มาตรา ๑๕๙ ผู้ใดเรียกเก็บค่าขนส่ง ค่าบริการรับจัดการขนส่ง ค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่ง หรือค่าบริการอย่างอื่น ผิดไปจากอัตราที่คณะกรรมการกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

 

มาตรา ๑๖๐ ผู้ใด

(๑) ใช้ใบอนุญาตหรือเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้แก่ผู้อื่น

(๒) ใช้เครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้สำหรับรถคันหนึ่งกับรถอีกคันหนึ่ง

(๓) ยินยอมให้ผู้อื่นใช้ใบอนุญาตหรือเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้แก่ตน

(๔) เปลี่ยนแปลงหรือปิดบังทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ซึ่งแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถ หรือ

(๕) ใช้รถที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา ๘๘ ให้ผิดไปจากวัตถุประสงค์ที่ได้รับยกเว้น

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๖๑ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายในกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ขับรถ ผู้เก็บค่าโดยสาร และนายตรวจตามมาตรา ๑๑๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

 

มาตรา ๑๖๒ ผู้ใดเปลี่ยนแปลง ย้าย ทำลาย หรือกระทำให้เสียหายด้วยประการใด ๆ แก่เครื่องหมายหรือสิ่งอื่นใดที่ทางราชการได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการขนส่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

 

มาตรา ๑๖๓ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาได้ เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเปรียบเทียบภายในสามสิบวันแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องต่อไป

 

บทเฉพาะกาล

 

 

มาตรา ๑๖๔ ในระหว่างที่ยังมิได้มีกฎกระทรวง ข้อกำหนด หรือระเบียบตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กฎกระทรวง ข้อกำหนด ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศใด ๆ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๐ และพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้คงใช้บังคับต่อไป

 

มาตรา ๑๖๕ บรรดาใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุและถ้าจะต่ออายุใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ

บรรดารถที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้ามีการแก้ไขดัดแปลงโครงรถหรือขนาดสัดส่วนของตัวถังกว้างหรือยาวกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อยู่แล้ว ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และการแก้ไขดัดแปลงนั้นกระทำได้โดยชอบตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ที่ใช้บังคับในขณะนั้น ให้ถือว่าเป็นรถที่ถูกต้องตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๗๑

 

มาตรา ๑๖๖ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง และเจ้าของรถที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ ปฏิบัติการให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

มาตรา ๑๖๗ รถที่ได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้แล้วก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังไม่ถึงกำหนดเสียภาษีครั้งถัดไป ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะครบกำหนดเวลาที่ได้เสียภาษีไว้

ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดให้รถตามวรรคหนึ่ง ซึ่งจะชำระภาษีครั้งแรกตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องชำระภาษีคราวละกี่งวดก็ได้

 

มาตรา ๑๖๘ คำขออนุญาตใด ๆ ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นคำขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม และถ้าคำขออนุญาตดังกล่าวมีข้อความแตกต่างไปจากคำขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมคำขออนุญาตเพื่อให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ได้

 

มาตรา ๑๖๙ ในเขตท้องที่จังหวัดใดในระหว่างที่ยังไม่มีขนส่งจังหวัดให้อำนาจและหน้าที่ของขนส่งจังหวัด เป็นอำนาจและหน้าที่ของนายทะเบียนกลาง

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ส. โหตระกิตย์

รองนายกรัฐมนตรี

 

 

บัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕

 

(๑) รถที่ใช้ในการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งส่วนบุคคล ให้จัดเก็บภาษีประจำปี ดังนี้

 

น้ำหนักรถเป็นกิโลกรัม

รถที่ใช้ในการ

ขนส่ง

ประจำทาง

รถที่ใช้ในการ

ขนส่ง

ไม่ประจำทาง

รถที่ใช้ในการ

ขนส่งโดยรถ

ขนาดเล็ก

รถที่ใช้ในการ

ขนส่งส่วนบุคคล

ไม่มากกว่า ๕๐๐ กิโลกรัม

๓๐๐ บาท

๔๕๐ บาท

๓๐๐ บาท

๑๕๐ บาท

ตั้งแต่ ๕๐๑ ถึง ๗๕๐ กิโลกรัม

๔๐๐ บาท

๖๐๐ บาท

๔๐๐ บาท

๓๐๐ บาท

ตั้งแต่ ๗๕๑ ถึง ๑,๐๐๐ กิโลกรัม

๕๐๐ บาท

๗๕๐ บาท

๕๐๐ บาท

๔๕๐ บาท

ตั้งแต่ ๑,๐๐๑ ถึง ๑,๒๕๐ กิโลกรัม

๖๐๐ บาท

๙๐๐ บาท

๖๐๐ บาท

๘๐๐ บาท

ตั้งแต่ ๑,๒๕๑ ถึง ๑,๕๐๐ กิโลกรัม

๗๐๐ บาท

๑,๐๕๐ บาท

๗๐๐ บาท

๑,๐๐๐ บาท

ตั้งแต่ ๑,๕๐๑ ถึง ๑,๗๕๐ กิโลกรัม

๙๐๐ บาท

๑,๓๕๐ บาท

๙๐๐ บาท

๑,๓๐๐ บาท

ตั้งแต่ ๑,๗๕๑ ถึง ๒,๐๐๐ กิโลกรัม

๑,๑๐๐ บาท

๑,๖๕๐ บาท

๑,๑๐๐ บาท

๑,๖๐๐ บาท

ตั้งแต่ ๒,๐๐๑ ถึง ๒,๕๐๐ กิโลกรัม

๑,๓๐๐ บาท

๑,๙๕๐ บาท

๑,๓๐๐ บาท

๑,๙๐๐ บาท

ตั้งแต่ ๒,๕๐๑ ถึง ๓,๐๐๐ กิโลกรัม

๑,๕๐๐ บาท

๒,๒๕๐ บาท

๑,๕๐๐ บาท

๒,๒๐๐ บาท

ตั้งแต่ ๓,๐๐๑ ถึง ๓,๕๐๐ กิโลกรัม

๑,๗๐๐ บาท

๒,๕๕๐ บาท

 

๒,๔๐๐ บาท

ตั้งแต่ ๓,๕๐๑ ถึง ๔,๐๐๐ กิโลกรัม

๑,๙๐๐ บาท

๒,๘๕๐ บาท

 

๒,๖๐๐ บาท

ตั้งแต่ ๔,๐๐๑ ถึง ๔,๕๐๐ กิโลกรัม

๒,๑๐๐ บาท

๓,๑๕๐ บาท

 

๒,๘๐๐ บาท

ตั้งแต่ ๔,๕๐๑ ถึง ๕,๐๐๐ กิโลกรัม

๒,๓๐๐ บาท

๓,๔๕๐ บาท

 

๓,๐๐๐ บาท

ตั้งแต่ ๕,๐๐๑ ถึง ๖,๐๐๐ กิโลกรัม

๒,๕๐๐ บาท

๓,๗๕๐ บาท

 

๓,๒๐๐ บาท

ตั้งแต่ ๖,๐๐๑ ถึง ๗,๐๐๐ กิโลกรัม

๒,๗๐๐ บาท

๔,๐๕๐ บาท

 

๓,๔๐๐ บาท

ตั้งแต่ ๗,๐๐๑ กิโลกรัม ขึ้นไป

๒,๙๐๐ บาท

๔,๓๕๐ บาท

 

๓,๖๐๐ บาท

 

(๒) รถตาม (๑) ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือใช้พลังงานทดแทน พลังงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือพลังงานอย่างประหยัด ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้จัดเก็บภาษีประจำปีในอัตรากึ่งหนึ่งของอัตราที่กำหนดไว้ตาม (๑)

(๓) รถตาม (๑) ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นก๊าซไฮโดรคาร์บอนที่ประกอบด้วยก๊าซมีเทนเป็นส่วนใหญ่เป็นเชื้อเพลิง ให้จัดเก็บภาษีประจำปี ดังนี้

(ก) ระบบเชื้อเพลิงที่ใช้ก๊าซธรรมชาติดังกล่าวเพียงอย่างเดียว ให้จัดเก็บในอัตรากึ่งหนึ่งของอัตราที่กำหนดไว้ตาม (๑)

(ข) ระบบเชื้อเพลิงที่ใช้ก๊าซธรรมชาติดังกล่าวร่วมหรือสลับกับน้ำมันเชื้อเพลิงให้จัดเก็บในอัตราสามในสี่ของอัตราที่กำหนดไว้ตาม (๑)

 

 

อัตราค่าธรรมเนียม

 

 

(๑) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง

ต่อเส้นทางหนึ่ง                                          ฉบับละ         ๑๕,๐๐๐ บาท

(๒) ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง

ไม่ประจำทาง                                             ฉบับละ           ๔,๐๐๐ บาท

(๓) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดย

รถขนาดเล็ก                                              ฉบับละ           ๑,๕๐๐ บาท

(๔)   ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง

(๕)   ใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ

(ก) ตลอดปี                                              ฉบับละ           ๕,๐๐๐ บาท

(ข) เฉพาะคราว                                         ฉบับละ           ๕๐๐    บาท

(๖)   ใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง                ฉบับละ           ๕,๐๐๐ บาท

(๗) ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการ

สถานีขนส่ง                                               ฉบับละ      ๑๐๐,๐๐๐ บาท

(๘)   ใบอนุญาตผู้ขับรถและใบอนุญาต

นายตรวจ                                                 ฉบับละ           ๒๐๐    บาท

(๙) ใบอนุญาตผู้เก็บค่าโดยสารและ

ใบอนุญาตผู้บริการ                                       ฉบับละ           ๑๐๐    บาท

(๑๐) ใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ                   ฉบับละ       ๒๐,๐๐๐   บาท

(๑๑) ใบแทนใบอนุญาต                                        ฉบับละ           ๕๐๐    บาท

(๑๒) การโอนทะเบียนรถ                                      ครั้งละ            ๒๐๐    บาท

(๑๓)   แผ่นป้ายเลขทะเบียนรถและ

เครื่องหมาย                                              แผ่นละ           ๑๐๐    บาท

(๑๔) คำขออนุญาตประกอบการขนส่ง

ประจำทาง                                                ฉบับละ           ๑๐๐    บาท

(๑๕) คำขออื่น ๆ                                               ฉบับละ           ๒๐      บาท

(๑๖) การต่ออายุใบอนุญาต                                   ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตแต่ละฉบับ

 

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการขนส่งได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว และสภาพการณ์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก บทบัญญัติทั้งหลายที่ใช้บังคับอยู่ไม่เหมาะสมกับกาลสมัย สมควรปรับปรุงบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการขนส่งเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากผลแห่งการประกาศใช้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ส่งผลกระทบถึงบรรดารถบรรทุกขนส่งสินค้า ของผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคล คือ

ก. รถบรรทุกที่ใช้รถมีน้ำหนักรถต่ำกว่าหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมทั่วพระราชอาณาจักรสำหรับประกอบการภายในครอบครัว ต่างได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง เพราะต้องไปยื่นขอจดทะเบียนขนส่งส่วนบุคคล และต้องใช้ใบอนุญาตขับขี่ของกรมการขนส่งทางบก นอกเหนือไปจากใบอนุญาตของกรมตำรวจที่มีอยู่แล้ว ก่อให้เกิดความเดือดร้อน เพราะรถบรรทุกขนาดเล็กเหล่านี้หาจำต้องใช้ความชำนาญเชี่ยวชาญเป็นพิเศษไม่ เนื่องจากเป็นรถที่ส่วนมากใช้ในธุรกิจส่วนตัว ภายในครัวเรือนและใช้ในการขนส่งพืชผลของเกษตรกร จึงสมควรได้รับการยกเว้นไม่ต้องไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก และการใช้ใบขับขี่ของกรมการขนส่งทางบก

ข. สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งได้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลตามใบอนุญาตนั้น การจำกัดท้องที่ทำการขนส่งนั้น ย่อมก่อให้เกิดความไม่สะดวกและเป็นธรรม เพราะผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลก็ย่อมหมายถึงประกอบธุรกิจส่วนตัวนั่นเอง ท้องที่ที่กำหนดให้แน่นอนย่อมเป็นเครื่องกีดขวางการปฏิบัติงาน เพราะการที่จะบรรทุกสินค้าของตนไปส่งยังที่ต่าง ๆ การที่จะต้องไปขออนุญาตเป็นครั้งคราวนั้นย่อมก่อให้เกิดภาวะสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ เป็นการเพิ่มราคาทุนโดยไม่จำเป็น

ค. โดยทั่วไปการตรวจสภาพรถมักล่าช้า เมื่อนำรถไปขอรับการตรวจแล้วแต่ปรากฏว่ารถมีจำนวนมาก ตรวจสภาพไม่ทันหากนำไปวิ่งขนส่งก็จะต้องถูกจับกุม และมีโทษสูง และการที่จอดรอการตรวจสภาพเป็นระยะนาน ๆ นั้น ย่อมทำให้เศรษฐกิจกระทบกระเทือน จึงสมควรกำหนดเวลาตรวจไว้ และหากความล่าช้าเป็นเพราะความผิดของพนักงานหรือผู้มีอำนาจตรวจสภาพ ก็ไม่สมควรเอาโทษแก่ผู้ประกอบการขนส่งที่ขอตรวจสภาพไว้แล้ว เพราะโทษมีกำหนดสูง

ง. การต่อใบอนุญาตตามบทเฉพาะกาลของใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งได้รับอนุญาตไว้แล้ว ก่อนใช้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ขนาดและส่วนซึ่งพนักงานตรวจสภาพตามกฎหมายเก่า ทั้งของกรมตำรวจและกรมการขนส่งทางบก ไม่เป็นระเบียบเดียวกัน และมีมาตรฐานต่างกัน ฉะนั้น การขอต่อใบอนุญาตใหม่จึงไม่สมควรนำเหตุผลของการผิดขนาดและส่วนมาเป็นข้อปฏิเสธ การขอต่อใบอนุญาตเก่านั้นอาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับนี้

 

พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙

 

มาตรา ๕ อัตราภาษีรถตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ไม่ใช้บังคับแก่รถที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีรถประจำปีไว้แล้ว หรือที่ค้างชำระภาษีรถประจำปีก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ สำหรับภาษีรถประจำปีที่เสียไว้แล้ว หรือที่ค้างชำระนั้น

 

มาตรา ๖ รถที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีรถประจำปีไว้แล้วก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ หากเป็นรถที่ไม่ได้รับการลดภาษีรถประจำปีตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา ๘๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ให้เสียภาษีรถประจำปีสำหรับปีต่อไป ดังต่อไปนี้

(๑) ปีที่หนึ่ง ให้เสียในอัตรากึ่งหนึ่งของอัตราตามที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕

(๒) ปีที่สอง ให้เสียในอัตราสามในสี่ของอัตราตามที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕

(๓) ปีต่อไป ให้เสียในอัตราตามที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕

 

มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกำหนดนี้

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันมีรถจำนวนมากใช้น้ำมันดีเซลหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดความจำเป็นในการสั่งน้ำมันดีเซลหรือก๊าซเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้มีการเพิ่มจำนวนรถที่ใช้น้ำมันดีเซลหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง และเพื่อเป็นการประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว สมควรแก้ไขพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

 

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การไม่อนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙

 

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอขอให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙ นั้น

ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑/๒๕๒๙ (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ที่ประชุมได้ลงมติไม่อนุมัติ

จึงประกาศมาตามความในมาตรา ๑๕๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๐

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยได้ทำความตกลงกับประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการยอมรับใบอนุญาตขับรถภายในประเทศซึ่งกันและกัน และโดยที่ประเทศไทยอาจทำความตกลงในทำนองเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ด้วย ซึ่งความตกลงดังกล่าวจะมีผลให้ผู้มีใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสมาคมยานยนต์ ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลของประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือจากรัฐบาลของประเทศที่ประเทศไทยมีความตกลงด้วย สามารถใช้ใบอนุญาตขับรถนั้นขับรถในประเทศไทยได้ ฉะนั้น เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่กับต่างประเทศตามความตกลงดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ โดยเฉพาะผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถส่วนมากมักนิยมเสพยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในขณะปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดอุบัติเหตุสร้างความสูญเสียแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนบนท้องถนนเป็นอันมาก สมควรมีบทบัญญัติกำหนดความผิดและกำหนดโทษเกี่ยวกับการเสพยาเสพติดให้โทษ หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในขณะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และให้อำนาจผู้ตรวจการ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ สั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นหรือเสพยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ในขณะปฏิบัติหน้าที่รับการตรวจหรือทดสอบถึงเหตุดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปรากฏว่าอุบัติเหตุที่เกิดจากรถที่ใช้ในการขนส่งวัตถุอันตราย ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก แต่โดยที่พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ยังไม่มีบทบัญญัติควบคุมการขนส่งวัตถุอันตรายไว้อย่างเพียงพอและเหมาะสม สมควรแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งวัตถุอันตรายเสียใหม่เพื่อความปลอดภัยในการขนส่ง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๗

 

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันมีผู้นำรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคน หรือรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ไปใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างในลักษณะที่เป็นการแก่งแย่งแข่งขันกับผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง โดยมิได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งจากนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก และโดยที่บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกได้บัญญัติยกเว้นไว้มิให้ใช้บังคับแก่การขนส่งโดยรถยนต์ดังกล่าว เป็นเหตุให้ทางราชการไม่สามารถเข้าควบคุมและจัดระเบียบการขนส่งได้ จึงเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย สมควรปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าวให้เหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๓๗

 

มาตรา ๔ บรรดาใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถที่ได้ออกให้ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ และถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตประสงค์จะต่ออายุใบอนุญาต ให้นำความในมาตรา ๑๐๐ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับ

 

มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ได้กำหนดให้ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถมีอายุเพียงหนึ่งปี ทำให้ผู้ประกอบอาชีพเป็นผู้ประจำรถจะต้องมาต่อใบอนุญาตทุก ๆ หนึ่งปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นมากทำให้เกิดความไม่สะดวกเสียเวลาและค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวเป็นอย่างยิ่งในการที่จะต้องเดินทางมาต่อใบอนุญาตทุก ๆ ปี โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปทำงานในจังหวัดอื่น การกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจึงเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวโดยไม่จำเป็น จึงสมควรให้มีการขยายอายุของใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถเพิ่มขึ้นจากหนึ่งปีเป็นสามปี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๔๒

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดบนท้องถนน อันเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลต่าง ๆ นั้น มีสาเหตุมาจากการที่ผู้ขับรถเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น เสพยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ขับรถติดต่อกันนานเกินไปจนทำให้ผู้ขับรถเกิดความตึงเครียด ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงอันเนื่องมาจากกรณีดังกล่าว สมควรกำหนดห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้หรือยินยอมให้ผู้ขับรถซึ่งมีอาการ หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ขับรถที่ใช้ในการขนส่ง และกำหนดให้มีหน้าที่ควบคุมดูแล และป้องกันมิให้ผู้ขับรถที่มีอาการหรือกระทำการเช่นว่านั้นขับรถที่ใช้ในการขนส่งด้วย รวมทั้งสมควรกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถปฏิบัติหน้าที่ขับรถได้ไม่เกินสี่ชั่วโมงติดต่อกัน เพื่อไม่ให้เกิดความตึงเครียดจนเกินไป นอกจากนั้นสมควรกำหนดให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และได้กระทำการใด ๆ อันเป็นความผิดที่กำหนดไว้สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถที่กระทำความผิดดังกล่าวด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๔๒

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ยังมิได้บัญญัติให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ เพื่อที่จะให้มีการจัดสรรภาษีรถที่จัดเก็บได้ให้เป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลได้ นอกจากนี้โดยที่ถ้อยคำเกี่ยวกับราชการส่วนท้องถิ่นในกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกมีใช้อยู่หลายคำตามรูปแบบของราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งมีอยู่หลากหลาย โดยเมื่อจัดตั้งราชการส่วนท้องถิ่นขึ้นใหม่ ก็จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกทุกครั้ง เพื่อให้ราชการส่วนท้องถิ่นนั้นได้รับการจัดสรรภาษีรถ ดังเช่นในกรณีขององค์การบริหารส่วนตำบลนี้เป็นต้น ฉะนั้น เพื่อให้องค์การบริหารส่วนตำบลได้รับจัดสรรภาษีรถ และเพื่อปรับปรุงถ้อยคำเกี่ยวกับราชการส่วนท้องถิ่นให้ครอบคลุมถึงราชการส่วนท้องถิ่นทุกประเภท จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

*พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕

 

มาตรา ๘ ในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้แก้ไขคำว่า “เลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบทหรือผู้แทน” เป็น “อธิบดีกรมทางหลวงชนบทหรือผู้แทน” และคำว่า “ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนมหาดไทย” เป็น “ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร”

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๖

 

มาตรา ๕ รถที่ค้างชำระภาษีรถประจำปีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ดำเนินการดังนี้

(๑) ให้นายทะเบียนประกาศหมายเลขทะเบียนพร้อมทั้งจำนวนภาษีค้างชำระไว้ ณ ที่ทำการนายทะเบียนและในสถานที่ที่อธิบดีประกาศกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

(๒) ให้เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถทำความตกลงกับนายทะเบียนในการชำระภาษีค้างชำระภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนได้มีประกาศตาม (๑) โดยให้ได้รับยกเว้นเงินเพิ่ม หากมีภาษีค้างชำระเกินกว่าสามปี ให้คิดภาษีค้างชำระเพียงสามปี และให้ผ่อนชำระเป็นงวดได้ ตามระเบียบที่อธิบดีประกาศกำหนด

(๓) เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถที่มิได้ดำเนินการตาม (๒) ต้องเสียภาษีค้างชำระทั้งหมด พร้อมทั้งเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของจำนวนภาษีที่ค้างชำระ

(๔) เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตาม (๒) รถที่ค้างชำระภาษีรถประจำปีตั้งแต่สามปีขึ้นไป หรือรถที่ค้างชำระภาษีรถประจำปีไม่ถึงสามปี แต่ต่อมาภายหลังค้างชำระภาษีติดต่อกันครบสามปีให้ถือว่าทะเบียนรถเป็นอันระงับไป และให้เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถมีหน้าที่ส่งคืนแผ่นป้านเลขทะเบียนรถต่อนายทะเบียน และนำหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถมาแสดงต่อนายทะเบียน เพื่อบันทึกหลักฐานการระงับทะเบียนรถภายในสามสิบวันนับแต่วันครบกำหนดระยะเวลาตาม (๒) หรือนับแต่วันค้างชำระภาษีติดต่อกันครบสามปีแล้วแต่กรณี

ให้นำมาตรา ๘๖/๒ มาตรา ๘๖/๓ วรรคสองและวรรคสาม และมาตรา ๘๖/๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถผู้ใดไม่ส่งคืนแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถและนำหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถมาแสดงต่อนายทะเบียนตามความใน (๔) ให้นำโทษตามมาตรา ๑๔๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับ

 

มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๐

 

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาทางด้านมลภาวะทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้น และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอื่นทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง สนับสนุนการใช้พลังงานอย่างประหยัด และการใช้พลังงานสะอาดเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อันจะเป็นการช่วยให้มีการใช้พลังงานอย่างเหมาะสมและคุ้มค่าและก่อให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของประเทศ สมควรส่งเสริมการใช้รถที่ใช้พลังงานดังกล่าวโดยกำหนดให้มีอัตราภาษีประจำปีสำหรับรถเหล่านี้เป็นการเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้