อุปกรณ์ต่างๆ สำหรับช่วยในการบรรจุสิ่งของ

วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม 2012 เวลา 18:19 น. ผู้ดูแลระบบ
พิมพ์

k29_1c กล่องกระดาษ เป็นอุปกรณ์หลักในการบรรจุสิ่งของสำหรับการขนย้าย มีหลายขนาด หาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าทั่วไป ก่อนซื้อควรตรวจดูสภาพกล่องว่าอยู่ในสภาพดี ไม่ฉีกขาด ควรเลือกใช้กล่องหลายขนาดตามความเหมาะสมของสิ่งของ แต่อาจจะทำให้เปลืองเนื้อที่ในการขนย้ายเล็กน้อย และควรเลือกกล่องให้พอดีกับขนาดสิ่งของด้วย โดยกล่องขนาดมาตราฐาน มีขนาดดังนี้ 36x31x26ซม. ,45x40x35ซม. ,55x45x40ซม.

พลาสติกกันกระแทก ใช้ห่อหุ้มสิ่งของที่แตกหักหรือป้องกันการขีดข่วนได้ดีมาก ด้วยลักษณะเป็นแผ่นบาง ทำให้สามารถห่อของรูปแบบต่างๆ ได้ มีแบ่งขายหรือเป็นม้วนขนาดใหญ่ หน้ากว้างประมาณ 1.20 เมตร ราคาจะถูกกว่า 
พลาสติกกันกระแทกมี 2 ชนิด คือ
1. ชนิดEPE เป็นโฟมที่มีความหนา 1มม. มีขนาด1.3x1ม. ,0.6x5ม. ,0.65x10ม.
2. ชนิดAir bubble เป็นแบบที่มีฟองอากาศภายในทำให้กันกระแทกได้ดี มีขนาด1.3x1ม. ,0.6x5 ม.,0.65x10 ม.

กระดาษลูกฟูก ส่วนที่เป็นลอนบนกระดาษลูกฟูกสามารถลดแรงกระแทกและป้องกันรอยขีดข่วนได้ดี มีทั้งแบบบางและแบบหนา โดยแบบบางสามารถงอหรือพับได้ เหมาะสำหรับห่อสิ่งของที่มีรูปทรงเหลี่ยม แต่ไม่เหมาะกับการห่อของที่มีรูปโค้งหรือกลมมน ส่วนแบบหนามีความแข็งแรง เหมาะกับการใช้รองขาโต๊ะ ตู้ เตียง ใช้ติดบริเวณเหลี่ยมมุมของสิ่งของที่อาจได้รับความกระทบกระเทือน หรืออาจใช้เป็นตัวแบ่งระหว่างชั้นในกล่องใส่ของก็ได้

กระดาษ เป็นอุปกรณ์ที่หาง่ายใช้คล่องที่สุด ใช้ห่อของชิ้นเล็กๆ ก่อนบรรจุลงกล่องเพื่อป้องกันการเสียดสีกันภายในกล่อง หรือจะขยำเป็นก้อนใช้กันกระแทกภายในกล่องได้ด้วย แต่สำหรับของที่ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะภาชนะใส่อาหาร ภายหลังจากแกะห่อออกมาแล้วต้องทำความสะอาดอีกครั้ง

พลาสติกฟิล์มใส เป็นพลาสติกที่ใช้สำหรับห่อเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งมีความหนากว่าเล็กน้อย  ใช้งานสะดวก เพราะพลาสติกสามารถติดกันได้โดยไม่ต้องติดเทป เหมาะกับการห่อของที่เพียงแต่ไม่ต้องการให้เลอะ ไม่ต้องระวังเรื่องการแตกหัก  เช่น เบาะ  ฟูก  ที่นอน  หรือเก้าอี้อาร์มแชร์ มีทั้งแบบตัดแบ่งขายเป็นเมตรและขายแบบเป็นม้วนขนาดใหญ่ มีหน้ากว้างหลายขนาดให้เลือก ส่วนใหญ่จะมีขนาดหน้ากว้าง 50 ซม.ยาว 300 ม.

ผ้า เป็นวัสดุที่มีความอ่อนนุ่ม ช่วยปกป้องพื้นผิวสิ่งของจากการสัมผัส หาได้ง่าย โดยใช้ผ้าที่มีอยู่ในบ้าน เช่น ผ้าม่าน  ผ้าเช็ดตัว หรือแม้กระทั่งเสื้อผ้า ผ้าผืนใหญ่อย่างผ้าคลุมเตียง อาจใช้ห่อชุดเครื่องนอน เช่น หมอน ผ้าที่สามารถเปื้อนได้ใช้รองพื้นในการขนย้าย รวมถึงผ้าผืนเล็กๆ ใช้เป็นวัสดุห่อหุ้มก่อนบรรจุลงกล่องหรือรองระหว่างชั้นในกล่องได้เป็นอย่างดี

เทปกาว ใช้ผนึกฝากล่องหรือยึดระหว่างวัสดุห่อหุ้ม มีหลายชนิดและความหนาของแถบหลายขนาดให้เลือกใช้ ชนิดที่มีส่วนผสมของกาวมากจะมีความสามารถในการยึดติดดีกว่า แต่อาจทิ้งร่องรอยไว้บนผิววัสดุ หากใช้ในการติดที่ต้องสัมผัสกับผิวโดยตรง ควรเลือกชนิดที่สามารถลอกได้ง่ายและเพื่อความสะดวกในการใช้งาน เทปกาว มี 3 แบบ คือ
1. เทปกาวสีน้ำตาล ใช้ปิดกล่อง สิ่งของเครื่องใช้
2. เทปกาวสีแดง ใช้ติดเพื่อให้ทราบว่าเป็นสิ่งของที่แตกหัก หรือเสียหายง่าย ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
3. เทปกาวขาว หรือ เทปหนังไก่ ไม่ทิ้งร่องรอยไว้บนผิววัสดุ ใช้ติดสำหรับเฟอร์นิเจอร์ไม้หรือของที่ต้องการแพ็คชั่วคราว
นอกจากนี้เพื่อให้ทำการติดเทปได้ง่าย อยากแนะนำให้ใช้ม้วนตัดเทปกาว เพื่อความสะดวก และช่วยประหยัดเทปในการใช้งานด้วย มีหลากหลายหน้ากว้างที่เหมาะสมกับเทปแบบต่างๆ ตั้งแต่ขนาดหน้ากว้าง 1.5 - 2 นิ้ว

เมื่อรู้จักอุปกรณ์และเคล็ดลับครบแล้วก็ลงมือจัดเก็บขนย้ายตามขั้นตอนกันเลย
จดก่อนเก็บ ก่อนที่ท่านจะเก็บของลงกล่องนั้น  ลองทำรายการข้าวของดูก่อนว่า ของที่จะเก็บนั้นมีอะไรบ้าง ต้องใช้กล่องชนิดใด ขนาดเท่าใด ใช้จำนวนกี่กล่อง และลองแบ่งว่าในแต่ละกล่องมีอะไรบ้าง จะได้เตรียมหาอุปกรณ์บรรจุหีบห่อได้อย่างเพียงพอและเหมาะสม
ติดป้ายหรือเขียนไว้หลังเก็บ หลังจากเก็บของลงกล่องเรียบร้อยแล้ว ควรเขียนรายการไว้ที่ข้างกล่อง ว่าภายในบรรจุอะไรบ้าง หากของชิ้นไหนเป็นของที่สามารถแตกหักเสียหายได้ ควรติดสัญลักษณ์ไว้เพื่อเตือนให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ
เก็บแยกห้อง เมื่อแพ็คเสร็จสิ้นแล้ว ควรเก็บของโดยแยกตามแต่ละห้อง ช่วยให้การแยกของเมื่อขนย้ายเข้าไปยังบ้านใหม่ทำได้สะดวกมากขึ้น คุณควรติดสัญลักษณ์แถบสีหรือเขียนกำกับไว้ ติดที่ข้างกล่องและที่ห้องต่างๆ แยกตามห้อง วิธีนี้ทำให้ผู้ที่มาช่วยขนย้ายสามารถยกกล่องไปวางรวมกันในแต่ละห้องได้ง่าย โดยไม่ต้องเสียเวลามาถามคุณว่ากล่องใบนี้เอาไว้ที่ไหน วิธีนี้จะช่วยประหยัดเวลาและลดความวุ่นวายได้มากทีเดียว

เมื่อจัดห่อเรียบร้อยก็ถึงคิวยก โดยมีข้อควรระวังดังนี้
การย้ายของขึ้นรถ การลำเลียงของขึ้นรถเพื่อขนย้ายออก ควรวางของชิ้นใหญ่และมีน้ำหนักมากก่อน เพื่อจะได้นำชิ้นเล็กหรือของที่มีน้ำหนักเบาซ้อนทับด้านบนได้ แต่ไม่ควรวางชิดกันจนเกินไป ควรเว้นที่ไว้บ้างเพื่อไม่ให้ของเสียดสีกันมากจนเกิดความเสียหาย อีกทั้งควรวางแผนให้ดีก่อนการขนขึ้นรถ เพื่อช่วยประหยัดเนื้อที่ในการบรรทุกและไม่ต้องรื้อมาจัดเรียงกันใหม่ภายหลัง
การย้ายของลงรถ การลำเลียงของลงรถเพื่อขนย้ายเข้า ควรขนของลงจากรถทั้งหมดโดยวางกองรวมกันไว้ก่อน แล้วจึงขนย้ายของชิ้นใหญ่หรือของที่มีน้ำหนักมากเข้าไปก่อน ตามด้วยกล่องต่างๆ เพราะจะได้จัดเข้าที่ได้ง่าย 
การย้ายของลงรถ การขนย้ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ควรระมัดระวังความเสียหายเป็นพิเศษ โดยอ่านจากคู่มือวิธีใช้ที่ติดมากับตัวเครื่อง เช่น การขนย้ายตู้เย็นไม่ควรวางนอน และควรถอดปลั๊ก ปิดสวิตช์การทำงานก่อนการขนย้ายประมาณ 3-4 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำยาทำความเย็นไหลกลับ ไม่ตกค้างตามท่อ และหากติดตั้งในบ้านใหม่เสร็จเรียบร้อย ควรวางตั้งทิ้งไว้อย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงก่อนเสียบสวิตช์เช่นกัน เวลาเปิดครั้งแรกให้บิดสวิตช์ไปที่อุณหภูมิเย็นที่สุดเพื่อไล่น้ำยาให้เดินทั่ว เมื่อเครื่องเดินไปแล้ว 30 นาทีจึงค่อยปรับอุณหภูมิลงมาที่ระดับปกติ

อุปกรณ์ช่วยให้งานขนย้ายง่ายขึ้น
1. ลูกล้อสำหรับย้ายสิ่งของ ใช้เคลื่อนย้ายวัสดุสิ่งของได้สะดวกรับน้ำหนักได้ 90 กก. ขนาดกะทัดรัด จัดเก็บง่าย
2. แผ่นสไลเดอร์ (Slider) วัสดุสำหรับเลื่อนเฟอร์นิเจอร์หนักโดยไม่ทำให้พื้นเป็นรอย
3. รถเข็น ทำจากอะลูมิเนียม มีดีไซน์สวย ทันสมัย ใช้งานง่าย ประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ มีความแข็งแรง ทนทาน รับน้ำหนักได้สูงสุด150 กิโลกรัม
4.บันได รถเข็น 2 IN 1 รุ่น 1#FW-70 ขนย้ายของรับน้ำหนักไม่เกิน 80 กก.มือจับหุ้มยางกันเลื่อน จับถนัดมือพับเก็บได้ ประหยัดเนื้อที่