สอนทำโลโก้พื้นฐาน

วันพุธที่ 19 มิถุนายน 2013 เวลา 07:06 น. ผู้ดูแลระบบ
พิมพ์


ออกแบบโลโก้ (Logo) ได้ง่ายๆ ไม่ต้องง้อดีไซน์เนอร์

ทำได้เองแม้คุณไม่มีความรู้เรื่องออกแบบ

ฟรี แถมยังถูกใจตัวเองอีกด้วย


สวัสดีท่านผู้อ่าน พบกันอีกครั้งในช่วง เผยเทคนิค อะไรที่มันยากๆ อะไรที่มันง่ายแต่คุณยังไม่รู้ เราจะหาทางเอามาเผยให้คุณได้รู้กัน และในตอนนี้เราจะพูดกันด้วยเรื่องของการออกแบบโลโก้ หรือ Logo design ที่เป็นกราฟิกเล็กๆ สำหรับใช้ระบุตัวตนของผลิตภัณฑ์ และองค์กรของคุณ ผมจะอธิบายง่ายๆ ไม่ต้องอิงหลักการให้มากความ เพราะนี่ไม่ใช่บทความสำหรับสอนนักออกแบบ แต่เป็นเนื้อหาสั้นๆ ที่ทำให้คนที่ไม่มีความรู้ทางการออกแบบ สามารถนำไปออกแบบได้เอง ในกรณีที่คุณเป็นผู้ประกอบการใหม่ เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SME ที่ไม่ต้องการลงทุนมากในส่วนนี้ แต่ต้องการเครื่องหมายสำหรับนำไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้ จะได้ไม่ต้องเสียสตางค์หลายหมื่น หลายแสน ไปจ้างนักออกแบบอิสระ หรือบริษัทใหญ่ๆ ให้ออกแบบให้

โลโก้ (Logo) คืออะไร

ตอบแบบง่ายๆ ว่ามันเป็นสัญลักษณ์รูปแบบหนึ่งที่อาจจะเป็นรูปภาพ หรือแบบอักษร หรือทั้ง 2 สิ่งประกอบกัน หรืออย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้เพื่อบอกว่าคุณ (องค์กร หรือสินค้า) คือใคร เพื่อให้ลูกค้าแยกคุณออกจากคู่แข่งของคุณได้ง่าย  ใครอยากอ่านประวัติการออกแบบโลโก้และที่มาที่ไปแบบเต็มๆ อ่านได้ที่นี่ครับ  แต่เป็นภาษาอังกฤษนะ | โลโก้ ความหมาย และประวัติ

ออกแบบโลโก้ได้อย่างไร

สิ่งที่คุณต้องมีก่อนออกแบบ คือ ชื่อสินค้า หรือชื่อบริษัทของคุณ เช่น ข้าวหอมละมุน, น้ำพริกไฟประลัยกัลป์ หรือ บริษัท ล้ำเลิศ จำกัด เป็นต้น ซึ่งชื่อตราสินค้า หรือบริษัท จะเป็นตัวกำหนดว่าลักษณะงานออกแบบของคุณควรจะออกมาในทิศทางใด จึงจะสอดคล้องกับชื่อ หรือลักษณะเด่นที่คุณเลือก เช่น ตราแมว ควรจะน่ารัก ปราดเปรียว ในขณะที่ตราเสือ ควรจะดุดันเข้มแข็ง แต่ทั้งนี้คุณอาจจะทำเสือแบบน่ารักก็ได้ ขึ้นอยู่กับแนวคิดหลักขององค์กร

หลังจากที่ได้ชื่อมาแล้ว (คุณควรจะตรวจเช็คกับกระทรวงพานิชย์ก่อน ว่าชื่อที่คุณตั้งสามารถจดทะเบียนการค้าได้ ไม่ซ้ำกับธุรกิจ หรือสินค้าอื่น หรือละเมิดเงื่อนไขในการจดทะเบียนใดๆ โดยตรวจสอบขั้นตอนและเงื่อนไขได้ที่ | ขั้นตอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ) คุณก็สามารถเริ่มลงมือออกแบบได้ ซึ่งถึงแม้ว่าคุณจะไม่ใช่ Graphic designer มืออาชีพ แต่ผมก็มีหลักง่ายๆ ให้คุณทำตามครับ

เช็คคู่แข่ง ดูก่อนว่าในสินค้า หรือบริษัทที่ทำธุรกิจแบบเดียวกับเรานั้น เขาออกแบบอย่างไรกันบ้าง ที่สำคัญคือเรื่องสี เขาใช้สีอะไรเป็นหลัก เช่น ธนาคารกสิกรสีเขียว ธนาคารไทยพานิชย์สีม่วง ธนชาติสีส้ม กรุงไทยสีฟ้า กรุงศรีฯ สีเหลือง กรุงเทพสีน้ำเงิน เป็นต้น พยายามอย่าไปเลือกใช้สีซ้ำกับคู่แข่ง เพราะลูกค้าจะสับสน และจำได้ยาก แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ไม่เป็นไร พยายามใช้สีอื่นแทรกเข้าไป เป็นสีที่ 2 หรือ 3

ตัวอย่างสีประจำแบรนด์ของแต่ละธนาคาร

สีของโลโก้กับอารมณ์

สีของโลโก้กับอารมณ์

ดูว่าสินค้าหรือบริการประเภทเดียวกันกับเรานั้น เขาออกแบบโลโก้ไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่  เช่น มีการใช้สีโทนเดียวกัน ใช้แบบอักษรคล้ายกัน หรือใช้ภาพสัญลักษณ์คล้ายๆ กัน  ตรงนี้สำคัญ หลายคนคิดว่าแบบโลโก้ที่ดีต้องแตกต่าง และแปลกใหม่ จนมองข้ามประเด็นทางการสื่อสารว่าสามารถทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้หรือไม่ว่าเราขายอะไร  เช่น สินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี IT ต่างๆ มักนิยมใช้แบบอักษรที่แลดูทันสมัย  หรือน้ำดื่มบรรจุขวด ส่วนใหญ่มักใช้สีโทนเย็น เช่น ฟ้า น้ำเงิน หรือเขียว ในโลโก้  ทั้ง 2 ตัวอย่างนี้เป็นกรณีศึกษาที่ดีว่า สินค้า หรือบริการบางกลุ่มมีแพทเทิร์นในการสื่อสารที่ทำให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่าย  ถ้าไม่แน่ใจให้ทำตาม แต่ดัดแปลงนิดหน่อยครับ  ถ้ายังไม่มีไอเดียว่าจะหาแบบโลโก้ดูได้ที่ไหน  ผมแนะนำให้ลอง Seek Logo ใช้งานเหมือน Google ครับ  แค่พิมพ์ชื่อธุรกิจ หรือประเภทสินค้าลงไปเขาค้นโลโก้มาให้เราได้หมด

สีกับการออกแบบโลโก้บอกอะไรเราได้บ้าง

สีกับการออกแบบโลโก้บอกอะไรเราได้บ้าง

จะออกแบบอย่างไรดี  เป็นภาพสัญลักษณ์  แบบอักษร  หรือทั้งสองอย่างผสมกัน  อันนี้ไม่ยากครับ  ขอให้พิจารณาจากชื่อแบรนด์ที่คุณตั้ง  ชื่อนี้สามารถสื่อสารเป็นภาพได้หรือไม่  เช่น  ตราปลาตะเพียน, ตราห้าห่วง, ตรา Sunrise ฯลฯ  ถ้าได้คุณอาจพิจารณาใช้ภาพ  เพราะภาพสามารถสื่อสารได้ไวกว่าตัวอักษร  และจำง่ายกว่าด้วย  แต่ถ้าไม่ได้  ให้เน้นไปที่แบบอักษรครับ เช่น Samsung, Sony, DHL เป็นต้น  ส่วนเครื่องหมายแบบผสม (Combination Mark) สามารถเลือกใช้ได้ โดยให้ความสำคัญที่ภาพเป็นหลักในกรณีแรก  และแบบอักษรเป็นหลักในกรณีที่สอง

เลือกแบบอักษร  เวลาเลือกให้นำหลักการในข้อก่อนหน้ามาพิจารณา  ถ้าคุณไม่มีไอเดียในเรื่องแบบอักษร  ผมหมายถึงคุณไม่รู้ว่าจะใช้ Font ไหนดี ผมมีสูตรเด็ดที่ช่วยคุณเลือกแบบอักษรให้เหมาะกับงานได้ ให้ดูตามภาพด้านล่างครับ ใช้เป็นแนวทางได้ดีเลยทีเดียว  คำแนะนำเพิ่มเติมคือ  พยายามอย่าใช้ Font มากกว่า 2 แบบในโลโก้เดียวกัน (นักออกแบบหลายคนอาจจะเถียงว่าไม่จริง งานออกแบบไม่มีกฏตายตัว ผมอยากจะนิมนต์ไปไกลๆ เพราะนี่มันเป็นคำแนะนำง่ายๆ ที่ช่วยให้คนที่ไม่มีความรู้ด้านการออกแบบสร้างงานที่ดูดีออกมาได้)

แนวทางเลือกใช้ Font ให้เหมาะกับงานออกแบบ

แนวทางเลือกใช้ Font ให้เหมาะกับงานออกแบบ

สิ่งที่ต้องระวังลำดับถัดไปคือ โลโก้ที่มี 2 ภาษา  ทั้งไทยและอังกฤษ  พยายามเลือกแบบอักษรที่ไปด้วยกันได้  หลายๆ คนอาจคิดว่าแบบอักษรไทยใช้ออกแบบโลโก้ให้สวยได้ยาก  ความจริงเดี๋ยวนี้เรามี Font ฟรีสวยๆ ให้เลือกใช้มากมายแล้ว  ไม่เชื่อลองดูได้ที่ F0nt.com แต่นำมาใช้แล้วอย่าลืมขอบคุณผู้สร้างล่ะครับ หรือจะบริจาคเงินเป็นสินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ได้ยิ่งดี  จะได้มีคนผลิต Font สวยๆ ให้เราใช้อีกมากๆ  ส่วน Font ภาษาอังกฤษที่ฟรี และดีผมเชื่อว่าหาไม่ยาก แค่พิมพ์ Free Font ใน Google ก็เลือกกันไม่หวาดไม่ไหวแล้ว  แต่เพื่อความง่ายของคุณคุณผู้อ่าน ผมแนะนำที่นี่ครับ DaFont และแถมเป็นพิเศษสำหรับหลักการผสมแบบอักษร หรือ Font Combination Principle เป็นแบบฝึกหัดที่มีการยกตัวอย่างประกอบได้เข้าทีเลยทีเดียว  และก็ยังมีที่ ifontyou อีกที่ครับ

ออกแบบเท่าที่จำเป็น  เรื่องนี้พูดง่าย แต่สอนให้เข้าใจยากครับ  เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของประสบการณ์  ใจความจริงๆ ของมันคือ

การออกแบบ เป็นเรื่องของการตัดออก มากกว่าการเพิ่มเข้าไป

หมายความว่า  เมื่อคุณออกแบบแล้ว  ให้ทดลองตัดออก ลดทอนองค์ประกอบ  ลบเส้นสายที่ไม่จำเป็นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถ้าลบไปมากกว่านี้จะสูญเสียการสื่อความหมาย  ท้ายที่สุดคุณก็จะได้งานออกแบบที่เรียบง่ายแต่ดูดี (Simple design, Minimalism)

ลองปรับเปลี่ยนดูหลายๆ แบบ  หมายถึงเมื่อคุณได้ลงมือร่างแบบ  หรือทำในคอมพิวเตอร์  ขอให้ลองจินตนาการว่าโลโก้ของคุณนั้นจะถูกนำไปใช้งานในหลายรูปแบบ เช่น  ใช้ในขนาดเล็กมากๆ บนนามบัตร  ใช้ในขนาดใหญ่มากๆ อย่างพิมพ์ลงบนป้ายโฆษณา  ไวนิลหน้าร้าน  หรือใช้ฉลุทำป้าย  ใช้สกรีนสีเดียวลงบนบรรจุภัณฑ์  หรือแม้แต่ใช้งานแบบขาวดำในสิ่งพิมพ์ราคาประหยัด  ทั้งหมดนี้โลโก้คุณควรจะมีความยืดหยุ่นเพียงพอ  ทั้งในเรื่องขนาด  ข้อจำกันในการผลิต  และการใช้สี  เพราะบางทีโลโก้ของคุณสวยงามเมื่อพิมพ์ลงบนกระดาษ A4  แต่กลับอ่านไม่ออกเลยเมื่ออยู่บนนามบัตร  หรือโลโก้ของคุณสวยงามเมื่อพิมพ์ 4 สี  แต่เมื่อพิมพ์สีเดียวกลับดูไม่รู้เรื่องก็มี  เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้  คุณควรทดลองออกแบบโลโก้ของคุณดูหลายๆ แบบ  หลายๆ สี  และหลายๆ ขนาด

ลงมือปฏิบัติ  หลังจากที่ได้แบบโลโก้คร่าวๆ ในกระดาษแล้ว (บางท่านที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำด้วยโปรแกรมใดๆ ก็แล้วแต่ ขอให้ข้ามขั้นตอนนี้ไป  เพราะถือว่าจบกระบวนการแล้ว) ต่อไปคือขั้นตอนของการลงมือทำโลโก้ของคุณให้ใช้งานได้จริงๆ  นำไปพิมพ์ได้  ซิลค์สกรีนลงเสื้อ หรือผ้าได้  แกะตรายาางได้ ฯลฯ  ขั้นตอนนี้ปกติต้องใช้ไฟล์ประเภทเว็คเตอร์ (Vector file)  ซึ่งมักถูกสร้างจากโปรแกรมจำพวก Adobe Illustrator, Corel Draw หรือ Macromedia Freehand เป็นต้น  หากคุณไม่มีซอฟต์แวร์เหล่านี้  หรือไม่มีความรู้ในการใช้งานซอฟต์แวร์ก็ไม่เป็นไร  ขอให้นำแบบที่คุณร่าง  หรือแนวคิดของคุณ  ไปคุยกับร้านทำนามบัตรหรือว่าร้านทำป้าย (แบบที่พิมพ์อิงค์เจ็ทแผ่นโตๆ)  ปกติร้านพวกนี้จะรับทำโลโก้ครับ  และราคาไม่แพง  ยิ่งคุณมีแบบไปให้เขาทำตามยิ่งง่ายใหญ่

สุดท้ายนี้หวังว่าคุณคงจะได้โลโก้สวยๆ ไว้ใช้งานในธุรกิจส่วนตัวครับ  เมื่อได้แบบที่ถูกใจแล้วอย่าลืมนำไปจดทะเบียนตามคำแนะนำด้านบนนะครับ  จะได้สบายใจได้ว่าตราสินค้าของคุณจะเป็นกรรมสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฏหมาย

 

   

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2023 เวลา 16:00 น.