Home พระราชบัญญัติ ต่าง พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514

พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514

อีเมล พิมพ์ PDF

พระราชบัญญัติ

ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

พ.ศ. ๒๕๑๔

 

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๔

เป็นปีที่ ๒๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔”

 

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน

ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓ บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

 

หมวด ๑

ข้อความทั่วไป

 

 

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

“ปิโตรเลียม” หมายความว่า ปิโตรเลียมที่ผลิตในราชอาณาจักรตามกฎหมาย ว่าด้วยปิโตรเลียม

“น้ำมันดิบ” หมายความว่า น้ำมันดิบตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

“น้ำมันดิบที่ส่งออก” หมายความว่า น้ำมันดิบที่บริษัทซึ่งได้รับสัมปทานหรือมีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทานส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือขายให้แก่บุคคลอื่นเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร และให้หมายความรวมถึงน้ำมันดิบที่กลั่นในราชอาณาจักรเฉพาะส่วนที่ถือว่าเป็นน้ำมันดิบที่ส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

“กิจการปิโตรเลียม” หมายความว่า กิจการปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม และให้หมายความรวมถึงการโอนทรัพย์สินหรือสิทธิใดๆทั้งหมด หรือบางส่วนที่เกี่ยวกับกิจการดังกล่าวไม่ว่าการโอนนั้นจะเป็นปกติธุระหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งกิจการใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการหรือการโอนดังกล่าวด้วย

“เงินได้” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาอันอาจ คิดคำนวณได้เป็นเงิน และรวมถึงภาษีอากรที่มีผู้อื่นออกแทนให้แต่ไม่รวมถึงภาษีที่ให้บริษัท ผู้ขายนำมาเป็นเครดิตตามมาตรา ๓๒

“ราชอาณาจักร” หมายความว่า ราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

“สัมปทาน” หมายความว่า สัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

“ขาย” หมายความว่า ขายตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

“จำหน่าย” หมายความว่า ส่งน้ำมันดิบไปยังโรงกลั่นน้ำมันหรือสถานที่เก็บรักษาเพื่อการกลั่นน้ำมันของบริษัท ส่งก๊าซธรรมชาติไปยังโรงแยกก๊าซ โรงทำก๊าซให้เป็นของเหลว โรงอัดก๊าซ หรือสถานที่เก็บรักษาเพื่อกิจการดังกล่าวของบริษัทนำปิโตรเลียมที่ต้องเสียค่าภาคหลวงไปใช้ในกิจการใดๆ ของบริษัทหรือของผู้อื่นโดยไม่มีการขาย หรือโอนปิโตรเลียมที่ต้องเสียค่าภาคหลวงโดยไม่มีค่าตอบแทน

“ราคามาตรฐาน” หมายความว่า ราคาประกาศตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม หักด้วยส่วนลดถ้ามี

“ราคาตลาด” หมายความว่า ราคาในตลาดเปิดเผย หากไม่มีราคาดังกล่าว หมายความว่าราคาที่พึงคิดกันระหว่างบุคคลซึ่งเป็นอิสระต่อกันโดยไม่มีความสัมพันธ์ในด้านทุน หรือการจัดการ

“ค่าภาคหลวง” หมายความว่า ค่าภาคหลวงตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

“บริษัท” หมายความว่า บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม ซึ่ง

(๑) ได้รับสัมปทานหรือมีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทาน หรือ

(๒) ซื้อน้ำมันดิบที่บริษัทตาม (๑) เป็นผู้ผลิต เพื่อส่งน้ำมันดิบนั้นทั้งหมดออกนอกราชอาณาจักร

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมสรรพากร

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕ กำหนดเวลาตามที่ได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติมีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดเวลาได้ ให้อธิบดี โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งขยายหรือเลื่อนเวลาออกไปได้ตามความจำเป็นแก่กรณี

 

มาตรา ๖ ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานตรวจค้นหรือยึดบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นใดซึ่งเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายของกิจการปิโตรเลียมหรือซึ่งอธิบดีมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายดังกล่าว

การตรวจค้นหรือยึดตามวรรคหนึ่งให้กระทำในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของผู้ถูกตรวจค้นหรือถูกยึด เว้นแต่การตรวจค้นหรือยึดในเวลาดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จจะกระทำต่อไปก็ได้ หรือในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง อธิบดีจะออกคำสั่งให้ตรวจค้นหรือยึดในเวลาใดๆ ก็ได้

 

มาตรา ๗ ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้บริษัทแสดงบัญชี หลักฐาน รายงาน หรือแจ้งข้อความใดๆ ซึ่งเกี่ยวกับ หรือซึ่งอธิบดีมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของบริษัท

คำสั่งตามวรรคหนึ่งจะให้ปฏิบัติก่อนรอบระยะเวลาบัญชีแรกของบริษัทก็ได้

 

มาตรา ๘ บรรดาบัญชี หลักฐาน และเอกสารประกอบการลงบัญชีซึ่งเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของบริษัทให้ทำเป็นภาษาไทยและต้องระบุเป็นเงินตราไทย เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขออธิบดีอาจอนุมัติให้บริษัททำเป็นภาษาต่างประเทศและระบุเป็นเงินตราต่างประเทศได้

 

มาตรา ๙ บรรดาบัญชี หลักฐาน รายงาน และเอกสารต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับ หรือซึ่งอธิบดีหรือเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายของกิจการปิโตรเลียม ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศ อธิบดีหรือเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจสั่งให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้จัดการแปลเป็นภาษาไทยให้เสร็จภายในเวลาอันสมควรได้

 

มาตรา ๑๐ หมายเรียก หนังสือแจ้งการประเมิน หรือหนังสืออื่นที่มีถึงบุคคลใดเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ให้นำไปส่งในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของผู้รับ หรือส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

ถ้าไม่สามารถจะส่งตามวิธีดังกล่าวในวรรคหนึ่งด้วยเหตุใดๆ ให้ส่งโดยวิธีปิดหมายเรียก หนังสือแจ้งการประเมิน หรือหนังสืออื่น ณ ที่เห็นได้ง่ายที่ประตูบ้าน สำนักงาน ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ของผู้รับ หรือส่งโดยวิธีย่อข้อความในหมายเรียก หนังสือแจ้งการประเมิน หรือหนังสืออื่นนั้นลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ก็ได้

เมื่อได้ส่งตามวิธีดังกล่าวในวรรคสองและเวลาได้ล่วงพ้นไปสามวันแล้วให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รับหมายเรียก หนังสือแจ้งการประเมิน หรือหนังสืออื่นนั้นแล้ว

 

มาตรา ๑๑ เจ้าพนักงานผู้ใดโดยหน้าที่ราชการได้รู้เรื่องกิจการของผู้เสียภาษี หรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง ห้ามมิให้นำออกแจ้งแก่ผู้ใดหรือทำให้เป็นที่ล่วงรู้แก่ผู้อื่นโดยวิธีใดๆ เว้นแต่จะมีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

 

มาตรา ๑๒ ให้บริษัทจำกัดและนิติบุคคลที่มีสภาพเช่นเดียวกับบริษัทจำกัดซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ ได้รับยกเว้น

(๑) ภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร และ

(๒) ภาษีอากรตามกฎหมายอื่น เว้นแต่ตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

ทั้งนี้ เฉพาะภาษีอากรที่เก็บจากกำไรสุทธิหรือที่เก็บจากเงินได้ที่ต้องนำมารวมเพื่อคำนวณกำไรสุทธิ หรือเงินได้อันต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๑๓ ให้บริษัทจำกัดและนิติบุคคลที่มีสภาพเช่นเดียวกับบริษัทจำกัดซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศได้รับยกเว้น

(๑) ภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร และ

(๒) ภาษีอากรตามกฎหมายอื่น

ทั้งนี้ เฉพาะภาษีอากรที่เก็บจากเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรที่จ่ายจากกำไรสุทธิ หรือที่จ่ายจากเงินได้อันต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๑๔ ภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อถึงกำหนดชำระหรือนำส่งแล้ว มิได้ชำระหรือนำส่ง ให้ถือเป็นภาษีค้าง

เพื่อให้ได้รับชำระภาษีค้าง ให้นำบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับวิธีการเพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้างมาใช้บังคับ

 

มาตรา ๑๕ ให้ลดหรือยกเว้นภาษีตามพระราชบัญญัตินี้แก่บุคคลตามสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยทำกับรัฐบาลต่างประเทศ

 

มาตรา ๑๖ ให้อธิบดีมีอำนาจ

(๑) กำหนดแบบแสดงรายการและแบบพิมพ์อื่น

(๒) แต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินและเจ้าพนักงานอื่น

(๓) กำหนดระเบียบหรือข้อบังคับให้ผู้เสียภาษีหรือผู้ทำการแทนทำบัญชี หลักฐาน รายงาน หรือทำการใดๆ ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บและการเสียภาษี

การแต่งตั้งเจ้าพนักงานตาม (๒) และการกำหนดระเบียบหรือข้อบังคับตาม (๓) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๑๗ อำนาจของอธิบดีตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๒๖ (๑) และมาตรา ๗๗ อธิบดีอาจมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากองในกรมสรรพากร หรือสรรพากรเขต เป็นผู้ทำการแทนได้

 

มาตรา ๑๘ รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดส่วนลดเพื่อประโยชน์ในการคำนวณราคามาตรฐาน ดังต่อไปนี้

(๑) ไม่เกินร้อยละ ๗ ของราคาประกาศตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมเป็นเวลาไม่เกินเก้าปีนับแต่วันที่บริษัทเริ่มผลิตปิโตรเลียมจากแปลงสำรวจแต่ละแปลงที่มิใช่แปลงสำรวจที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ*กำหนดว่าเป็นแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตรตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

(๒) ไม่เกินร้อยละ ๓๐ ของราคาประกาศตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมเป็นเวลาไม่เกินเก้าปีนับแต่วันที่บริษัทเริ่มผลิตปิโตรเลียมจากแต่ละพื้นที่ผลิตในแปลงสำรวจที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ*กำหนดว่าเป็นแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตรตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดส่วนลดตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีที่มีการขยายอายุสัมปทานในส่วนที่เกี่ยวกับการผลิตปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม เนื่องจากการผลิตปิโตรเลียมต้องหยุดชะงักลงเพราะเหตุที่มิใช่ความผิดของผู้รับสัมปทานมิให้นับระยะเวลาที่ได้รับการขยายอายุสัมปทานนั้นรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง

 

มาตรา ๑๙ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

 

หมวด ๒

ภาษีเงินได้และการคำนวณกำไรสุทธิ

 

 

มาตรา ๒๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๔๓ ทวิ บริษัทมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี ในอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ แต่ไม่เกินร้อยละ ๖๐ ของกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการปิโตรเลียม

 

มาตรา ๒๑ ในกรณีที่มีการโอนกิจการปิโตรเลียม ถ้าบริษัทผู้รับโอนจ่ายเงินได้ที่เป็นเงินค่าสิทธิ เงินปี หรือเงินได้ประจำเนื่องจากการโอนนั้น โดยเงินดังกล่าวไม่อาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน ให้บุคคลซึ่งได้รับเงินได้นั้นมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ แต่ไม่เกินร้อยละ ๖๐ ของเงินได้หลังจากหักต้นทุนตามมาตรา ๓๓ แล้ว

 

มาตรา ๒๒ การคำนวณกำไรสุทธิ ให้นำเอาจำนวนดังต่อไปนี้มารวมเป็นรายได้

(๑) ยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียม

(๒) มูลค่าของปิโตรเลียมที่จำหน่าย

(๓) มูลค่าของปิโตรเลียมที่ส่งชำระเป็นค่าภาคหลวง

(๔) ยอดเงินได้เนื่องจากการโอนทรัพย์สินหรือสิทธิใดๆ อันเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมซึ่งอาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน

(๕) ยอดเงินได้อื่นใดที่ได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม

ในกรณีการโอนสัมปทานตามมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ยอดเงินได้เนื่องจากการโอนทรัพย์สินหรือสิทธิใดๆ ตาม (๔) ให้ถือมูลค่าตามบัญชีครั้งสุดท้ายของบริษัทผู้โอนในวันที่โอน

 

มาตรา ๒๓ รายได้ตามมาตรา ๒๒ ให้หักรายจ่ายตามปกติและจำเป็นได้

 

มาตรา ๒๔ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖ รายจ่ายตามปกติและจำเป็นให้จำกัดอยู่เฉพาะแต่รายจ่ายที่บริษัทสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นในจำนวนไม่เกินสมควร และได้จ่ายไปทั้งหมดเฉพาะในกิจการปิโตรเลียม ไม่ว่าจะจ่ายในหรือนอกราชอาณาจักร และภายในข้อจำกัดดังกล่าวให้รวมถึง

(๑) ค่าเช่าหรือค่าตอบแทนอย่างอื่นในการเช่าทรัพย์สิน

(๒) ค่าแรงงาน ค่าบริการ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง และรายจ่ายทำนองเดียวกันอย่างอื่นที่ใช้ในการเจาะเพื่อสำรวจหรือเพื่อผลิต

(๓) ค่ารับรอง

(๔) หนี้สูญที่จำหน่ายจากบัญชี

(๕) เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญ

(๖) ค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุน

(๗) ค่าภาคหลวงสำหรับปิโตรเลียม ไม่ว่าจะชำระเป็นตัวเงินหรือปิโตรเลียม

(๘) รายจ่ายของสำนักงานใหญ่เท่าที่จัดสรรได้โดยสมควรว่าเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของบริษัท

(๙) ราคาทุนของทรัพย์สินหรือสิทธิใดๆ ที่หักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนแล้ว สำหรับรายได้ตามมาตรา ๒๒ (๔)

(๑๐) ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

 

มาตรา ๒๕ รายการที่มิให้ถือเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นให้รวมถึง

(๑) รายจ่ายที่เป็นทุนหรือรายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน

รายจ่ายที่เป็นทุนตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า รายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม โดยทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นมีผลต่อกิจการเป็นเวลาเกินหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี และให้หมายความรวมถึงผลขาดทุนที่เกิดขึ้นก่อนรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามมาตรา ๒๖ (๑) วรรคสอง และรายจ่ายตามปกติและจำเป็นที่จ่ายไปก่อนรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามมาตรา ๒๖ (๑) วรรคสองด้วย

(๒) รายจ่ายที่เป็นการส่วนตัว หรือการให้โดยเสน่หาหรือรายจ่ายที่เป็นการบริจาค

(๓) ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ

(๔) รายจ่ายเพื่อตอบแทนทุนหรือทรัพย์สินของบริษัท

(๕) เงินสำรองหรือเงินสมทบกองทุนใดๆ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔ (๕)

(๖) ภาษีเงินได้ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มที่บริษัทต้องเสียตามพระราชบัญญัตินี้หรือที่ต้องเสียในต่างประเทศ

(๗) รายจ่ายเพื่อกิจการหรือเพื่อประโยชน์ในการหามาซึ่งเงินได้อันไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้

(๘) รายจ่ายที่บริษัทพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ

(๙) (ยกเลิก)

(๑๐) ดอกเบี้ย

(๑๑) ค่าธรรมเนียมการสงวนพื้นที่และเงินเพิ่มตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

(๑๒) ค่าปรับทางอาญา

 

มาตรา ๒๖ การคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิตามหมวดนี้ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(๑) กำไรสุทธิต้องคำนวณเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี

รอบระยะเวลาบัญชีแรก ให้เริ่มนับแต่วันที่บริษัทขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมที่ต้องเสียค่าภาคหลวงเป็นครั้งแรก แต่ถ้าอธิบดีอนุมัติให้บริษัทเลือกนับแต่วันใดวันหนึ่งของเดือนเดียวกัน ก่อนวันที่บริษัทขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมนั้นเป็นครั้งแรก ก็ให้เริ่มนับแต่วันที่บริษัทเลือก ส่วนรอบระยะเวลาบัญชีต่อๆ ไปให้เริ่มนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีก่อน

รอบระยะเวลาบัญชีให้มีกำหนดสิบสองเดือน เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้จะมีกำหนดน้อยกว่าสิบสองเดือนก็ได้

(ก) บริษัทถือเอาวันใดวันหนึ่งเป็นวันสิ้นสุดของรอบระยะเวลาบัญชีแรก

(ข) ในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการปิโตรเลียม ให้ถือวันเลิกกิจการปิโตรเลียมเป็นวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี

(ค) บริษัทได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้เปลี่ยนวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี

ในกรณีที่บริษัทโอนสิทธิใดๆ ตามสัมปทานก่อนวันเริ่มรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามวรรคสอง เพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิเนื่องจากการโอนสิทธิเช่นว่านั้น ให้ถือวันโอนเป็นวันแรกและวันสิ้นสุดของรอบระยะเวลาบัญชี และในระยะเวลาตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวจนถึงวันเริ่มรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามวรรคสอง ให้ถือว่าไม่มีรอบระยะเวลาบัญชี

(๒) ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ วิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชี เพื่อคำนวณรายได้ รายจ่ายและกำไรสุทธิของบริษัท ให้เป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชีที่เหมาะสมซึ่งใช้อยู่เป็นปกติในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม

(๓) ยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียมตามมาตรา ๒๒ (๑) ให้คำนวณตามราคาที่ขายได้จริงซึ่งใช้เป็นเกณฑ์การคำนวณค่าภาคหลวงตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม แต่ไม่ให้ปรับปรุงราคาเนื่องจากความแตกต่างของค่าขนส่งตามกฎหมายนั้น เว้นแต่กรณีน้ำมันดิบที่ส่งออก ถ้าราคาที่ขายได้จริงต่ำกว่าราคามาตรฐานให้คำนวณตามราคามาตรฐาน

(๔) มูลค่าของปิโตรเลียมตามมาตรา ๒๒ (๒) ให้คำนวณตามราคาตลาดซึ่งใช้เป็นเกณฑ์การคำนวณค่าภาคหลวงตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมแต่ไม่ให้ปรับปรุงราคาเนื่องจากความแตกต่างของค่าขนส่งตามกฎหมายนั้น

(๕) มูลค่าของปิโตรเลียมตามมาตรา ๒๒ (๓) ให้คำนวณตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมที่เกี่ยวกับการคำนวณมูลค่าปิโตรเลียมที่ส่งชำระเป็นค่าภาคหลวง

(๖) ถ้าบริษัทหนึ่งที่มีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทานต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสำรวจปิโตรเลียมหรือการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อให้ได้มาซึ่งส่วนได้เสียนั้น แต่ค่าใช้จ่ายนั้นมิได้เสียให้แก่บริษัทอื่นที่มีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทาน ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมิให้ถือเป็นเงินได้ของบริษัทอื่นนั้น

(๗) ค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุน ให้หักได้เฉพาะตามประเภท อัตราและเงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

(๘) ค่าแรงงาน ค่าบริการ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง และรายจ่ายทำนองเดียวกันอย่างอื่นที่ใช้ในการเจาะเพื่อสำรวจหรือเพื่อผลิตปิโตรเลียมบริษัทจะถือเป็นรายจ่ายที่เป็นทุนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีรายจ่ายนั้นก็ได้

(๙) ค่ารับรอง ให้หักเป็นรายจ่ายได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

(๑๐) ราคาทรัพย์สินอื่นนอกจากสินค้า ให้ถือตามราคาทุน ถ้าราคาทุนเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเป็นเงินตราไทยเช่นเดียวกับวิธีการตาม (๑๒) ราคาทุนดังกล่าวอาจลดลงได้โดยการหักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนตาม (๗) แต่ห้ามมิให้ตีราคาลดลง ส่วนการตีราคาเพิ่มขึ้นให้กระทำได้เท่าที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร

(๑๑) ราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีจะคำนวณตามราคาทุนก็ได้ หรือจะคำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่าก็ได้ และให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่

การคำนวณราคาทุนตามวรรคหนึ่งนั้น เมื่อได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ใดตามวิชาการบัญชีแล้ว ให้ใช้หลักเกณฑ์นั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้

(๑๒) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราที่ได้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศนั้น

ในกรณีที่มิได้มีการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเงินตราต่างประเทศ หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยในรอบระยะเวลาหนึ่งเดือน ก่อนเดือนที่ได้รับมาหรือจ่ายไป โดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยรายวันที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้

(๑๓) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศเหลืออยู่ในวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยหลังสุดที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายในรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่กรณี ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้

(๑๔) หนี้สูญจะจำหน่ายจากบัญชีได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติการโดยสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้แล้ว หนี้สูญรายใดที่ได้จำหน่ายแล้ว ถ้าได้รับชำระในภายหลัง ให้นำมาคำนวณเป็นรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับชำระนั้น

(๑๕) เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญจะถือเป็นรายจ่ายได้ไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในรอบระยะเวลาบัญชี และต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้

(ก) กองทุนได้ตั้งไว้เพื่อประโยชน์แก่ลูกจ้างโดยเฉพาะ

(ข) เงินกองทุนต้องแยกไว้ต่างหากให้พ้นจากการครอบครองของบริษัท

(ค) เงินกองทุนจะนำไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้นอกจากเพื่อประโยชน์แก่กองทุนโดยเฉพาะ

(ง) เงินสมทบกองทุนต้องไม่กลับคืนมาเป็นของบริษัทอีก และ

(จ) เงินสมทบกองทุนต้องจ่ายตามข้อผูกพันที่มีระเบียบว่าด้วยกองทุนกำหนดไว้เป็นหนังสือ

(๑๖)ในกรณีที่บริษัทเป็นผู้ได้รับสัมปทานสำหรับแปลงสำรวจหลายแปลงโดยแปลงสำรวจบางแปลงอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียมพ.ศ. ๒๕๑๔ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๒ และบางแปลงอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๒ ให้บริษัทดังกล่าวคำนวณรายได้ รายจ่ายและกำไรสุทธิสำหรับแปลงสำรวจที่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัตินั้นๆ เสมือนหนึ่งเป็นบริษัทแยกต่างหากจากกัน

การคำนวณรายได้และรายจ่ายสำหรับแปลงสำรวจตามวรรคหนึ่ง ถ้ารายได้และรายจ่ายรายการใดไม่สามารถแยกกันได้โดยชัดแจ้ง ให้เฉลี่ยรายได้และรายจ่ายตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๒๗ รายได้เมื่อได้หักรายจ่ายตามปกติและจำเป็นออกแล้วผลลัพธ์เป็นผลกำไรประจำปีหรือผลขาดทุนประจำปี แล้วแต่กรณี

 

มาตรา ๒๘ ในกรณีที่มีผลกำไรประจำปี ให้หักลดหย่อนได้ดังต่อไปนี้

(๑) ผลขาดทุนประจำปีของรอบระยะเวลาบัญชีใดๆ ในสิบรอบระยะเวลาบัญชี ก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบัน

ผลขาดทุนประจำปี เมื่อได้นำไปหักลดหย่อนในรอบระยะเวลาบัญชีใดแล้วหากยังมีผลขาดทุนประจำปีคงเหลือเป็นจำนวนเท่าใด ให้นำไปหักลดหย่อนในรอบระยะเวลาบัญชีต่อไปได้เพียงเท่าจำนวนที่เหลือนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิบรอบระยะเวลาบัญชี

(๒) เงินบริจาครวมทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละ ๑ ของผลกำไรประจำปีหลังจากหักลดหย่อนตาม (๑) แล้ว ทั้งนี้ เฉพาะเงินบริจาคดังต่อไปนี้

(ก) เงินที่บริจาคแก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาของทางราชการ

(ข) เงินที่บริจาคเป็นสาธารณประโยชน์แก่องค์การหรือสถานสาธารณกุศล หรือแก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาอื่นนอกจากที่กล่าวใน (ก) ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๒๙ ในกรณีที่มีการโอนกิจการปิโตรเลียม ให้บริษัทผู้รับโอนถือเอาผลขาดทุนประจำปีคงเหลือของบริษัทผู้โอนเพื่อประโยชน์ในการหักลดหย่อนตามมาตรา ๒๘ (๑) นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอนเป็นต้นไปได้เสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการโอนกิจการปิโตรเลียม

ในกรณีที่ค่าตอบแทนที่บริษัทผู้รับโอนจ่ายแก่บริษัทผู้โอนเนื่องในการโอนกิจการปิโตรเลียมต่ำกว่าผลบวกของมูลค่าทรัพย์สินหลังจากหักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนแล้ว กับผลขาดทุนประจำปีคงเหลือของบริษัทผู้โอนแต่สูงกว่ามูลค่าทรัพย์สินดังกล่าว ผลขาดทุนประจำปีคงเหลือที่บริษัทผู้รับโอนจะถือเอาตามวรรคหนึ่ง ให้จำกัดอยู่เพียงเท่าผลต่างระหว่างค่าตอบแทนดังกล่าว กับมูลค่าทรัพย์สินหลังจากหักค่าชดเชยแล้วเท่านั้น ถ้ามีผลขาดทุนประจำปีคงเหลือยกมาจากหลายรอบระยะเวลาบัญชี ให้เฉลี่ยจำนวนส่วนแตกต่างตามส่วนของผลขาดทุนคงเหลือของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี

ในกรณีที่ค่าตอบแทนตามวรรคสองมีจำนวนไม่เกินมูลค่าทรัพย์สินหลังจากหักค่าชดเชยแล้ว บริษัทผู้รับโอนจะถือเอาผลขาดทุนประจำปีคงเหลือของบริษัทผู้โอนเพื่อประโยชน์ในการหักลดหย่อนตามมาตรา ๒๘ (๑) ไม่ได้

บทบัญญัติตามวรรคสองและวรรคสาม มิให้นำมาใช้บังคับในกรณีการโอนสัมปทานตามมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔

 

มาตรา ๓๐ ผลกำไรประจำปีเมื่อได้หักลดหย่อนตามมาตรา ๒๘ ออกแล้วเหลือเท่าใด เป็นกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา ๒๐

 

มาตรา ๓๑ (ยกเลิก)

 

มาตรา ๓๒ ในกรณีที่บริษัทผู้ได้รับสัมปทานหรือมีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทานขายน้ำมันดิบให้แก่บริษัทผู้ซื้อเพื่อส่งน้ำมันดิบนั้นทั้งหมดออกนอกราชอาณาจักร ถ้าบริษัทผู้ซื้อต้องเสียภาษีตามมาตรา ๒๐ เป็นจำนวนเท่าใดให้บริษัทผู้ขายนำภาษีจำนวนนั้นมาเป็นเครดิตหักออกจากภาษีที่บริษัทผู้ขายต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันได้ แต่ต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่บริษัทผู้ขายต้องเสีย

ในกรณีที่บริษัทผู้ซื้อซื้อน้ำมันดิบในราคาต่ำกว่าราคามาตรฐานและขายไปในราคาที่สูงกว่าราคามาตรฐาน เครดิตที่บริษัทผู้ขายจะหักตามวรรคหนึ่งต้องไม่เกินส่วนของจำนวนภาษีที่บริษัทผู้ซื้อเสียสำหรับผลต่างระหว่างราคามาตรฐานกับราคาที่บริษัทผู้ซื้อซื้อน้ำมันดิบ

ในกรณีที่บริษัทผู้ซื้อซื้อน้ำมันดิบในราคามาตรฐานหรือราคาที่สูงกว่าราคามาตรฐาน ไม่ให้หักเครดิตตามวรรคหนึ่ง

 

มาตรา ๓๓ การหักต้นทุนจากเงินได้ตามมาตรา ๒๑ ให้หักได้เพียงเท่าผลขาดทุนประจำปีคงเหลือตามมาตรา ๒๘ (๑) ของบริษัทผู้โอนกิจการปิโตรเลียม ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

หมวด ๓

การยื่นแบบแสดงรายการเงินได้

 

 

มาตรา ๓๔ บริษัทมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ ดังต่อไปนี้

(๑) ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ทุกครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

(๒) ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ทุกรอบระยะเวลาบัญชี

การยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ตาม (๑) ให้บริษัทมีหน้าที่จัดทำประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิที่จะพึงมีสำหรับระยะเวลาบัญชีนั้น

ความในวรรคสอง มิให้ใช้บังคับแก่บริษัทซึ่งมีรอบระยะเวลาบัญชีแรกหรือรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายน้อยกว่าสิบสองเดือน

บริษัทที่มีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทานแต่ละบริษัท มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับรายได้ซึ่งเป็นส่วนของบริษัทเอง

บริษัทที่เป็นผู้ได้รับสัมปทานสำหรับแปลงสำรวจหลายแปลงตามมาตรา ๒๖ (๑๖) มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ตาม (๑) และ (๒) เสมือนหนึ่งเป็นบริษัทแยกต่างหากจากกัน

 

มาตรา ๓๕ การยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ตามหมวดนี้ ให้กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทมีหน้าที่ยื่นแทนบริษัท

ในกรณีที่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศมีหน้าที่เสียภาษี ไม่มีกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทอยู่ในราชอาณาจักร ให้ผู้ทำกิจการแทนบริษัทที่อยู่ในราชอาณาจักรในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้อันต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้มีหน้าที่ยื่นแทนบริษัท

 

มาตรา ๓๖ ในกรณีที่บริษัทควบเข้ากัน ถ้าบริษัทเดิมยังมิได้ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ตามมาตรา ๓๔ ให้บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่โดยการควบเข้ากันมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้แทนบริษัทเดิม

 

มาตรา ๓๗ ในกรณีที่มีการโอนกิจการปิโตรเลียม ถ้าบริษัทผู้โอนไม่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ภายในเวลาที่กำหนดและเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการไม่ยื่นแบบแสดงรายการนั้นต่อบริษัทผู้รับโอนแล้ว ให้บริษัทผู้รับโอนยื่นแบบแสดงรายการเงินได้แทนบริษัทผู้โอน

 

มาตรา ๓๘ ในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการปิโตรเลียม ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการแทนตามมาตรา ๓๕ มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ ถ้ามีผู้ชำระบัญชี ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการแทนตามมาตรา ๓๕ กับผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ร่วมกันยื่นแบบแสดงรายการเงินได้

 

มาตรา ๓๙ แบบแสดงรายการเงินได้ ให้ใช้แบบที่อธิบดีกำหนด

ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้กรอกรายการในแบบนั้นโดยครบถ้วน และให้ยื่นเอกสารประกอบตามที่อธิบดีกำหนดไปพร้อมด้วย

 

มาตรา ๔๐ การยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ ให้ยื่นต่อเจ้าพนักงาน ณ สถานที่ที่อธิบดีกำหนด

 

มาตรา ๔๑ การยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ตามมาตรา ๓๔ (๑) ให้ยื่นภายในสองเดือนนับแต่วันสุดท้ายของวันครบกำหนดครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ตามมาตรา ๓๔ (๒) ให้ยื่นภายในห้าเดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี

การยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา ๓๗ ให้ยื่นภายในเวลาที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งการไม่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ของบริษัทผู้โอนกิจการปิโตรเลียม

การยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา ๕๙ ให้ยื่นภายในเวลาที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนด

 

หมวด ๔

การชำระภาษี

 

 

มาตรา ๔๒ การชำระภาษีตามมาตรา ๒๐ ให้ชำระต่อเจ้าพนักงาน ณ สถานที่ที่อธิบดีกำหนด

การชำระภาษีตามวรรคหนึ่ง บริษัทจะยื่นคำขอชำระเป็นเงินตราต่างประเทศสกุลใดก็ได้ เมื่ออธิบดีโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควรจะอนุมัติให้ชำระเป็นเงินตราต่างประเทศสกุลนั้นตามเงื่อนไขและวิธีการที่กำหนดก็ได้

 

มาตรา ๔๓ ถ้ามีภาษีต้องเสีย ให้บริษัทที่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ตามหมวด ๓ ชำระภาษีภายในห้าเดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้

ในกรณีตามมาตรา ๓๕ วรรคสอง ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ มีหน้าที่ชำระภาษีร่วมกับบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศด้วย

 

มาตรา ๔๓ ทวิ การยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ตามมาตรา ๓๔ (๑) ถ้ามีภาษีต้องเสีย ให้บริษัทคำนวณและชำระภาษีจากจำนวนกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิตามมาตรา ๓๔ วรรคสอง พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้

ภาษีที่ชำระตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา ๔๓

 

มาตรา ๔๔ ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินตามหมวด ๖ ให้ผู้มีหน้าที่ชำระภาษีชำระภาษีนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน เว้นแต่การประเมินตามมาตรา ๕๙ ให้ชำระภาษีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนด

 

หมวด ๕

การหักภาษี ณ ที่จ่าย

 

 

มาตรา ๔๕ ให้บริษัทซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้ตามมาตรา ๒๑ มีหน้าที่

(๑) หักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายทุกคราวที่จ่ายเงินได้นั้นในอัตราตามมาตรา ๒๑

(๒) ยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย

(๓) นำส่งภาษีที่ต้องหักตาม (๑)

การหักภาษีตาม (๑) ให้คำนวณหักตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๔๖ การยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามหมวดนี้ ให้กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทมีหน้าที่ยื่นแทนบริษัท

ในกรณีที่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไม่มีกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทอยู่ในราชอาณาจักร ให้ผู้ทำกิจการแทนบริษัทที่อยู่ในราชอาณาจักรในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้ที่จ่ายตามมาตรา ๒๑ มีหน้าที่ยื่นแทนบริษัท

 

มาตรา ๔๗ ในกรณีที่บริษัทควบเข้ากัน ถ้าบริษัทซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้ตามมาตรา ๒๑ ยังมิได้ยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่โดยการควบเข้ากัน มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนบริษัทเดิม

 

มาตรา ๔๘ ในกรณีที่มีการโอนกิจการปิโตรเลียม ถ้าบริษัทผู้โอนไม่ยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายภายในเวลาที่กำหนด และเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการไม่ยื่นแบบแสดงรายการนั้นต่อบริษัทผู้รับโอนแล้ว ให้บริษัทผู้รับโอนยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนบริษัทผู้โอน

 

มาตรา ๔๙ ในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการปิโตรเลียม ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการแทนตามมาตรา ๔๖ มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย ถ้ามีผู้ชำระบัญชีให้ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการแทนตามมาตรา ๔๖ กับผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ร่วมกัน ยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย

 

มาตรา ๕๐ แบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ใช้แบบที่อธิบดีกำหนด

ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย กรอกรายการในแบบนั้นโดยครบถ้วน และให้ยื่นเอกสารประกอบตามที่อธิบดีกำหนดไปพร้อมด้วย

 

มาตรา ๕๑ การยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ยื่นภายในเจ็ดวันนับแต่วันจ่ายเงินได้ตามมาตรา ๒๑

การยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา ๔๘ ให้ยื่นภายในเวลาที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งการไม่ยื่นแบบแสดงรายการของบริษัทผู้โอนกิจการปิโตรเลียม

การยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา ๕๙ ให้ยื่นภายในเวลาที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนด

 

มาตรา ๕๒ ให้บริษัทที่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งภาษีในเจ็ดวันนับแต่วันจ่ายเงินได้ตามมาตรา ๒๑ พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา ๕๑

ในกรณีตามมาตรา ๔๖ วรรคสอง ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย มีหน้าที่นำส่งภาษีร่วมกับบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศด้วย

 

มาตรา ๕๓ ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินตามหมวด ๖ ให้ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษี นำส่งภาษีนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน เว้นแต่การประเมินตามมาตรา ๕๙ ให้นำส่งภาษีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนด

 

มาตรา ๕๔ การยื่นแบบแสดงรายการและการนำส่งภาษีตามหมวดนี้ให้ยื่นและนำส่งต่อเจ้าพนักงาน ณ สถานที่ที่อธิบดีกำหนด

 

มาตรา ๕๕ ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งมิได้หักภาษีหรือหักภาษีโดยไม่ถูกต้องก็ดี ต้องรับผิดร่วมกับบุคคลซึ่งได้รับเงินได้ตามมาตรา ๒๑ ในการชำระภาษีนั้น

ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว แต่มิได้นำส่งภาษีหรือนำส่งภาษีโดยไม่ถูกต้องก็ดี ให้บุคคลซึ่งได้รับเงินได้ตามมาตรา ๒๑ พ้นความรับผิดในการเสียภาษีเท่าจำนวนที่ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ได้หักภาษีไว้ และให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย รับผิดในการชำระภาษีนั้นแต่ฝ่ายเดียว

 

หมวด ๖

อำนาจเจ้าพนักงานประเมิน

 

 

มาตรา ๕๖ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อ

(๑) ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้มิได้ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ภายในเวลาที่กำหนด

(๒) ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด ทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไป

(๓) บริษัทหรือผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินหรือไม่ตอบคำถามของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจไต่สวนโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือไม่สามารถแสดงหลักฐานในการคำนวณภาษี หรือ

(๔) บริษัทมิได้หักภาษี ณ ที่จ่าย หรือมิได้ยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือมิได้นำส่งภาษีโดยถูกต้องตามหมวด ๕

 

มาตรา ๕๗ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา ๕๖ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจ

(๑) จัดทำรายการลงในแบบแสดงรายการเงินได้ตามหลักฐานที่เห็นว่าถูกต้อง เมื่อมิได้มีการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้

(๒) แก้ไขเพิ่มเติมรายการในแบบแสดงรายการเงินได้หรือในเอกสารที่ยื่นประกอบแบบแสดงรายการเงินได้เพื่อให้ถูกต้อง

(๓) ปรับปรุงจำนวนรายได้และรายจ่ายของบริษัทเพื่อให้ได้จำนวนที่บริษัทควรได้รับและจ่ายถ้าหากบริษัทได้ดำเนินการโดยอิสระ แต่บริษัทมิได้ดำเนินการโดยอิสระเพราะมีความสัมพันธ์ในด้านทุนหรือการจัดการกับบริษัทหรือบุคคลอื่น

(๔) กำหนดราคาหรือมูลค่าของทรัพย์สินหรือกิจการปิโตรเลียมตามราคาตลาดในวันโอน เมื่อการโอนทรัพย์สินหรือกิจการปิโตรเลียมนั้นไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(๕) กำหนดกำไรสุทธิหรือเงินได้ตามที่รู้เห็นหรือพิจารณาว่าถูกต้องเมื่อมีกรณีตามมาตรา ๕๖ (๓)

 

มาตรา ๕๘ ในการดำเนินการตามมาตรา ๕๖ หรือมาตรา ๕๗ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจ

(๑) ออกหมายเรียกผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้หรือแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายและออกหมายเรียกพยานมาให้ถ้อยคำ

(๒) ออกคำสั่งให้ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้หรือแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายและออกคำสั่งให้พยานตอบคำถามเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชีหลักฐาน รายงานหรือเอกสารอื่นอันควรแก่กรณีมาตรวจสอบไต่สวน

ทั้งนี้ ต้องให้เวลาแก่ผู้รับหมายเรียกหรือคำสั่งไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันได้รับหมายเรียกหรือคำสั่งนั้น

 

มาตรา ๕๙ ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจสั่งให้ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้หรือแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย และมีอำนาจประเมินภาษี สั่งให้เสียภาษีหรือนำส่งภาษีก่อนกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๖๐ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินแล้ว ให้แจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังบริษัทหรือผู้มีหน้าที่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษี ในกรณีนี้จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้ เว้นแต่การประเมินตามมาตรา ๕๖ (๓) ห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน

การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับการอุทธรณ์มาใช้บังคับ

 

มาตรา ๖๑ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(๑) ห้าปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการเงินได้ตามมาตรา ๔๑ วรรคหนึ่ง วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง หรือวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาที่อธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไปตามมาตรา ๕ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนดเวลาดังกล่าว

(๒) ห้าปีนับแต่วันที่บริษัทยื่นแบบแสดงรายการเงินได้หรือแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่บริษัทยื่นแบบแสดงรายการภายหลังวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาดังกล่าวใน (๑) แต่ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ

(๓) สิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการเงินได้หรือแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในกรณีที่บริษัทมิได้ยื่นแบบแสดงรายการหรือยื่นแบบแสดงรายการเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีหรือการนำส่งภาษี หรือยื่นแบบแสดงรายการโดยแสดงจำนวนรายได้หรือภาษีที่ต้องนำส่งขาดไปเกินร้อยละ ๒๕ ของจำนวนรายได้หรือภาษีที่ต้องนำส่งในแบบแสดงรายการ

 

หมวด ๗

เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

 

 

มาตรา ๖๒ ให้บริษัทเสียเบี้ยปรับในกรณีและตามอัตราดังต่อไปนี้

(๑) ถ้ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ตามมาตรา ๓๔ (๑) ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๔๑ วรรคหนึ่ง หรือยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ตามมาตรา ๓๔ (๑) ภายในกำหนดเวลา โดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิตามมาตรา ๓๔ วรรคสอง ขาดไปเกินร้อยละ ๒๕ ของกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้เสียเบี้ยปรับอีกร้อยละ ๒๐ ของภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา ๔๓ ทวิ หรือของภาษีที่ชำระขาด แล้วแต่กรณี

(๒) ถ้ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๔๑ วรรคหนึ่ง หรือภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๓๔ (๒) ที่ขยายหรือเลื่อนออกไปตามมาตรา ๕ ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของภาษี

(๓) ถ้ายื่นแบบแสดงรายการเงินได้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียลดน้อยลง ให้เสียเบี้ยปรับอีกร้อยละ ๒๐ ของภาษีที่ประเมินเพิ่มเติม

(๔) ถ้ามิได้หักภาษี ณ ที่จ่าย หรือมิได้ยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายภายในกำหนดเวลาตามหมวด ๕ หรือยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ถูกต้อง ทำให้จำนวนภาษีที่นำส่งนั้นน้อยไปกว่าจำนวนที่ควรต้องนำส่งให้เสียเบี้ยปรับอีกร้อยละ ๒๐ ของภาษีที่มิได้หัก ณ ที่จ่าย หรือที่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการหรือที่ยื่นแบบแสดงรายการขาดไป แล้วแต่กรณี

 

มาตรา ๖๓ บริษัทใดมิได้ชำระหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตามหมวด ๔ หรือหมวด ๕ หรือชำระหรือนำส่งขาดจากจำนวนที่ควรต้องชำระหรือนำส่ง ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๑ ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของภาษีที่ต้องชำระหรือชำระขาดหรือที่ต้องนำส่งหรือนำส่งขาด โดยไม่รวมเบี้ยปรับตามมาตรา ๖๒ การคำนวณเงินเพิ่มดังกล่าวมิให้คิดทบต้น

ในกรณีที่อธิบดีสั่งให้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาชำระหรือนำส่งภาษีตามมาตรา ๕ และได้มีการชำระหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาที่ขยายหรือเลื่อนให้นั้น เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ลดลงเหลือร้อยละ ๐.๕ ต่อเดือนหรือเศษของเดือน

การคำนวณเงินเพิ่มทุกกรณีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เริ่มนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการเงินได้ตามมาตรา ๔๑ วรรคหนึ่งหรือวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณี เว้นแต่การประเมินตามมาตรา ๕๙ ให้เริ่มนับแต่วันสุดท้ายแห่งเวลาที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนด

เงินเพิ่มตามมาตรานี้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ

 

มาตรา ๖๔ เบี้ยปรับและเงินเพิ่มอาจงดหรือลดลงได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๖๕ เพื่อให้ได้รับชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ให้ถือว่าเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามหมวดนี้เป็นภาษี

 

หมวด ๗ ทวิ

บทบัญญัติเฉพาะกรณี

 

 

มาตรา ๖๕ ทวิ ความในหมวดนี้ให้ใช้บังคับแก่บริษัทซึ่งได้ทำสัญญาปิโตรเลียม ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๒ และได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทยก่อนปี พ.ศ. ๒๕๒๒ และบริษัทอื่นตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนด

ให้นำบทนิยามคำว่า “เงินได้”“จำหน่าย” และ “บริษัท” ในมาตรา ๖๕ ตรี มาใช้แทนบทนิยามของคำเหล่านั้นในมาตรา ๔ และให้นำความในมาตรา ๖๕ จัตวามาตรา ๖๕ เบญจ มาตรา ๖๕ ฉ มาตรา ๖๕ สัตต มาตรา ๖๕ อัฏฐ มาตรา ๖๕ นว มาตรา ๖๕ ทศ และมาตรา ๖๕ เอกาทศ มาใช้บังคับแทนความใน มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ มาตรา ๓๑ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ตามลำดับ สำหรับบริษัทตามวรรคหนึ่ง

มิให้นำคำนิยาม “ราคามาตรฐาน” ในมาตรา ๔ กับความในมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๘ และมาตรา ๓๒ มาใช้บังคับกับบริษัทตามวรรคหนึ่ง

ให้นำบทบัญญัติในหมวดอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับกับบริษัทตามวรรคหนึ่งได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในหมวดนี้ และที่ใดบัญญัติถึง “เงินได้”“จำหน่าย” หรือ “บริษัท” ให้หมายถึง “เงินได้”“จำหน่าย” หรือ “บริษัท” ตามลำดับตามหมวดนี้ และที่ใดที่อ้างถึง มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ มาตรา ๓๑ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ให้หมายถึงมาตรา ๖๕ จัตวา มาตรา ๖๕ เบญจ มาตรา ๖๕ ฉ มาตรา ๖๕ สัตต มาตรา ๖๕ อัฏฐ มาตรา ๖๕ นว มาตรา ๖๕ ทศ และมาตรา ๖๕ เอกาทศ ตามลำดับตามหมวดนี้

 

มาตรา ๖๕ ตรี ในหมวดนี้

“เงินได้” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาอันอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินและหมายความรวมถึงภาษีอากรที่มีผู้อื่นออกแทนให้

“จำหน่าย” หมายความว่า ส่งปิโตรเลียมออกนอกราชอาณาจักรส่งปิโตรเลียมไปยังโรงกลั่นน้ำมันหรือสถานที่เก็บรักษาเพื่อการกลั่นปิโตรเลียมของบริษัท นำปิโตรเลียมที่ต้องเสียค่าภาคหลวงไปใช้ในกิจการใดๆ ของบริษัทโดยไม่มีการขาย หรือโอนปิโตรเลียมที่ต้องเสียค่าภาคหลวง ไปโดยไม่มีค่าตอบแทน

“บริษัท” หมายความว่า บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมซึ่งได้รับสัมปทานหรือมีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทาน

 

มาตรา ๖๕ จัตวา บริษัทมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ดังต่อไปนี้

(๑) ภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีในอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๕ แต่ไม่เกินร้อยละ ๔๘ ของกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการปิโตรเลียม

(๒) ภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ ๒๓.๐๘ ของเงินกำไรที่เหลือจากการชำระภาษีเงินได้ตาม (๑) หรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรดังกล่าวหรือที่ถือว่าเป็นเงินกำไรดังกล่าว ทั้งนี้ เฉพาะจำนวนที่จำหน่ายออกนอกราชอาณาจักร

เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีเงินได้ตาม (๒) ให้ถือภาษีเงินได้ตาม (๒) นั้น เป็นเงินกำไรที่จำหน่ายออกนอกราชอาณาจักรด้วย

 

มาตรา ๖๕ เบญจ ในกรณีที่มีการโอนกิจการปิโตรเลียม ถ้าบริษัทผู้รับโอนจ่ายเงินได้ที่เป็นเงินค่าสิทธิ เงินปี หรือเงินได้ประจำเนื่องจากการโอนนั้น โดยเงินดังกล่าวไม่อาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน ให้บุคคลซึ่งได้รับเงินได้นั้นมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ แต่ไม่เกินร้อยละ ๖๐ ของเงินได้หลังจากหักต้นทุนตามมาตรา ๓๓ แล้ว

บุคคลใดได้รับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากบริษัท บุคคลนั้นมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยนั้นในอัตราตามวรรคหนึ่ง และให้นำภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วตามมาตรา ๔๕ มาเป็นเครดิตหักออกจากภาษีที่ต้องเสีย

บุคคลใดได้รับเงินปันผลหรือส่วนแบ่งของกำไรจากบริษัทที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา ๖๕ จัตวา (๑) แต่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตาม ตามมาตรา ๖๕ จัตวา (๒) บุคคลนั้นมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ ๒๓.๐๘ ของเงินปันผลหรือส่วนแบ่งของกำไรนั้น และให้นำภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วตามมาตรา ๔๕ มาเป็นเครดิตหักออกจากภาษีที่ต้องเสีย

 

มาตรา ๖๕ ฉ ภายใต้บังคับมาตรา ๖๕ สัตต และมาตรา ๖๕ อัฏฐ รายจ่ายตามปกติและจำเป็นให้จำกัดอยู่เฉพาะแต่รายจ่ายที่บริษัทสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นในจำนวนไม่เกินสมควร และได้จ่ายไปทั้งหมดเฉพาะในกิจการปิโตรเลียมไม่ว่าจะจ่ายในหรือนอกราชอาณาจักร และภายในข้อจำกัดดังกล่าวให้รวมถึง

(๑) ค่าเช่าหรือค่าตอบแทนอย่างอื่นในการเช่าทรัพย์สิน

(๒) ค่าแรงงาน ค่าบริการ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง และรายจ่ายทำนองเดียวกันอย่างอื่นที่ใช้ในการเจาะเพื่อสำรวจหรือเพื่อผลิต

(๓) ค่ารับรอง

(๔) หนี้สูญที่จำหน่ายจากบัญชี

(๕) เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญ

(๖) ค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุน

(๗) ค่าภาคหลวง ไม่ว่าจะชำระเป็นตัวเงินหรือปิโตรเลียม

(๘) รายจ่ายของสำนักงานใหญ่เท่าที่จัดสรรได้โดยสมควรว่าเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของบริษัท

(๙) ราคาทุนของทรัพย์สินหรือสิทธิใดๆ ที่หักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนแล้วสำหรับรายได้ตามมาตรา ๒๒ (๔)

(๑๐) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เฉพาะที่บริษัทพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้รับและได้หักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายดอกเบี้ยนั้นแล้วตามมาตรา ๔๕

 

มาตรา ๖๕ สัตต รายการที่มิให้ถือเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นให้รวมถึง

(๑) รายจ่ายที่เป็นทุนหรือรายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน

รายจ่ายที่เป็นทุนตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า รายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมโดยทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นมีผลต่อกิจการเป็นเวลาเกินหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีและให้หมายความรวมถึงผลขาดทุนที่เกิดขึ้นก่อน รอบระยะเวลาบัญชีแรกตามมาตรา ๖๕ อัฏฐ (๑) วรรคสองและรายจ่ายตามปกติ และจำเป็นที่จ่ายไปก่อนรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามมาตรา ๖๕ อัฏฐ (๑) วรรคสองด้วย

(๒) รายจ่ายที่เป็นการส่วนตัว หรือการให้โดยเสน่หาหรือรายจ่ายที่เป็นการบริจาค

(๓) ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกัน หรือสัญญาคุ้มกันใดๆ

(๔) รายจ่ายเพื่อตอบแทนทุนหรือทรัพย์สินของบริษัท

(๕) เงินสำรองหรือเงินสมทบกองทุนใดๆ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๕ ฉ (๕)

(๖) ภาษีเงินได้ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มที่บริษัทต้องเสียตามพระราชบัญญัตินี้หรือที่ต้องเสียในต่างประเทศ

(๗) รายจ่ายเพื่อกิจการหรือเพื่อประโยชน์ในการหามาซึ่งเงินได้อันไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้

(๘) รายจ่ายที่บริษัทพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ

(๙) ค่าธรรมเนียมการสงวนพื้นที่และเงินเพิ่มตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

(๑๐) ค่าปรับทางอาญา

 

มาตรา ๖๕ อัฏฐ การคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิตามหมวดนี้ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(๑) กำไรสุทธิต้องคำนวณเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี

รอบระยะเวลาบัญชีแรก ให้เริ่มนับแต่วันที่บริษัทขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมที่ต้องเสียค่าภาคหลวงเป็นครั้งแรก แต่ถ้าอธิบดีอนุมัติให้บริษัทเลือกนับแต่วันใดวันหนึ่งของเดือนเดียวกัน ก่อนวันที่บริษัทขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมนั้นเป็นครั้งแรก ก็ให้เริ่มนับแต่วันที่บริษัทเลือกส่วนรอบระยะเวลาบัญชีต่อๆ ไปให้เริ่มนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีก่อน

รอบระยะเวลาบัญชีให้มีกำหนดสิบสองเดือน เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้จะมีกำหนดน้อยกว่าสิบสองเดือนก็ได้

(ก) บริษัทถือเอาวันใดวันหนึ่งเป็นวันสิ้นสุดของรอบระยะเวลาบัญชีแรก

(ข) ในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการปิโตรเลียม ให้ถือวันเลิกกิจการปิโตรเลียมเป็นวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี

(ค) บริษัทได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้เปลี่ยนวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี

ในกรณีที่บริษัทโอนสิทธิใดๆ ตามสัมปทานก่อนวันเริ่มรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามวรรคสอง เพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิเนื่องจากการโอนสิทธิเช่นว่านั้น ให้ถือวันโอนเป็นวันแรกและวันสิ้นสุดของรอบระยะเวลาบัญชี และในระยะเวลาตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวจนถึงวันเริ่มรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามวรรคสอง ให้ถือว่าไม่มีรอบระยะเวลาบัญชี

(๒) ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งหมวด ๒ และหมวดนี้ วิธีการ หลักเกณฑ์และการปฏิบัติทางบัญชี เพื่อคำนวณรายได้ รายจ่ายและกำไรสุทธิของบริษัทให้เป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์และการปฏิบัติทางบัญชีที่เหมาะสมซึ่งใช้อยู่เป็นปกติในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม

(๓) ยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียมตามมาตรา ๒๒ (๑) ให้ถือตามราคาที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับจากการขายปิโตรเลียมหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปิโตรเลียมนั้น

(๔) มูลค่าของปิโตรเลียมตามมาตรา ๒๒ (๒) ให้คำนวณตามราคาตลาด

ในกรณีที่มีการส่งปิโตรเลียมไปยังโรงกลั่นน้ำมันหรือสถานที่เก็บรักษาเพื่อการกลั่นน้ำมันของบริษัท ให้กำหนดมูลค่าของปิโตรเลียมตามวรรคหนึ่งในวันที่มีการขายหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมนั้น และรวมเป็นเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการขายหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมนั้น ในกรณีที่มีการจำหน่ายปิโตรเลียมโดยประการอื่น ให้กำหนดมูลค่าของปิโตรเลียมตามวรรคหนึ่งในเวลาที่มีการจำหน่ายและรวมเป็นเงินได้ในปีที่มีการจำหน่ายนั้น

การกำหนดราคาตลาดและปริมาณของปิโตรเลียมที่จะต้องนำมูลค่ามารวมเป็นเงินได้ตามวรรคสอง ให้เฉลี่ยเงินได้ทั้งหมดที่ได้จากการขายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมหรือมูลค่าตามราคาตลาดของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมที่ส่งออกนอกราชอาณาจักรทั้งหมด แล้วแต่กรณีเป็นมูลค่าของปิโตรเลียมนั้น ทั้งนี้ ตามวิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชีที่เหมาะสมซึ่งใช้อยู่เป็นปกติในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม แต่มิให้ถือว่ามีการขายหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมดังกล่าวในรอบระยะเวลาบัญชีใดๆ หลังจากรอบระยะเวลาบัญชีที่ส่งปิโตรเลียมนั้นไปยังโรงกลั่น เว้นแต่บริษัทพิสูจน์ได้ว่ายังมิได้มีการขายหรือส่งออกซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมนั้น

(๕) มูลค่าของปิโตรเลียมตามมาตรา ๒๒ (๓) ให้คำนวณตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมที่เกี่ยวกับการคำนวณมูลค่าปิโตรเลียมที่ส่งชำระเป็นค่าภาคหลวง

(๖) ถ้าบริษัทหนึ่งที่มีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทาน ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสำรวจปิโตรเลียมหรือการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อให้ได้มาซึ่งส่วนได้เสียนั้น แต่ค่าใช้จ่ายนั้นมิได้เสียให้แก่บริษัทอื่นที่มีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทาน ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมิให้ถือเป็นเงินได้ของบริษัทอื่นนั้น

(๗) ค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุน ให้หักได้เฉพาะตามประเภท อัตราและเงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

(๘) ค่าแรงงาน ค่าบริการ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง และรายจ่ายทำนองเดียวกันอย่างอื่นที่ใช้ในการเจาะเพื่อสำรวจหรือเพื่อผลิตปิโตรเลียม บริษัทจะถือเป็นรายจ่ายที่เป็นทุนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีรายจ่ายนั้นก็ได้

(๙) ค่ารับรอง ให้หักเป็นรายจ่ายได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

(๑๐) ราคาทรัพย์สินอื่นนอกจากสินค้า ให้ถือตามราคาทุน ถ้าราคาทุนเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเป็นเงินตราไทยเช่นเดียวกับวิธีการตาม (๑๒) ราคาทุนดังกล่าวอาจลดลงได้โดยการหักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนตาม (๗) แต่ห้ามมิให้ตีราคาลดลง ส่วนการตีราคาเพิ่มขึ้นให้กระทำได้เท่าที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร

(๑๑) ราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีจะคำนวณตามราคาทุนก็ได้ หรือจะคำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาด แล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่าก็ได้ และให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่

การคำนวณราคาทุนตามวรรคหนึ่งนั้น เมื่อได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ใดตามวิชาการบัญชีแล้ว ให้ใช้หลักเกณฑ์นั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้

(๑๒) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราที่ได้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศนั้น

ในกรณีที่มิได้มีการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเงินตราต่างประเทศ หนี้สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยในรอบระยะเวลาหนึ่งเดือนก่อนเดือนที่ได้รับมาหรือจ่ายไป โดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยรายวันที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้

(๑๓) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศเหลืออยู่ในวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยหลังสุดที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายในรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้

(๑๔) หนี้สูญจะจำหน่ายจากบัญชีได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติการโดยสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้แล้ว หนี้สูญรายใดที่ได้จำหน่ายแล้ว ถ้าได้รับชำระในภายหลังให้นำมาคำนวณเป็นรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับชำระนั้น

(๑๕) เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญ จะถือเป็นรายจ่ายได้ไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในรอบระยะเวลาบัญชีและต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้

(ก) กองทุนได้ตั้งไว้เพื่อประโยชน์แก่ลูกจ้างโดยเฉพาะ

(ข) เงินกองทุนต้องแยกไว้ต่างหากให้พ้นจากการครอบครองของบริษัท

(ค) เงินกองทุนจะนำไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้นอกจากเพื่อประโยชน์แก่กองทุนโดยเฉพาะ

(ง) เงินสมทบกองทุนต้องไม่กลับคืนมาเป็นของบริษัทอีก และ

(จ) เงินสมทบกองทุนต้องจ่ายตามข้อผูกพันที่มีระเบียบว่าด้วยกองทุนกำหนดไว้เป็นหนังสือ

 

มาตรา ๖๕ นว ในกรณีที่บริษัทมีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา ๖๕ จัตวา (๒) หรือมีหน้าที่หักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา ๔๕ สำหรับเงินได้ตามมาตรา ๖๕ เบญจ วรรคสาม ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้บริษัทได้รับเครดิตเพื่อหักออกจากภาษีดังกล่าว สำหรับปิโตรเลียมที่ผลิตได้เพื่อใช้ในราชอาณาจักรเป็นจำนวนเงินตามอัตราดังต่อไปนี้

(๑) ร้อยละ ๔.๓๗๕ ของยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียมหรือมูลค่าของปิโตรเลียมที่จำหน่ายหรือมูลค่าของปิโตรเลียมที่ส่งชำระเป็นค่าภาคหลวงตามมาตรา ๒๒ (๑) (๒) และ (๓) สำหรับปิโตรเลียมที่ผลิตจากแปลงสำรวจที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ*กำหนดว่าเป็นแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกิน ๒๐๐ เมตร

(๒) ร้อยละ ๖.๒๕ ของยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียมหรือมูลค่าของปิโตรเลียมที่จำหน่ายหรือมูลค่าของปิโตรเลียมที่ส่งชำระเป็นค่าภาคหลวงตามมาตรา ๒๒ (๑) (๒) และ (๓) สำหรับปิโตรเลียมที่ผลิตจากแปลงสำรวจนอกจาก (๑)

การนำเครดิตมาหักจากภาษีตามวรรคหนึ่ง ให้อยู่ภายใต้ข้อจำกัดดังต่อไปนี้

(๑) เครดิตที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด จะต้องมีจำนวนไม่เกินภาษีตามมาตรา ๖๕ จัตวา (๑) และ (๒) สำหรับกำไรที่ได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หรือภาษีตามมาตรา ๖๕ จัตวา (๑) และมาตรา ๖๕ เบญจ วรรคสามแล้วแต่กรณี

(๒) เครดิตที่จะนำมาหักในรอบระยะเวลาบัญชีใด จะต้องไม่เกินภาษีที่ต้องเสียตามมาตรา ๖๕ จัตวา (๒) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หรือไม่เกินภาษีที่ต้องเสียตามมาตรา ๖๕ เบญจ วรรคสาม สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ซึ่งต้องหักไว้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา ๔๕ แล้วแต่กรณี ถ้ายังมีเครดิตเหลืออยู่ ให้ยกเครดิตส่วนที่เหลือนั้นไปหักในรอบระยะเวลาบัญชีต่อๆ ไปได้

 

มาตรา ๖๕ ทศ การยื่นแบบแสดงรายการเงินได้สำหรับเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา ๖๕ จัตวา (๑) หรือมาตรา ๖๕ เบญจ ให้ยื่นภายในห้าเดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี สำหรับเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา ๖๕ จัตวา (๒) ให้ยื่นภายในเจ็ดวันนับแต่วันจำหน่าย

การยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา ๓๗ ให้ยื่นภายในเวลาที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งการไม่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ของบริษัทผู้โอนกิจการปิโตรเลียม

การยื่นแบบแสดงรายการมาตรา ๕๙ ให้ยื่นภายในเวลาที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนด

 

มาตรา ๖๕ เอกาทศ ถ้ามีภาษีต้องเสีย ให้บริษัทที่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ตามหมวด ๓ ชำระภาษีภายในห้าเดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ เว้นแต่ในกรณีการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้สำหรับภาษีที่ต้องเสียตามมาตรา ๖๕ จัตวา (๒) ให้ชำระภาษีภายในเจ็ดวันนับแต่วันจำหน่ายพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้

ในกรณีตามมาตรา ๓๕ วรรคสอง ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้มีหน้าที่ชำระภาษีร่วมกับบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศด้วย

 

มาตรา ๖๕ ทวาทศ บทบัญญัติมาตรา ๑๒ มิให้นำมาใช้บังคับแก่

(๑) เงินได้ที่บริษัทได้จากกิจการอื่นนอกจากกิจการปิโตรเลียม

(๒) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่บุคคลใดได้รับจากบริษัท

 

มาตรา ๖๕ เตรส  ในกรณีที่บริษัทมีเงินได้จากกิจการอื่นนอกจากกิจการปิโตรเลียมให้บริษัทเสียภาษีสำหรับเงินได้นั้นตามประมวลรัษฎากร

ให้บริษัทจัดทำบัญชี หลักฐาน รายงานและเอกสารอื่นที่เกี่ยวกับเงินได้จากกิจการอื่นที่กล่าวในวรรคหนึ่งแยกต่างหากจากบัญชี หลักฐาน รายงานและเอกสารอื่นที่เกี่ยวกับเงินได้จากกิจการจากปิโตรเลียม

ในกรณีที่บริษัทมีรายจ่ายซึ่งเป็นทั้งของกิจการอื่นและกิจการปิโตรเลียมรวมกันให้แบ่งเฉลี่ยรายจ่ายตามส่วนระหว่างกิจการอื่นและกิจการปิโตรเลียม

ให้บริษัทปฏิบัติตามระเบียบการจัดแบ่งเฉลี่ยรายจ่ายระหว่างกิจการต่างๆ ตามที่อธิบดีได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบแล้ว

มูลค่าของปิโตรเลียมตามมาตรา ๒๒ (๒) ซึ่งบริษัทนำไปใช้ในกิจการอื่นนอกจากกิจการปิโตรเลียมในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิตามประมวลรัษฎากรสำหรับเงินได้จากกิจการอื่นนอกจากกิจการปิโตรเลียมในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นได้

 

หมวด ๗ ตรี

บทบัญญัติเฉพาะเขตพื้นที่พัฒนาร่วม

 

 

มาตรา ๖๕ จตุทศ ความในหมวดนี้ให้ใช้บังคับแก่บริษัทซึ่งได้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วม

ให้นำบทนิยามคำว่า “ปิโตรเลียม”“กิจการปิโตรเลียม”“เงินได้”“จำหน่าย”“ค่าภาคหลวง” และ “บริษัท” ในมาตรา ๖๕ ปัณรส มาใช้แทนบทนิยามของคำเหล่านั้นในมาตรา ๔ และให้นำความในมาตรา ๖๕ โสฬส มาตรา ๖๕ สัตตรส มาตรา ๖๕ อัฏฐารส มาตรา ๖๕ เอกูนวีสติ มาตรา ๖๕ วีสติ และมาตรา ๖๕ เอกวีสติ มาใช้บังคับแทนความในมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖ ตามลำดับ สำหรับบริษัทตามวรรคหนึ่ง

มิให้นำคำนิยาม “ราคามาตรฐาน” ในมาตรา ๔ และความในมาตรา ๑๘ มาใช้บังคับกับบริษัทตามวรรคหนึ่ง

ให้นำบทบัญญัติในหมวดอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับกับบริษัทตามวรรคหนึ่งได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในหมวดนี้ และที่ใดบัญญัติถึง “ปิโตรเลียม”“กิจการปิโตรเลียม”“เงินได้”“จำหน่าย”“ค่าภาคหลวง” และ “บริษัท” ให้หมายถึง “ปิโตรเลียม”“กิจการปิโตรเลียม”“เงินได้”“จำหน่าย”“ค่าภาคหลวง” และ “บริษัท” ตามลำดับตามหมวดนี้ และที่ใดที่อ้างถึงมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖ ให้หมายถึงมาตรา ๖๕ โสฬส มาตรา ๖๕ สัตตรส มาตรา ๖๕ อัฏฐารส มาตรา ๖๕ เอกูนวีสติ มาตรา ๖๕ วีสติ และมาตรา ๖๕ เอกวีสติ ตามลำดับตามหมวดนี้

 

มาตรา ๖๕ ปัณรส ในหมวดนี้

“องค์กรร่วม” หมายความว่า องค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย ตามพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย พ.ศ. ๒๕๓๓

“พื้นที่พัฒนาร่วม” หมายความว่า “พื้นที่พัฒนาร่วมตามพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย พ.ศ. ๒๕๓๓

“ปิโตรเลียม” หมายความว่า น้ำมันดิบหรือไฮโดรคาร์บอนอื่นใด และก๊าซธรรมชาติซึ่งอยู่ในสภาพอันเป็นธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลวที่ปากหลุม รวมทั้งหินบิทูเมนและทรัพยากรอื่นที่สะสมอยู่เป็นชั้นๆ ซึ่งสามารถจะสกัดน้ำมันออกมาได้

“กิจการปิโตรเลียม” หมายความว่า กิจการปิโตรเลียมตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต และให้หมายความรวมถึงการโอนทรัพย์สินหรือสิทธิใดๆ ทั้งหมด หรือบางส่วนที่เกี่ยวกับกิจการดังกล่าวไม่ว่าการโอนนั้นจะเป็นปกติธุระหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งกิจการใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการหรือการโอนดังกล่าวด้วย

“เงินได้” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาอันอาจคำนวณได้เป็นเงินและหมายความรวมถึงภาษีอากรที่มีผู้อื่นออกแทนให้

“จำหน่าย” หมายความว่า ส่งน้ำมันดิบส่วนที่เป็นของบริษัทไปยังโรงกลั่นน้ำมันหรือสถานที่เก็บรักษาเพื่อการกลั่นน้ำมันของบริษัท ส่งก๊าซธรรมชาติไปยังโรงแยกก๊าซ โรงทำก๊าซให้เป็นของเหลว โรงอัดก๊าซ หรือสถานที่เก็บรักษาเพื่อกิจการดังกล่าวของบริษัท นำปิโตรเลียมส่วนที่เป็นของบริษัทไปใช้ในกิจการใดๆ ของบริษัท โดยไม่มีการขาย หรือโอนปิโตรเลียมส่วนที่เป็นของบริษัทโดยไม่มีค่าตอบแทน

“ค่าภาคหลวง” หมายความว่า ค่าภาคหลวงที่บริษัทต้องชำระให้แก่องค์กรร่วมตามพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย พ.ศ. ๒๕๓๓

“บริษัท” หมายความว่า ผู้ได้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตหรือมีส่วนได้เสียร่วมกันในสัญญาแบ่งปันผลผลิตที่ทำกับองค์กรร่วมไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม

“สัญญาแบ่งปันผลผลิต” หมายความว่า สัญญาแบ่งปันผลผลิตที่ออกตามพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย พ.ศ. ๒๕๓๓

 

มาตรา ๖๕ โสฬส บริษัทมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีในอัตราดังต่อไปนี้ของกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการปิโตรเลียม

รอบระยะเวลาบัญชีแรกถึงรอบระยะเวลาบัญชีที่แปด ร้อยละ ๐

รอบระยะเวลาบัญชีที่เก้าถึงรอบระยะเวลาบัญชีที่สิบห้า ร้อยละ ๑๐

รอบระยะเวลาบัญชีที่สิบหกเป็นต้นไป ร้อยละ ๒๐

 

มาตรา ๖๕ สัตตรส ในกรณีที่มีการโอนกิจการปิโตรเลียม ถ้าบริษัทผู้รับโอนจ่ายเงินได้ที่เป็นเงินค่าสิทธิ เงินปี หรือเงินได้ประจำเนื่องจากการโอนนั้น โดยเงินดังกล่าวไม่อาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน ให้บุคคลซึ่งได้รับเงินได้นั้นมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในอัตราดังต่อไปนี้ของเงินได้หลังจากหักต้นทุนตามมาตรา ๓๓ แล้ว

ในกรณีที่มีการโอนในรอบระยะเวลาบัญชีแรกถึงรอบระยะเวลาบัญชีที่แปด ร้อยละ ๐

ในกรณีที่มีการโอนในรอบระยะเวลาบัญชีที่เก้าถึงรอบระยะเวลาบัญชีที่สิบห้า ร้อยละ ๑๐

ในกรณีที่มีการโอนในรอบระยะเวลาบัญชีที่สิบหกเป็นต้นไป ร้อยละ ๒๐

 

มาตรา ๖๕ อัฏฐารส การคำนวณกำไรสุทธิ ให้นำเอาจำนวนดังต่อไปนี้มารวมเป็นรายได้

(๑) ยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียม

(๒) มูลค่าของปิโตรเลียมที่จำหน่าย

(๓) ยอดเงินได้เนื่องจากการโอนทรัพย์สินหรือสิทธิใดๆ อันเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมซึ่งอาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน

(๔) ยอดเงินได้อื่นใดที่ได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม

 

มาตรา ๖๕ เอกูนวีสติ ภายใต้บังคับมาตรา ๖๕ วีสติ และมาตรา ๖๕ เอกวีสติ รายจ่ายตามปกติและจำเป็นให้จำกัดอยู่เฉพาะแต่รายจ่ายที่บริษัทสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นในจำนวนไม่เกินสมควร และได้จ่ายไปทั้งหมดเฉพาะในกิจการปิโตรเลียม ไม่ว่าจะจ่ายในหรือนอกราชอาณาจักรและภายในข้อจำกัดดังกล่าวให้รวมถึง

(๑) ค่าเช่าหรือค่าตอบแทนอย่างอื่นในการเช่าทรัพย์สิน

(๒) ค่าแรงงาน ค่าบริการ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง และรายจ่ายทำนองเดียวกันอย่างอื่นที่ใช้ในการเจาะเพื่อสำรวจหรือเพื่อผลิต

(๓) ค่ารับรอง

(๔) หนี้สูญที่จำหน่ายจากบัญชี

(๕) เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญ

(๖) ค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุน

(๗) รายจ่ายของสำนักงานใหญ่เท่าที่จัดสรรได้โดยสมควรว่าเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของบริษัท

(๘) ราคาทุนของทรัพย์สินหรือสิทธิใดๆ ที่หักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนแล้ว สำหรับรายได้ตามมาตรา ๖๕ อัฏฐารส (๓)

 

มาตรา ๖๕ วีสติ  รายการที่มิให้ถือเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็น ให้รวมถึง

(๑) รายจ่ายที่เป็นทุนหรือรายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน

รายจ่ายที่เป็นทุนตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า รายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม โดยทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นมีผลต่อกิจการเป็นเวลาเกินหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี และให้หมายความรวมถึงผลขาดทุนที่เกิดขึ้นก่อนรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามมาตรา ๖๕ เอกวีสติ (๑) วรรคสอง และรายจ่ายตามปกติและจำเป็นที่จ่ายไปก่อนรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามมาตรา ๖๕ เอกวีสติ (๑) วรรคสอง ด้วย

(๒) รายจ่ายที่เป็นการส่วนตัว หรือการให้โดยเสน่หา หรือรายจ่ายที่เป็นการบริจาค

(๓) ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกัน หรือสัญญาคุ้มกันใดๆ

(๔) รายจ่ายเพื่อตอบแทนทุนหรือทรัพย์สินของบริษัท

(๕) เงินสำรองหรือเงินสมทบกองทุนใดๆ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๕ เอกูนวีสติ (๕)

(๖) ภาษีเงินได้ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มที่บริษัทต้องเสียตามพระราชบัญญัตินี้ หรือที่ต้องเสียในต่างประเทศ

(๗) รายจ่ายเพื่อกิจการหรือเพื่อประโยชน์ในการหามาซึ่งเงินได้อันไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้

(๘) รายจ่ายที่บริษัทพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ

(๙) ดอกเบี้ย

(๑๐) ค่าปรับทางอาญา

(๑๑) ค่าภาคหลวงสำหรับปิโตรเลียม ไม่ว่าจะชำระเป็นตัวเงินหรือปิโตรเลียม

 

มาตรา ๖๕ เอกวีสติ  การคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิตามหมวดนี้ ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(๑) ต้องคำนวณเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี

รอบระยะเวลาบัญชีแรก ให้เริ่มนับแต่วันที่มีการผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตเป็นครั้งแรก แต่ถ้าอธิบดีอนุมัติให้บริษัทเลิกนับแต่วันใดวันหนึ่งของเดือนเดียวกันก่อนวันที่บริษัทขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมนั้นเป็นครั้งแรกก็ให้เริ่มนับแต่วันที่บริษัทเลือก ส่วนรอบระยะเวลาบัญชีต่อๆ ไป ให้เริ่มนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีก่อน

รอบระยะเวลาบัญชีให้มีกำหนดสิบสองเดือน เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้จะมีกำหนดน้อยกว่าสิบสองเดือนก็ได้

(ก) บริษัทถือเอาวันใดวันหนึ่งเป็นวันสิ้นสุดของรอบระยะเวลาบัญชีแรก

(ข) ในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการปิโตรเลียม ให้ถือวันเลิกกิจการปิโตรเลียมเป็นวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี

(ค) บริษัทได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้เปลี่ยนวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี

ในกรณีที่บริษัทโอนสิทธิใดๆ ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตก่อนวันเริ่มรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามวรรคสอง เพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิเนื่องจากการโอนสิทธิเช่นว่านั้น ให้ถือวันโอนเป็นวันแรกและวันสิ้นสุดของรอบระยะเวลาบัญชี และในระยะเวลาตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวจนถึงวันเริ่มรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามวรรคสอง ให้ถือว่าไม่มีรอบระยะเวลาบัญชี

(๒) ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ วิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชีเพื่อคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิของบริษัท ให้เป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชีที่เหมาะสมซึ่งใช้อยู่เป็นปกติในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม

(๓) ยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียมตามมาตรา ๖๕ อัฏฐารส (๑) และมูลค่าของปิโตรเลียมที่จำหน่ายตามมาตรา ๖๕ อัฏฐารส (๒) ให้คำนวณตามราคาตลาด ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด

(๔) ถ้าบริษัทหนึ่งที่มีส่วนได้เสียร่วมกันในสัญญาแบ่งปันผลผลิตต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสำรวจปิโตรเลียมหรือการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อให้ได้มาซึ่งส่วนได้เสียนั้น แต่ถ้าค่าใช้จ่ายนั้นมิได้เสียให้แก่บริษัทอื่นที่มีส่วนได้เสียร่วมกันในสัญญาแบ่งปันผลผลิต ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมิให้ถือเป็นเงินได้ของบริษัทอื่นนั้น

(๕) ค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุน ให้หักได้เฉพาะตามประเภท อัตราและเงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

(๖) ค่าแรงงาน ค่าบริการ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง และรายจ่ายทำนองเดียวกันอย่างอื่นที่ใช้ในการเจาะเพื่อสำรวจหรือเพื่อผลิตปิโตรเลียม บริษัทจะถือเป็นรายจ่ายที่เป็นทุนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีรายจ่ายนั้นก็ได้

(๗) ค่ารับรอง ให้หักเป็นรายจ่ายตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

(๘) ราคาทรัพย์สินอื่นนอกจากสินค้า ให้ถือตามราคาทุนถ้าราคาทุนเป็นเงินตราต่างประเทศให้คำนวณเป็นเงินตราไทยเช่นเดียวกับวิธีการตาม (๑๐) ราคาทุนดังกล่าวอาจลดลงได้โดยการหักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนตาม (๕) แต่ห้ามมิให้ตีราคาลดลง ส่วนการตีราคาเพิ่มขึ้นให้กระทำได้เท่าที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร

(๙) ราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีจะคำนวณตามราคาทุนก็ได้หรือจะคำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่าก็ได้ และให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่

การคำนวณราคาทุนตามวรรคหนึ่งนั้น เมื่อได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ใดตามวิธีการบัญชีแล้ว ให้ใช้หลักเกณฑ์นั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้

(๑๐) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราที่ได้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศนั้น

ในกรณีที่มิได้มีการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเงินตราต่างประเทศ หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยในรอบระยะเวลาหนึ่งเดือนก่อนเดือนที่ได้รับมาหรือจ่ายไป โดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยรายวันที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้

(๑๑) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศเหลืออยู่ในวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยหลังสุดที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายในรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้

(๑๒) หนี้สูญจะจำหน่ายจากบัญชีได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติการโดยสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้แล้ว หนี้สูญรายใดที่ได้จำหน่ายแล้ว ถ้าได้รับชำระในภายหลัง ให้นำมาคำนวณเป็นรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับชำระนั้น

(๑๓) เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญจะถือเป็นรายจ่ายได้ไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในรอบระยะเวลาบัญชี และต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

(ก) กองทุนได้ตั้งไว้เพื่อประโยชน์แก่ลูกจ้างโดยเฉพาะ

(ข) เงินกองทุนต้องแยกไว้ต่างหากให้พ้นจากการครอบครองของบริษัท

(ค) เงินกองทุนจะนำไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ นอกจากเพื่อประโยชน์แก่กองทุนโดยเฉพาะ

(ง) เงินสมทบกองทุนต้องไม่กลับคืนมาเป็นของบริษัทอีก และ

(จ) เงินสมทบกองทุนต้องจ่ายตามข้อผูกพันที่มีระเบียบว่าด้วยกองทุนกำหนดไว้เป็นหนังสือ

(๑๔) ในกรณีที่บริษัทเป็นผู้ได้รับสัมปทานสำหรับแปลงสำรวจซึ่งอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๑ ด้วย ให้บริษัทดังกล่าวคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิสำหรับแปลงสำรวจที่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติดังกล่าว และแปลงสำรวจที่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๑ เสมือนหนึ่งเป็นบริษัทแยกต่างหากจากกัน

การคำนวณรายได้และรายจ่ายสำหรับแปลงสำรวจตามวรรคหนึ่ง ถ้ารายได้และรายจ่ายรายการใดไม่สามารถแยกกันได้โดยชัดแจ้ง ให้เฉลี่ยรายได้และรายจ่ายตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

หมวด ๘

บทกำหนดโทษ

 

 

มาตรา ๖๖ ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ นำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง หรือกระทำการใดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปีและปรับตั้งแต่สามพันบาทถึงสองแสนบาท

 

มาตรา ๖๗ ผู้ใดไม่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ หรือแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียหรือการนำส่งภาษี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๖๘ ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกหรือขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามมาตรา ๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๖๙ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีตามมาตรา ๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๗๐ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีหรือเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา ๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๗๑ เจ้าพนักงานผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๗๒ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับตามมาตรา ๑๖ (๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๗๓ ผู้ใดไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งตนมีหน้าที่หักตามมาตรา ๔๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

 

มาตรา ๗๔ ผู้ใดมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย หักภาษีไว้แล้วละเลยไม่นำส่งตามหมวด ๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๗๕ ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควรไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินที่ออกตามมาตรา ๕๘ หรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจไต่สวน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๗๖ ในกรณีที่บริษัทใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้จัดการ กรรมการบริษัท หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษสำหรับความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดดังกล่าว

 

มาตรา ๗๗ ความผิดตามมาตรา ๖๗ ถึงมาตรา ๗๐ และมาตรา ๗๒ ถึงมาตรา ๗๖ ถ้าอธิบดีเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรต้องรับโทษถึงจำคุก ให้มีอำนาจเปรียบเทียบกำหนดค่าปรับได้ เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่อธิบดีกำหนดภายในสามสิบวัน คดีนั้นเป็นอันเสร็จเด็ดขาด

ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องต่อไป

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ถนอม กิตติขจร

นายกรัฐมนตรี

 

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะเก็บภาษีเงินได้จากผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมตามอัตราและโดยวิธีการพิเศษต่างหากจากภาษีเงินได้ที่เก็บตามประมวลรัษฎากร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการสำรวจปิโตรเลียมในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตรสมควรกำหนดส่วนลดเพื่อคำนวณราคามาตรฐานให้แก่ผู้รับสัมปทานที่ผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตร และกำหนดการนับระยะเวลาในกรณีที่มีการขยายอายุสัมปทานในส่วนที่เกี่ยวกับการผลิตปิโตรเลียมเสียใหม่ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น

 

พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้กำหนดหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้ไว้แตกต่างกับประมวลรัษฎากร ซึ่งทำให้บริษัทที่ได้ทำสัญญาปิโตรเลียมไว้ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๒ และได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับองค์การก๊าซธรรมชาติก่อนปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ไม่อาจนำภาษีเงินได้ที่ได้ชำระในประเทศไทยตามกฎหมายดังกล่าวไปเป็นเครดิตหักออกจากภาษีเงินได้ที่ต้องชำระในต่างประเทศได้และจำต้องเสียภาษีเงินได้ในต่างประเทศซ้อนอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น เพื่อให้หลักการจัดเก็บภาษีเงินได้มีความอ่อนตัวและสามารถใช้บังคับในแต่ละกรณีได้อย่างเหมาะสมและเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

 

พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๒

 

มาตรา ๑๔ บรรดาบทบัญญัติทั้งหลายแห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ไม่ใช้บังคับแก่บริษัทที่ได้รับสัมปทานสำหรับสัมปทานที่ได้ออกให้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ยังคงใช้บังคับต่อไปสำหรับบริษัทดังกล่าวทั้งนี้ เว้นแต่บริษัทนั้นจะได้ยื่นขอและได้รับความยินยอมจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตามความในมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๒ ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๒ มาใช้บังคับแก่สัมปทานของตน

 

มาตรา ๑๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมตัดสินใจลงทุนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย ประกอบกับในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรให้ผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ทุกครึ่งปีเพิ่มขึ้นด้วย สมควรปรับปรุงบทบัญญัติของพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๑

 

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นต้นไป

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้บัญญัติให้จัดตั้งองค์กรร่วมไทย - มาเลเซียขึ้นเพื่อดำเนินการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลรวมทั้งปิโตรเลียมด้วย จึงสมควรกำหนดอัตราและหลักเกณฑ์ในการคำนวณภาษีเงินได้ปิโตรเลียมให้สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินกิจการขององค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย และเป็นไปตามความตกลงว่าด้วยธรรมนูญและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดตั้งองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

*พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕

 

มาตรา ๘๔ ในพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ให้แก้ไขคำว่า “กรมทรัพยากรธรณี” เป็น “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ”

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่างๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องตรา

พระราชกฤษฎีกา นี้

 

พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๐

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมโดยกำหนดให้ผู้รับสัมปทานขอขยายอายุสัมปทานได้เพราะเหตุซึ่งมิใช่ความผิดของผู้รับสัมปทาน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมในเรื่องการกำหนดส่วนลดเพื่อประโยชน์ในการคำนวณราคามาตรฐานให้สอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 
ป้ายโฆษณา

รับต่อเติมบ้าน

รับติดตั้งจานดาวเที่ยม กล้องวงจรปิด

รับว่าความทั่วราชอาณาจักร

เนื้อโคขุนโพนยางคำ

Login Form


Polls

ปกติใช้คอมพิวเตอร์ for ?
 

Who's Online

เรามี 1 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

Counter

จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 2529643

RSS