กฎหมายของผู้ขายสินค้า

1. ผู้ขายสินค้ามีหน้าที่และความรับผิด คือต้องส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อตามข้อตกลงในสัญญา และเมื่อมีการส่งมอบสำเร็จแล้ว โดยทรัพย์สินไปอยู่ในเงื้อมมือของผู้ซื้อ แล้วผู้ซื้อต้องชำระราคาตามข้อตกลงในสัญญา

2. คู่สัญญาต้องรับผิดตามเงื่อนไขที่ตกลงกันในสัญญา กล่าวคือ เมื่อสัญญาซื้อขายมีข้อตกลงว่าจะไม่รับคืนสินค้า มีผลผูกพันผู้ซื้อจะต้องปฏิบัติตาม เนื่องจากข้อสัญญาไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ลูกค้าซึ่งเป็นผู้ซื้อจึงไม่สามารถคืนสินค้าได้และต้องชำระราคาให้กับผู้ขาย

3. การที่ผู้ซื้อคืนสินค้า และไม่ยอมชำระค่าสินค้าจึงเป็นการผิดนัดและผิดสัญญาซื้อขาย ผู้ขายมีสิทธิฟ้องร้องเรียกราคาสินค้า และดอกเบี้ยตามกฎหมายตามที่ตกลงกัน

4. การยึดหน่วงราคา ผู้ซื้อจะไม่ชำระราคาหรือยึดหน่วงราคาที่ยังมิได้ชำระ ต้องเป็นกรณีผู้ขายส่งของไม่เป็นไปตามข้อตกลงหรือชำรุดบกพร่อง เท่านั้น

5. การคืนสินค้า จะทำได้ในกรณีที่ผู้ขายสินค้าส่งมอบสินค้าไม่เป็นไปตามข้อตกลง หรือสินค้าชำรุดบกพร่องไม่สามารถใช้งานได้ สินค้าอันตราย สินค้าที่ไม่มีมาตรฐาน สินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามกฎหมายเท่านั้น

6. สัญญาที่เป็นการเอาเปรียบและเป็นการเพิ่มภาระเกินควรให้กับคู่สัญญา คู่สัญญามีสิทธิร้องต่อศาล เพื่อขอให้ยกเลิกข้อสัญญาได้ หรือคู่สัญญาอาจร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ช่วยดำเนินการกำหนดให้สัญญาที่ทำกับโมเดิร์นเทรด เป็นสัญญาที่ควบคุมก็ได้ เหมือนสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 461 ผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งขายนั้นให้แก่ผู้ซื้อ

มาตรา 462 การส่งมอบนั้นจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้สุดแต่ว่าเป็นผลให้ทรัพย์สินนั้นไปอยู่ในเงื้อมมือของผู้ซื้อ

มาตรา 486 ผู้ซื้อจำต้องรับมอบทรัพย์สินที่ตนได้รับซื้อและใช้ราคาตามข้อสัญญาซื้อขาย

มาตรา 488 ถ้าผู้ซื้อพบเห็นความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินซึ่งตนได้รับซื้อ ผู้ซื้อชอบที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระไว้ได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เว้นแต่ผู้ขายจะหาประกันที่สมควรให้ได้